ถกธรรม : 11 ปีไฟใต้ที่พระสงฆ์กลายเป็นเหยื่อ (คลิป)


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สำนักจุฬาราชมนตรี องค์กรด้านศาสนาและสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และองค์กรศาสนาเพื่อสันติภาพ สภาศาสนสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ประณามเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นกับพระ นักบวช และประชาชนผู้บริสุทธิ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียกร้องให้องค์กรศาสนาอิสลามห้ามปรามตักเตือนคนในศาสนิกของตน และขอคืนวิถีพุทธตามปกติ หลังเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 58 เกิดเหตุลอบวางระเบิดทหารชุดคุ้มครองพระสงฆ์ที่อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ส่งผลให้ภิกษุมรณภาพ 1 รูป และบาดเจ็บอีก 1 รูป

จากกรณีที่องค์กรด้านศาสนาและสิทธิมนุษยชนได้ออกแถลงการณ์ประณามเหตุรุนแรงที่กระทำกับพระ นักบวช และประชาชนผู้บริสุทธิ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง โดยวันนี้ (27 ก.ค. 58) ยังมีแถลงการณ์จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และองค์กรศาสนาเพื่อสันติภาพ สภาศาสนสัมพันธ์แห่งประเทศไทย

ประเด็นที่น่าจับตาคือเนื้อหาในแถลงการณ์ของคณะสงฆ์และเครือข่ายคนพุทธในพื้นที่ชายแดนใต้ เสมือนส่งสัญญาณให้องค์กรศาสนาอิสลามแสดงท่าทีห้ามปรามตักเตือนคนในศาสนิกของตน และเรียกร้องขอคืนวิถีพุทธตามปกติที่ชายแดนใต้ เช่น ต้องไม่ให้พระสงฆ์งดบิณฑบาต ไม่ต้องปรับเวลาเวียนเทียน เป็นต้น ซึ่งนับเป็นข้อเรียกร้องในลักษณะที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ล่าสุดวานนี้ (26 ก.ค. 58) สำนักจุฬาราชมนตรีจึงได้ออกแถลงการณ์เรื่อง "การฆ่าและทำร้ายพระ นักบวช ผู้นำศาสนา ตลอดจนประชาชนผู้บริสุทธิ์" ซึ่งมีสาระสำคัญตอนหนึ่งยืนยันจุดยืนอันเป็นหลักธรรมคำสอนศาสนาอิสลามตามคัมภีร์อัลกุรอานว่า ไม่อนุญาตให้ฆ่าผู้บริสุทธิ์ ทำร้ายพระและนักบวช รวมทั้งศาสนสถานของทุกศาสนา รวมทั้งห้ามทำร้ายเพื่อนต่างศาสนิกให้ได้รับบาดเจ็บ

เช่น ตามคัมภีร์อัลกุรอาน บทอัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 32 ระบุว่า "หากผู้ใดฆ่าผู้บริสุทธิ์แม้เพียงคนเดียว เท่ากับฆ่ามนุษย์ทั้งโลก และหากผู้ใดรักษาชีวิตมนุษย์แม้เพียงคนเดียว เท่ากับรักษาชีวิตมนุษย์ทั้งโลก

หรือคำกล่าวของ ท่านนบีมุฮัมมัด ศาสนทูต ที่ว่า "ฉันคือศัตรูกับใครก็ตามที่ทำร้ายเพื่อนต่างศาสนิกให้ได้รับบาดเจ็บ และหากฉันเป็นศัตรูกับใครแล้ว ฉันจะไปยืนยันสิ่งนั้นต่อพระผู้เป็นเจ้าในวันพิพากษา"

อย่างไรก็ตามพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น แม้จะมีประชากรส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 85 นับถือศาสนาอิสลาม แต่ดินแดนแห่งนี้ก็ยังมีวัดและที่พักสงฆ์จำนวนไม่น้อย รวมทั้งมีพระและสามเณรจำวัดอยู่ในพื้นที่กว่า 1,000 รูป

จากข้อมูลของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ระบุว่า ในดินแดนปลายด้ามขวาน มีพระและสามเณรรวม 1,038 รูป มีวัดและที่พักสงฆ์ 248 แห่ง แยกเป็นจ.ยะลา มีพระภิกษุและสามเณร 269 รูป วัดและที่พักสงฆ์ 63 แห่ง , จ.ปัตตานี มีพระภิกษุและสามเณร 436 รูป วัดและที่พักสงฆ์ 92 แห่ง และจ.นราธิวาส มีพระภิกษุและสามเณร 333 รูป วัดและที่พักสงฆ์ 93 แห่ง

พระ เณร วัด และสัญลักษณ์ทางศาสนาต่างๆ เป็นเป้าหมายอ่อนแอ 2 ใน 10 เป้าหมายที่ฝ่ายความมั่นคงมีมาตรการรักษาความปลอดภัยเป็นพิเศษมาตลอด 11 ปีไฟใต้ แต่ตลอดมาก็ยังมีพระ เณร ถูกคุกคามทำร้าย และวัดตกเป็นเป้าหมายการก่อความไม่สงบจำนวนไม่น้อย

จากสถิติที่เก็บรวบรวมโดยศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศชต. พบว่า มีพระและเณรมรณภาพจากสถานการณ์ความไม่สงบไปแล้ว 19 รูป บาดเจ็บ 26 รูป โดยลักษณะความรุนแรงที่พบมากที่สุดคือลอบวางระเบิดมากกว่า 22 ครั้ง ลอบยิง 7 ครั้ง ใช้ของมีคมฟัน 4 ครั้ง และวางเพลิง 2 ครั้ง โดยจังหวะเวลาที่เลือกก่อเหตุ มักฉวยโอกาสช่วงใกล้วันสำคัญทางพุทธศาสนา เพื่อสร้างกระแสให้เกิดความรู้สึกหวาดกลัวในวงกว้าง

จากเหตุดังกล่าว คุณเสถียร วิริยะพรรณพงศา จากทีมข่าว PPTV ได้เชิญ พระมหานภันต์ สันติภัทฺโท ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดสระเกศ มาร่วมแสดงทัศนะในการแก้ปัญหาในระยะยาวที่จะทำให้พระสงฆ์สามารถปฏิบัติศาสนกิจด้วยความปลอดภัยได้

ทั้งนี้พระมหานภันต์ สันติภัทฺโท แสดงทัศนะว่า เบื้องต้นชาวพุทธควรระงับความโกรธที่จะตอบโต้ ซึ่งเป็นวิธีการในแก้ปัญหาตามหลักพุทธศาสนา อยากให้เข้าใจพระสงฆ์ในพื้นที่ว่ากำลังเผชิญกับอะไรก่อน และอย่ามองศาสนาอื่นเป็นชนกลุ่มน้อย

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ