“60 ส.ว.อิสระ” ประชุมล่มไม่เป็นท่า ทยอยถอนตัวจากกลุ่มไลน์


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หลังมีการเปิดตัวว่า ส.ว. 60 คน รวมตัวตั้งเป็นกลุ่มอิสระ เพื่อร่วมสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยให้ส.ส.และส.ว.ทำเอง ไม่ต้องตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ล่าสุดมีการนัดประชุมร่วมกัน เพื่อหารือในรายละเอียด แต่สุดท้ายประชุมล่ม เพราะมีส.ว. มารอประชุมแค่ 2 คน

60 ส.ว.ตั้งกลุ่มอิสระ สนับสนุนแก้รัฐธรรมนูญ ริบอำนาจส.ว.โหวตนายกฯ

“ปารีณา” สุดงง ไม่รู้ขาดจริยธรรมเรื่องไหน เตรียมหลักฐานแจง ป.ป.ช.

เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2563 นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม และนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ เป็น ส.ว. จำนวน 2 คน ที่เดินทางมารอประชุม กลุ่ม ส.ว.อิสระ โดยก่อนหน้านี้มีข่าวว่ารวมตัวกันได้ 60 คน และนัดประชุมกำหนดพูดคุยแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญและทิศทางการลงมติที่จะต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงเวลานัด 15.00 น. มี ส.ว.ในกลุ่มเพียง 2 คนเท่านั้น และ ส.ว.อีกเกือบ 30 คน ได้ถอนตัวออกจากกลุ่มไลน์จนเหลือสมาชิกในกลุ่มเพียง 30 กว่าคนเท่านั้น ทำให้การประชุมต้องยกเลิกไปก่อน

นายดิเรกฤทธิ์ ให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุยกเลิกการประชุม ว่า เป็นเพราะ ส.ว.ในกลุ่ม ตกใจที่เห็นสื่อมวลชนมากันมากมายขนาดนี้ จึงไม่กล้ามาประชุม หลังจากนี้อาจจะต้องใช้วิธีการหารือกันภายใน หรือ หารือผ่านกลุ่มไลน์แทน  นอกจากนี้ยังยอมรับว่าขณะนี้เสียงของ ส.ว.ยังมีความเห็นต่าง เพราะไม่ใช่องค์กรที่ถูกจัดตั้ง ทุกคนมีวุฒิภาวะ กลุ่มของเรามีความเป็นอิสระ ใครจะเข้าหรือออกจากกลุ่มก็ได้

ด้านแพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ เป็นส.ว.อีกคนที่ออกมายอมรับว่า เป็น 1 ใน 60 ส.ว.อิสระ และ ไม่ได้อยู่ในกลุ่มไลน์ดังกล่าวแล้ว แต่ไม่ได้บอกเหตุผลว่าทำไม บอกเพียงว่า กลุ่มไลน์นี้เป็นเพียงพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ซึ่งสมาชิกแต่ละคนก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไปตามสิทธิส่วนบุคคล ส่วนสาเหตุที่มาร่วมกับกลุ่มไลน์ แพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ มองว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญบางข้อสามารถทำได้เลย ไม่จำเป็นต้องตั้ง ส.ส.ร.ชี้ว่า การตั้งส.ส.ร.ทำให้ล่าช้า

ส่วนข้อเสนอการยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ ยอมรับว่า ก่อนหน้านี้ คิดว่า การร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นเรื่องที่จะช่วยให้ได้รัฐบาลที่ขับเคลื่อนประเทศ แต่เมื่อมาถึงวันนี้ทำให้รู้ว่า ส.ว.ไม่สามารถคัดกรองและเลือกรัฐบาลที่ดีได้

 

ด้านนายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา ที่มีแนวคิดต่างจากกลุ่ม 60 ส.ว. คือ มองว่าควรตั้ง ส.ส.ร.เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ ควรตัดอำนาจการเลือกนายกรัฐมนตรีของส.ว.ทิ้ง  นายวันชัย บอกว่า ตอนนี้ รวบรวมรายชื่อส.ว.ได้จำนวนหนึ่งแล้ว เชื่อว่าอีก 7-10 วัน จะบอกได้ว่า มีทั้งหมดกี่คนที่เห็นด้วย

สำหรับส่วนความเคลื่อนไหวของ ส.ส. ที่จะเดินหน้าตัดอำนาจการเลือกนายกรัฐมนตรีของส.ว. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล และ นายนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ส.อีกจำนวนหนึ่งร่วมกันแถลงยื่นญัตติเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับเรื่อง เบื้องต้นคาดว่าจะนำญัตตินี้เข้าประชุมได้ทันก่อนปิดสมัยการประชุม

ช่วงหนึ่ง นายสาทิตย์ ระบุว่า การลงชื่อร่วมญัตติกับพรรคฝ่ายค้านครั้งนี้ ทำในนาม ส.ส. ไม่ใช่มติของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นเรื่องการตัดอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯเพียงประเด็นเดียว ส่วนตัวเชื่อว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะไม่มีปัญหาอะไร เนื่องจากหัวหน้าพรรคเคยแสดงความคิดเห็นสนับสนุนการแก้ไขมาตรา 272 เช่นกัน

 

สำหรับรายชื่อ ส.ส. ที่ร่วมยื่นญัตติครั้งนี้มีทั้งหมด 99 คน แบ่งเป็น พรรคฝ่ายค้าน 5 พรรค ลงชื่อครบทุกคน ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล 54 คน  พรรคประชาชาติ  6 คน พรรคเพื่อชาติ 5 คน พรรคเสรีรวมไทย 10 คน และ พรรคพลังปวงชน 1 คน  มีเพียงพรรคเพื่อไทย และ พรรคเศรษฐกิจใหม่ เท่านั้นที่ไม่ร่วมลงชื่อ

ส่วนพรรครัฐบาล มีส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 16 คน พรรคพลังชาติไทย 1 คน คือ พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์  พรรค ไทยรักธรรม 1 คน คือ นาย พีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค  พรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 คน คือ นายสุรทิน พิจารณ์  พรรค รักษ์ผืนป่าประเทศไทย 1 คน คือ นายดำรงค์ พิเดช พรรคไทยศรีวิไลซ์ 1 คน คือ นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ พรรคภูมิใจไทย 1 คน คือ นาย สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ และ พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน คือ นาย จุลพันธ์  โนนศรีชัย

 

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ