โควิด-19 ทำเงินเฟ้อเม.ย.63  หดตัวสุดในรอบ 10 ปี 9 เดือน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรือ อัตราเงินเฟ้อ เดือนเมษายน 2563 ลดลง 2.99 % ซึ่งถือเป็นการหดตัวรุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี 9 เดือน เนื่องมาจากราคาน้ำมันลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนกว่า 30 % รวมถึงการระบาดของโควิด-19 กระทรวงพาณิชย์ ยืนยัน ไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด

อัปเดตข่าว สถานการณ์ โควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุด 5 พ.ค. 63

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปหรือ เงินเฟ้อเดือน เมษายน 2563 ลดลง 2.99 % จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ถือว่าเป็นการหดตัวที่รุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี 9 เดือน สาเหตุสำคัญมาจากการระบาดของโรคโควิด -19 ที่ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง กดราคาน้ำมันลดลง 30.85 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ประกอบกับเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลออกนโยบายลด ค่าไฟฟ้า น้ำประปา และแก๊สหุงต้ม ส่วนประเด็นเรื่องกำลังซื้อที่ลดลง ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า อธิบายว่า ขณะนี้รายการอาหารบางประเภทยังคงสูงขึ้น แต่หากจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดสินค้าส่วนใหญ่จะต้องราคาลดลง และต้องมีภาวะเงินเฟ้อติดลบ เป็นเวลา 3 เดือนขึ้นไป ขณะนี้จึงมองว่าขณะนี้ประเทศไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะ เงินฝืด

ส่วนการคาดการณ์เงินเฟ้อในไตรมาสที่ 2 คาดมีโอกาสจะติดลบ 2.28 % โดย กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2563 อยู่ที่ ติดลบ 0.2 % ถึง ติดลบ 1% แต่อาจมีการทบทวนกรอบการคาดการณ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์อีกครั้ง

ขณะที่มีรายงานว่า อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย มีแนวโน้มปลดคนงานจำนวนมากหลายหมื่นคน จากผลกระทบโควิด-19 ทำให้ธุรกิจต้องหยุดชะงัก ซึ่งธุรกิจนี้ผู้ประกอบการในประเทศกว่า 11,800 ราย ที่ส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี มีการจ้างงานกว่า 1 ล้านคน

นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ หรือ จีไอที ยอมรับว่า ปัญหาของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับขณะนี้คือ ผู้ประกอบการส่งออกสินค้าไม่ได้ การถูกยกเลิกคำสั่งซื้อสินค้า รวมถึงหน้าร้านไม่สามารถจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับให้แก่นักท่องเที่ยว ล่าสุดจีไอที และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จะเร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยการนำอัญมณีที่มีค่ามาเป็น หลักประกันทางธุรกิจใช้กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจมาเป็นกลไกสำคัญในารเชื่อมต่อระหว่างผู้ประกอบการและสถาบันการเงิน แต่ยังต้องรับฟังความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงผลดี-ผลเสียก่อน โดยเฉพาะ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เนื่องจากสามารถนำหลักประกันนี้เข้ามาช่วยเป็นหลักประกันได้ ก็จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำเงินทุนไปฟื้นธุรกิจ ทำให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ที่สำคัญจะช่วยลดปัญหาการเลิกจ้างงานด้วย

อัปเดตข่าว สถานการณ์ โควิด-19 (COVID-19) ล่าสุด 5 พ.ค. 63 พบผู้ป่วยเพิ่ม 1 ราย

 

 

 

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ