ภายในปี 2050 วิกฤตสภาพอากาศอาจทำให้คน 1.2 พันล้านคนต้องพลัดถิ่น


โดย PPTV Online

เผยแพร่




วิกฤตสภาพภูมิอากาศโลกอาจทำให้ผู้คนมากกว่าพันล้านคนต้องอพยพออกจากบ้านในอีก 30 ปีข้างหน้า

“ทะเบียนภัยคุกคามทางนิเวศวิทยา” ซึ่งจัดทำโดยสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (IEP) ในซิดนีย์คาดการณ์ว่าจะมีผู้คนมากถึง 1.2 พันล้านคนทั่วโลกต้องพลัดถิ่นภายในปี 2050 และจะไม่มีประเทศใดสามารถรอดพ้นจากผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้ โดยประชากรที่ยากจนและเปราะบางที่สุดในโลกจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด

นาทีชีวิต ชาวบ้านหนีตาย หลังน้ำป่าซัดหมู่บ้าน

ประชากรสัตว์ป่าทั้งโลกลดลง 2 ใน 3 ในช่วงไม่ถึง 50 ปีที่ผ่านมา

รายงานดังกล่าวระบุว่า “ภัยคุกคามทางนิเวศวิทยาและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นความท้าทายที่ร้ายแรงต่อการพัฒนาและความสงบสุขของโลก ... ประเทศที่มีความยืดหยุ่นน้อยเมื่อเผชิญกับการล่มสลายของระบบนิเวศ ก็มีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาความไม่สงบ ความไม่มั่นคงทางการเมือง การกระจัดกระจายทางสังคม และการล่มสลายทางเศรษฐกิจ”

รายงานดังกล่าวได้รับข้อมูลจากองค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติ (UN) ศูนย์ตรวจสอบการเคลื่อนย้ายภายใน (IDMC) องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และต่อยอดจากการวิจัยก่อนหน้านี้ของ IEP เกี่ยวกับระดับความยืดหยุ่นของประเทศต่าง ๆ จากนั้นใช้ตัวเลขเหล่านี้คำนวณภัยคุกคามที่สัมพันธ์กันของการเติบโตของประชากร ความไม่มั่นคงทางอาหาร ภัยแล้ง ภาวะขาดแคลนน้ำ น้ำท่วม พายุ อุณหภูมิและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น

รายงานดังกล่าวจึงพบว่า มีผู้คนมากกว่าพันล้านคนอาศัยอยู่ใน 31 ประเทศที่มีความยืดหยุ่นต่ำ ซึ่งหมายความว่า พวกเขาไม่มีความพร้อมที่จะทนต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศในทศวรรษต่อ ๆ ไป

รายงานระบุว่า ภูมิภาคที่เผชิญกับภัยคุกคามมากที่สุด ได้แก่ อนุภูมิภาคซาฮาราแอฟริกา เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ

"ไม่ใช่ว่าคนในพื้นที่เหล่านี้ทั้งหมดจะพลัดถิ่น อย่างไรก็ตามมีแนวโน้มว่า “ส่วนใหญ่” ของพวกเขาจะเป็นแบบนั้น” IEP กล่าว

ประเทศที่มีแหล่งทรัพยากรที่ดีกว่า เช่น อเมริกาเหนือ และยุโรป จะสามารถจัดการผลกระทบจากภัยพิบัติได้มากกว่า แต่พวกเขาอาจต้องเผชิญกับผู้ที่ต้องอพยพจำนวนมากจากพื้นที่อื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

สตีฟ คิลเลเลีย (Steve Killelea) ผู้ก่อตั้ง IEP กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยานั้นเป็น "ภัยคุกคามระดับโลกครั้งใหญ่ต่อไปสำหรับโลกของเรา"

ปัจจุบันประชากรทั่วโลกอยู่ที่ 7.8 พันล้านคน ตัวเลขดังกล่าวคาดว่าจะสูงขึ้นไปถึง 1 หมื่นล้านคนภายในปี 2050

การวิจัยขององค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรระดับโลก World Resource Institute รายงานคาดการณ์ว่า ภายในปี 2050 ความต้องการอาหารทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 50% และผู้คน 3.5 พันล้านคนอาจต้องทนทุกข์ทรมานจากความไม่มั่นคงด้านอาหาร

นอกจากนี้ มีผู้คนมากกว่า 2.6 พันล้านคนที่อาจต้องเผชิญกับภาวะขาดน้ำ โดยไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับความต้องการหรือมีความเสี่ยงที่น้ำประปาจะไม่ไหล

ภายในปี 2040 ประชากรทั้งหมด 5.4 พันล้านคน หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลกตามที่คาดการณ์ไว้ จะอาศัยอยู่ในประเทศที่เผชิญกับภาวะเสี่ยงขาดแคลนน้ำ รายงานระบุว่า อินเดียและจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุด 2 อันดับแรกของโลก จะอยู่ในกลุ่มประเทศเหล่านั้นด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีภัยธรรมชาติเพิ่มขึ้นอย่างมากทั่วโลก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเตือนมานานแล้วว่า เป็นผลจากวิกฤตสภาพอากาศที่เลวร้าย ทั้งไฟป่าในสหรัฐฯ และออสเตรเลีย คลื่นความร้อนทั่วยุโรป พายุต่าง ๆ

ทั้งนี้ เอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด การศึกษาพบว่า 29% ของภัยธรรมชาติทั้งหมดในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา เกิดขึ้นในภูมิภาคดังกล่าว รองลงมาคือยุโรป

ภัยธรรมชาติเหล่านี้คร่าชีวิตผู้คนในประเทศที่ด้อยพัฒนาถึง 7 เท่า เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งไม่ใช่เพราะภัยพิบัติมักเกิดในประเทศที่ยากจน แต่เป็นเพราะประเทศเหล่านั้นไม่สามารถรับมือกับภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที

ภัยคุกคามทั้งหมดเหล่านี้จะก่อให้เกิดวิกฤตการพลัดถิ่น ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อเนื่อง เช่น ความไม่มั่นคงทางการเมือง ความไม่มั่นคงของโลก และความเป็นปรปักษ์ต่อผู้อพยพที่อาจมากขึ้น

ไฟป่าแคลิฟอร์เนียเปลี่ยนท้องฟ้าเหนือซานฟรานซิสโกเป็นสีแดงจนเหมือนอยู่บนดาวอังคาร

“ญี่ปุ่น” อพยพ 8 ล้านคน หนีอิทธิพล ไต้ฝุ่น “ไห่เฉิน”

เรียบเรียงจาก CNN

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ