มาตรการรถไฟฟ้ารับมือเปิดเทอม 1 ก.ค. 63 นั่งติดได้-งดพูดคุยในขบวน-เช็กอิน "ไทยชนะ"


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กรมการขนส่งทางราง BTS MRT และรฟม. ปรับมาตรการการโดยสารรถไฟฟ้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในช่วงเปิดเทอม 1/2563

นายสรพงศ์  ไพฑูรย์พงษ์  อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (อขร.) กล่าวว่า จากกรณีที่มีการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้ปรับระดับมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระบบขนส่งทางราง ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ช่วงเปิดภาคการศึกษาของเด็กนักเรียน ที่จะส่งผลให้จำนวนผู้ใช้บริการระบบขนส่งทางรางมีความแออัดขึ้น

อัปเดตข่าว สถานการณ์ โควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุด 1 ก.ค. 63

คลายล็อก รถไฟฟ้า-รถเมล์ มาด้วยกันนั่งติดกันได้ เริ่ม 1 ก.ค.นี้

ขร.จึงได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติสำหรับหน่วยงานผู้ให้บริการระบบขนส่งทางราง และผู้โดยสาร ดังต่อไปนี้

แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ให้บริการระบบขนส่งทางราง

1. เข้มงวดการทำความสะอาดจุดสัมผัส เหรียญโดยสาร ฆ่าเชื้อโรคภายในสถานี ขบวนรถ และระบบปรับอากาศ รวมทั้งให้มีการตรวจสอบการปนเปื้อนเชื้อโรคภายในสถานีและในขบวนรถ

2. เพิ่มความถี่สูงสุดในการดูแลรักษาความสะอาดของระบบระบายอากาศและระบบปรับอากาศของขบวนรถให้มีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดเชื้อ

3. ให้มีจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ เพื่อให้บริการผู้โดยสารใช้ก่อนและหลังจากใช้ระบบ และจัดสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ภายในห้องน้ำ

4. คัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิผู้โดยสารก่อนเข้าใช้บริการ หากมีไข้สูงเกิน 37.5 องศาเซลเซียส และมีความจำเป็นต้องเดินทาง ต้องมีมาตรการรองรับในการให้บริการ ดังนี้

4.1 บันทึกข้อมูลผู้โดยสาร เผื่อการสอบสวนโรค

4.2 ให้มีเจ้าหน้าที่กำกับดูแลการเดินทางจากสถานีต้นทางไปยังปลายทาง

4.3 จัดที่นั่งสำหรับผู้โดยสารที่ต้องดูแลพิเศษ (Passenger requiring special care) จำนวน 3 ที่นั่งต่อขบวนรถ โดยมีการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคภายในขบวนรถตามที่สาธารณสุขกำหนด

5. คัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการก่อนปฏิบัติงาน จัดอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อสำหรับเจ้าหน้าที่ และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ราชการกำหนดโดยเคร่งครัด พร้อมทั้งให้มีการอบรมข้อพึงปฏิบัติในการทำงานเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค

6. กำกับดูแลให้มีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลภายในสถานีตามที่ราชการกำหนด และไม่ให้เกิดความแออัดของผู้ใช้บริการเป็นเวลานานอันเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดเชื้อ

7. บริหารจัดการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารให้เพียงพอสอดคล้องกับปริมาณความต้องการเดินทางในแต่ละวัน โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าและเย็น พร้อมทั้งควบคุมความหนาแน่นของผู้โดยสารภายในขบวนรถ ไม่ให้เกินร้อยละ 70 ของความจุสูงสุดของผู้โดยสาร และมีระยะห่างระหว่างบุคคลภายในขบวนรถอย่างน้อย 1 ฟุต

8. จัดทิศทางในการยืนของผู้โดยสารภายในขบวนรถไม่ให้หันหน้าเข้าหากัน เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

9. กำกับดูแลให้ผู้โดยสารปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด โดยให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาที่ใช้บริการทั้งภายในสถานีและในขบวนรถ งดการสนทนาและงดใช้โทรศัพท์สนทนาภายในขบวนรถ ให้ผู้โดยสารใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือทั้งก่อนและหลังใช้บริการ

10. จัดให้มีการใช้แอปพลิเคชั่น “ไทยชนะ” หรือแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” ภายในระบบขนส่งทางรางทั้งภายในสถานีและขบวนรถ และขอความร่วมมือผู้โดยสารให้ใช้ไทยชนะเพื่อประโยชน์ในการสอบสวนโรค กรณีผู้โดยสารไม่สามารถใช้แอปพลิเคชั่น “ไทยชนะ” หรือแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” ได้ ควรมีการบันทึกข้อมูลในรูปแบบอื่นที่เหมาะสม

11. กำหนดให้มีผู้บริหารจัดการด้านความปลอดภัย (Safety Manager) รายสายทางเพื่อประสานงานอย่างใกล้ชิดกับผู้แทนกรมการขนส่งทางรางที่ได้รับมอบหมาย ในการทำหน้าที่กำกับดูแลด้านความปลอดภัย การบริการ และการปฏิบัติตามมาตรการที่ราชการกำหนด

12. ประชาสัมพันธ์ แนะนำข้อพึงปฏิบัติในการใช้บริการสำหรับผู้โดยสารเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรค ทั้งภายในสถานีและขบวนรถ

แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้โดยสาร

1. สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาที่ใช้บริการภายในสถานีและขบวนรถ

2. งดการสนทนาหรือใช้โทรศัพท์ในการสนทนาขณะอยู่ภายในขบวนรถ

3. ห้ามไม่ให้ยืนหันหน้าเข้าหากันในขบวนรถ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

4. ใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือก่อนและหลังการใช้บริการระบบขนส่งทางราง

5. หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสปาก ตา และจมูก ซึ่งเป็นช่องทางการติดเชื้อโรคได้

6. ขอความร่วมมือใช้แอปพลิเคชั่น “ไทยชนะ” หรือแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” หรือบันทึกข้อมูลในรูปแบบอื่นที่ผู้ให้บริการระบบขนส่งทางรางกำหนด เพื่อประโยชน์ในการสอบสวนโรค

7. หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อร้องเรียนสามารถเสนอแนะให้ข้อคิดเห็นหรือร้องเรียนด้านบริการมายังกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม ผ่านทางออนไลน์ Facebook: กรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม

ด้านนายสุรพงษ์  เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้เตรียมความพร้อมด้านการให้บริการในช่วงเปิดภาคเรียน ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสเพิ่มมากขึ้น และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร  บริษัทฯ ได้เน้นย้ำมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามที่กรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม ได้เสนอศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ดังนี้

1. ขอยกเลิก การเว้นที่นั่ง และที่ยืนในขบวนรถไฟฟ้าบีทีเอส เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารช่วงเปิดเทอมที่เพิ่มสูงขึ้น

2. ควบคุมความหนาแน่นของผู้โดยสารที่จะเข้าสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ชั้นชานชาลา และภายในขบวนรถไฟฟ้า ไม่เกินร้อยละ 70 พร้อมทั้งจำกัดจำนวนผู้โดยสารเข้าใช้บริการเป็นกลุ่ม (Group Release) ในชั่วโมงเร่งด่วน ช่วงเวลาเช้า และช่วงเวลาเย็น

3. เน้นย้ำให้ผู้โดยสารทุกท่าน สวมหน้ากากอนามัย / หน้ากากผ้าทุกครั้ง ระหว่างการเดินทาง งดการพูดคุยภายในขบวนรถไฟฟ้า และงดคุยโทรศัพท์ในขบวนรถไฟฟ้า 100 %  พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงการหันหน้าเข้าหากันในขบวนรถไฟฟ้า

4. คัดกรองอุณหภูมิของผู้โดยสารก่อนเข้าใช้บริการในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส อุณหภูมิต้องไม่เกิน 37.5 องศาเซลเซียส และคัดกรองสุขภาพของเจ้าหน้าที่ ทุกครั้งก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่

5. จัดจุดบริการแอลกอฮอล์ ทุกทางเข้า-ออกสถานี เพิ่มความถี่ในการฉีดพ่น เช็ดทำความสะอาด  ภายในขบวนรถไฟฟ้า จุดสัมผัสร่วมภายในสถานี และบริเวณรอบสถานีด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

6. บริษัทฯ ยังคงเดินรถในความถี่สูงสุด 2 นาที 25 วินาที ในสายสุขุมวิท และในสายสีลมความถี่  3 นาที 45 วินาที ในช่วงเวลาเร่งด่วน เพื่อให้ลดปริมาณความหนาแน่นของผู้โดยสารที่มาใช้บริการ และขอให้ผู้โดยสารทุกท่านโปรดเผื่อเวลาในการใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส

7. ขอความร่วมมือผู้โดยสารทุกท่านลงทะเบียน “ไทยชนะ” เมื่อเข้า และออกจากขบวนรถไฟฟ้าขบวนนั้น ๆ ด้วยการพิมพ์หมายเลขขบวนรถไฟฟ้า 4 หลัก ลงใน Application ‘BTS SkyTrain’ หรือ Line official : @btsskytrain

ขณะที่ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ  (BEM) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า MRT และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ปรับมาตรการเว้นระยะห่างในขบวนรถไฟฟ้า รองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มสูงขึ้น ตามนโยบายของกรมการขนส่งทางราง โดยยังคงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

เพื่อให้สอดคล้องตามนโยบายของกรมการขนส่งทางราง รถไฟฟ้า MRT จึงได้ผ่อนปรนมาตรการเว้นระยะห่างในขบวนรถโดยจะควบคุมความหนาแน่นภายในขบวนรถไม่เกินร้อยละ 70 กำหนดจุดยืนเว้นระยะและหันหน้าตามทิศทางที่แนะนำภายในขบวนรถ ยกเลิกการเว้นที่นั่งโดยสามารถนั่งติดกันได้ งดการพูดคุยขณะอยู่ในขบวนรถ และผู้โดยสารต้องสแกนคิวอาร์โค้ด "ไทยชนะ" เช็กอินเมื่อเข้าขบวนรถและเช็กเอาต์ก่อนลงจากรถไฟฟ้าขบวนนั้น ๆ

นอกจากนี้ ยังคงขอความร่วมมือผู้โดยสารปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด โดยผู้โดยสารทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าก่อนเข้าสถานีและตลอดเวลาที่ใช้บริการ ตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าระบบรถไฟฟ้า โดยอุณภูมิต้องไม่เกิน 37.5 องศาเซลเซียส ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจลที่มีบริการในทุกสถานีทั้งก่อนและหลังการใช้บริการ เว้นระยะระหว่างบุคคล (Social Distancing) อย่างน้อย 1 เมตรขณะใช้บริการในสถานี

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระบบรถไฟฟ้า MRT ที่ รฟม. และ BEM ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องนั้นจะยังคงดำเนินการต่อไป อาทิ การจัดให้มีจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือภายในสถานีรถไฟฟ้า การตั้งจุดตรวจคัดกรองวัดอุณหภูมิผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าในทุกสถานีตลอดระยะเวลาการให้บริการ การเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อภายในสถานีและภายในขบวนรถไฟฟ้า การทำความสะอาดเหรียญโดยสาร การตรวจวัดอุณหภูมิของเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการในสถานี การดูแลให้อากาศหมุนเวียนภายในขบวนรถไฟฟ้า เป็นต้น

นอกจากนี้  รฟม. และ BEM ได้จัดขบวนรถเสริมในระบบรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ให้บริการในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า-เย็นในระบบอีก 9 ขบวน จากปกติจะมีขบวนรถให้บริการ 40 ขบวน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสาร ในกรณีที่สถานีรถไฟฟ้าสถานีใดมีผู้โดยสารหนาแน่นมาก จะนำขบวนรถเสริมให้บริการที่สถานีนั้นเป็นสถานีแรก โดยไม่จอดรับผู้โดยสารที่สถานีก่อนหน้า และในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563

รฟม. ยังได้ขยายระยะเวลาโปรโมชันลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง จ่ายสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ไปจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2563 เพื่อแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของประชาชน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จากอัตราปกติคือ จ่ายสูงสุด 42 บาท และสำหรับผู้ที่เดินทางเชื่อมต่อ 2 สาย ระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และสายสีน้ำเงิน จะจ่ายค่าโดยสารร่วมสูงสุดเพียง 48 บาท (เดินทางได้ถึง 53 สถานี) จากอัตราค่าโดยสารร่วมปกติคือ จ่ายสูงสุด 70 บาท เด็กอายุไม่เกิน 14 ปี ที่มีความสูงระหว่าง 91-120 ซม. และผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป   จะได้รับส่วนลดค่าโดยสาร 50% และนักเรียน/นักศึกษาที่มีอายุไม่เกิน 23 ปี จะได้รับส่วนลดค่าโดยสาร 10% เพิ่มเติมจากโปรโมชั่นดังกล่าว ทั้งนี้ขอเชิญชวนให้ผู้โดยสารใช้บัตรโดยสาร MRT และ MRT PLUS เติมเงินผ่านแอปพลิเคชัน True Money Wallet และ Krungthai Next หรือตู้ ATM ของธนาคารกรุงไทย เพื่อความสะดวกรวดเร็ว และยังช่วยลดการสัมผัสกับเงินสด ลดการติดต่อและแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ