UTA เดินหน้าลงทุนสร้าง “เมืองการบินภาคตะวันออก”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA ประกาศความพร้อมเดินหน้าลงทุนพัฒนาโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ย้ำเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง

บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA  ผู้ได้รับสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก สัมปทาน 50 ปี โดยมี บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด  (มหาชน) , บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมลงทุน โดยเสนอผลประโยชน์ ด้านการเงินแก่รัฐ 305,555 ล้านบาท ได้แถลงข่าวร่วมกันหลังจากได้มีการลงนามสัญญากับ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ไปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563

UTA เดินหน้าลงทุนอู่ตะเภา สู่ “ศูนย์กลางการบินภูมิภาค”

นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ที่ปรึกษาประธานคณะผู้บริหาร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เป้าหมายโครงการคือพัฒนาให้สนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 ของกรุงเทพฯ เป็นศูนย์อุตสาหกรรมโลจิสติกส์และการบินของอีอีซี และเป็นศูนย์กลางของเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งที่ตั้งของสนามบินอู่ตะเภาเป็นจุดที่ได้เปรียบ ในการเชื่อมโยงและรองรับการเดินทาง จากภาคอีสานตอนล่างและภาคตะวันออก ทั้งทางบก ทางน้ำ ส่วนทางอากาศ และเชื่อมต่อกับต่างประเทศ ได้สะดวกและเร็วกว่า เข้าไปยังสุวรรณภูมิและดอนเมือง

ขณะที่ บริษัท การบินกรุงเทพ มีประสบการณ์ด้านการบินมากว่า 50 ปี เป็นผู้ลงทุนก่อสร้างและบริหารสนามบินในประเทศ 3 แห่ง (สมุย สุโขทัย ตราด) ซึ่งที่ผ่านมา การทำสนามบินโดยเอกชนมีความยากลำบาก แต่โครงการนี้ภาครัฐสนับสนุน ดังนั้นเอกชนดูเรื่องการบริหารและการเงิน จึงเชื่อว่า ความเชี่ยวชาญแต่ละด้านของผู้ร่วมทุนจะทำให้โครงการประสบความสำเร็จแน่นอน

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ย้ำว่า มีความเชื่อมั่นในพันธมิตร ดังนั้นจึงมั่นใจว่า ผลตอบแทนให้รัฐวงเงินกว่า 3 แสนล้านบาท เป็นราคาที่ถูกต้องแน่นอน

ขณะที่ นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เงินที่ใช้ในการลงทุนโครงการ นอกจากเงินกู้สถาบันการเงินแล้ว การระดมทุนรูปแบบอื่นในอนาคตทั้งการนำบริษัทร่วมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (IFF) ก็อยู่ในแผน ส่วนความกังวลที่หลายฝ่ายมองว่าวิกฤติโควิดจะส่งผลกระทบต่อโครงการหรือไม่นั้น ยืนยันว่าไม่กระทบ เพราะการดำเนินการต้องใช้เวลานาน ถึงเวลานั้นโควิด-19 อาจจบไปแล้ว

ทั้งนี้ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด  ได้จัดทำแผนการพัฒนาโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ใช้งบ 186,566 ล้านบาท ในจำนวนนี้รวมงบซ่อมบำรุงตลอดสัญญา 50 ปี  61,849 ล้านบาท  แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ประกอบด้วย

“นพ.ปราเสริฐ” มั่นใจศักยภาพ “อู่ตะเภา – เมืองการบิน”

 ระยะที่ 1 มีอาคารผู้โดยสารขนาดพื้นที่กว่า 157,000 ตารางเมตร พื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ อาคารจอดรถ ศูนย์ขนส่งภาคพื้นดิน และหลุมจอดอากาศยาน 60 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. 2567 สามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 15.9 ล้านคนต่อปี

ระยะที่ 2 อาคารผู้โดยสารมีพื้นที่เพิ่มขึ้นกว่า 107,000 ตารางเมตร พร้อมทั้งติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) และระบบทางเดินเลื่อน รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 16 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ.2573 โดยประมาณการว่า จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด30 ล้านคนต่อปี

ระยะที่ 3 เป็นการต่อขยายอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติมจากระยะที่ 2 กว่า 107,000 ตารางเมตร เพิ่มจำนวนรถขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) อีก 1 ขบวน รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 34 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. 2585 ประมาณการรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 45 ล้านคนต่อปี

ระยะที่ 4 หรือระยะสุดท้าย มีพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังที่สองเพิ่มขึ้นกว่า 82,000 ตารางเมตร พร้อมทั้งติดตั้งระบบ Check-in แบบอัตโนมัติ รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 14 หลุมจอด ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. 2598 ประมาณการรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 60 ล้านคนต่อปี

อีอีซี-บีบีเอส ลงนามสัญญาร่วมลงทุน “เมืองการบินภาคตะวันออก”

อีอีซี-บีบีเอส ลงนามร่วมลงทุน ลุยพัฒนา “อู่ตะเภา-เมืองการบินภาคตะวันออก”

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ