กลุ่มเด็กหญิงชาวอัฟกานิสถานทำเครื่องช่วยหายใจจากชิ้นส่วนรถยนต์


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ทีมพัฒนาหุ่นยนต์ของเด็กหญิงในอัฟกานิสถานให้ความสำคัญกับผู้ป่วยโรคโควิด-19 โดยการสร้างเครื่องช่วยหายใจราคาไม่แพงจากชิ้นส่วนรถยนต์

อัฟกานิสถานเป็นประเทศที่ภาวะสงครามต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี ทำให้เครื่องช่วยหายใจในประเทศมีจำกัด เพียงราว 400 เครื่องเท่านั้น ขณะที่ประชากรทั้งประเทศมีถึง 38.9 ล้านคน

อัปเดตข่าว สถานการณ์ โควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุด 22 พ.ค. 63

อัปเดตข่าวสถานการณ์ โควิด-19 (COVID-19) ล่าสุด 22 พ.ค. 63

ปัจจุบัน อัฟกานิสถานเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้ป่วยโควิด-19 มากกว่า 7,650 ราย เสียชีวิต 178 ราย แต่ทางการกลัวว่าสถานการณ์อาจจะเลวร้ายลง และทำให้ระบบการดูแลสุขภาพที่เปราะบางอยู่แล้วแย่ลงไปอีก

นาฮิด ราฮีมี (Nahid Rahimi) สมาชิกทีม “Afghan Dreamers” อายุ 17 ปี บอกว่า “เราสามารถช่วยชีวิตคนได้จากความพยายามของเรา”

วัยรุ่นกลุ่มนี้เคยเป็นข่าวดังระดับโลกมาแล้วในปี 2017 เมื่อพวกเธอได้รับรางวัลพิเศษในการแข่งขันระดับนานาชาติในสหรัฐอเมริกา และตอนนี้พวกเธอก็กำลังแข่งกับเวลาเพื่อผลิตเครื่องช่วยหายใจให้ได้มากที่สุดก่อนปลายเดือนพฤษภาคม

กลุ่มเด็กหญิงเหล่านี้มาจากเมืองเฮรัต (Herat) ทางตะวันตกของประเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่แรกที่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของอัฟกานิสถาน และเป็นจุดฮอตสปอตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศ เนื่องจากอยู่ใกล้กับอิหร่านซึ่งเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของภูมิภาคตะวันออกกลาง

อิหร่านเผยบุคลากรการแพทย์ติดโควิด-19 ร่วมหมื่นราย

สมาชิกในทีมมีอายุระหว่าง 14-17 ปี พวกเธอได้สร้างต้นแบบเครื่องช่วยหายใจโดยใช้มอเตอร์จากรถยนต์โตโยต้าที่ใช้แล้วและโซ่จากรถจักรยานยนต์ฮอนด้า พวกเธอกล่าวว่า เครื่องช่วยหายใจจะช่วยบรรเทาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจชั่วคราวในกรณีฉุกเฉินเมื่อไม่มีเครื่องช่วยหายใจมาตรฐาน

โซมายา ฟารูคี (Somaya Faruqi) กัปตันทีม Afghan Dreamers กล่าวว่า “ฉันรู้สึกภูมิใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมที่พยายามทำสิ่งที่มีความหมายเพื่อสนับสนุนแพทย์และพยาบาลของเรา พวกเขาเป็นวีรบุรุษของเราในเวลานี้”

ปัญหาการขาดแคลนเครื่องช่วยหายใจเป็นปัญหาระดับโลก และราคาในตลาดโลกก็มีมูลค่าสูงถึง 30,000 ดอลลาร์ (ราว 9.5 แสนบาท) ถึง 50,000 ดอลลาร์ (ราว 1.6 ล้านบาท) นั่นหมายความว่าประเทศยากจนจำนวนมากไม่สามารถหาซื้อได้

แต่วัยรุ่นกลุ่มนี้บอกว่า พวกเขากำลังสร้างเครื่องช่วยหายใจที่มีราคาน้อยกว่า 600 ดอลลาร์ (ราว 20,000 บาท)

สหรัฐฯ หวังได้วัคซีนโควิด-19 จากบริษัทยาอังกฤษ ต.ค.นี้

แต่การปิดร้านค้า และเมืองภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ ทำให้พวกเธอพบกับอุปสรรค เพราะต้องเดินทางออกนอกพื้นที่ไปหาวัตถุดิบเพิ่มเติม แต่ผู้ก่อตั้งทีม โรยา มาห์บูบ (Roya Mahboob) ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ประกอบการ ติดอันดับ 1 ใน 100 บุคคลที่มีอิทธิพลมากที่สุดในโลกของนิตยสารไทม์ กล่าวว่า ทีมของเธอยังมีความหวังที่จะผลิตเครื่องช่วยหายใจจำนวนมากได้ภายในสิ้นเดือนพฤษภาคม

“การผลิตเครื่องช่วยหายใจสำเร็จไปแล้วประมาณ 70% สิ่งเดียวที่เราขาดคือเซ็นเซอร์ตรวจจับอากาศ ซึ่งเรากำลังพยายามตามหาชิ้นส่วนมากกว่าจะสร้างขึ้นมาเองเพราะต้องใช้เวลา การทดสอบในระยะแรกเสร็จสมบูรณ์แล้ว และได้รับการทดสอบในโรงพยาบาล ทีมกำลังทดสอบในระยะที่ 2 ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นแล้วก็สามารถนำออกสู่ตลาดได้”

ด้วยอัตราการรู้หนังสือของผู้หญิงที่น้อยกว่า 30% ในประเทศอัฟกานิสถาน วัยรุ่นกลุ่มนี้หวังว่าโครงการของพวกเธอจะสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กสาวคนอื่น และเปลี่ยนภาพการรับรู้ของผู้หญิงในอุตสาหกรรมวิศวกรรม ซึ่งคนมักมองว่า มีแต่ผู้ชายมีเป็นวิศวกรได้

ด้านกระทรวงสาธารณสุขอัฟกานิสถานก็ให้การสนับสนุนโครงการนี้เต็มที่เช่นกัน กระนั้นก็ต้องมีการทดสอบจนกว่าจะมั่นใจในประสิทธิภาพและความปลอดภัยเสียก่อน จึงจะนำมาใช้งานจริงในระบบสาธารณสุขอัฟกานิสถาน

การระบาดครั้งใหม่ของโควิด-19 ในจีนแสดงสัญญาณว่าไวรัสกำลังเปลี่ยนไป

เรียบเรียงจาก BBC

ภาพจาก BBC

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ