​กสิกรไทยห่วงเหตุ หนี้ภาครัฐ-เอกชนเพิ่มต่อเนื่อง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




วันที่ 2 กรกฎาคม 2558 นี้ จะครบรอบ 18 ปี ของเหตุการณ์ลอยตัวค่าเงินบาทของไทยเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ซึ่งสถานการณ์ในครั้งนั้น เป็นบทเรียนสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยที่ควรหันกลับไปมอง เพื่อให้มั่นใจว่าเส้นทางเศรษฐกิจและการเงินที่กำลังเดินอยู่ในปัจจุบัน จะไม่ซ้ำรอยเดิมอีกครั้ง


วันนี้ (1 ก.ค. 58) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ โดยมีประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ คือ ถ้าเปรียบเทียบสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน กับในช่วงก่อนวิกฤตปี 2540 เสถียรภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ดีกว่าในช่วง 18 ปีก่อนหน้ามาก ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนหนี้ต่างประเทศที่ลดลง สถานะการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ ไม่ปรากฏสัญญาณการเก็งกำไรในสินทรัพย์ที่น่ากังวล ซึ่งเคยเป็นชนวนการเกิดวิกฤตปี 2540

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในยุคปัจจุบันกับเมื่อ 18 ปีก่อน มีความเหมือนกันหลายประการที่ต้องจับตา เพราะอาจนำไปสู่สัญญาณความเปราะบางในอนาคต นั่นคือ การก่อหนี้ของภาคเอกชนและรัฐ กลับมามีทิศทางเพิ่มขึ้น จนมีระดับสูงกว่าก่อนวิกฤตปี 2540 แล้ว

โดยในปี 2557 การกู้ยืมของทั้งรัฐบาล ครัวเรือน และธุรกิจ มีสัดส่วนที่ 181.0% ต่อจีดีพี เทียบกับระดับช่วงวิกฤตในปี 2542 ที่ 162.8% อันเป็นผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การขาดดุลทางการคลังที่เพิ่มขึ้น และการออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย อาทิ นโยบายรถคันแรก และบ้านหลังแรก ซึ่งมีผลเพิ่มระดับหนี้ภาคเอกชนตามมา

ขณะเดียวกัน การก่อหนี้ของระบบเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ทำให้อัตราการออมมวลรวมของประเทศที่รวมทั้งการออมของภาครัฐ ธุรกิจ และครัวเรือน ลดต่ำลง ซึ่งแม้ว่าอัตราการออมดังกล่าว จะยังอยู่สูงกว่าจุดต่ำสุดที่ 26.2% ในปี 2545 แต่ด้วยแนวโน้มที่ลดลงนับจากปี 2550 เป็นต้นมา อาจชี้ถึงสัญญาณที่ไทยอาจต้องการแหล่งทุนภายนอกเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการลงทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนในระยะข้างหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้ว่าไทยจะมีปริมาณสภาพคล่องและทุนสำรองระหว่างประเทศพอเพียงที่จะดูแลผลกระทบจากการปรับพอร์ตการลงทุนของต่างชาติ โดยเฉพาะจากเหตุการณ์เฉพาะหน้า ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ //แต่โครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการก่อหนี้ในประเทศที่สูงขึ้น จะเป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญที่ทางการไทยต้องคำนึงถึงในระยะถัดไป เพราะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องการการแก้ไขอย่างจริงจัง เพื่อบรรเทาผลกระทบจากวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นที่คงยากจะหลีกเลี่ยงในอนาคต

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ