ล้วงลึก ใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาเด็กแว้นแบบถึงลูกถึงคน (คลิป)


โดย PPTV Online

เผยแพร่




​ปัญหาเด็กแว้นเป็นปัญหาสังคมที่เรื้อรังมานานหลายปี ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2555 ตำรวจก็เคยบังคับใช้กฎหมายปราบปรามการแข่งรถในทางสาธารณะอย่างเข้มข้นมาแล้ว กระทั่งถึงรัฐบาลชุดนี้ก็ให้ความสำคัญและประกาศใช้ยาแรงยิ่งขึ้น ถึงขนาดออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อหวังหยุดพฤติกรรมการสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับประชาชนทั่วไป แต่การป้องกันและปราบปรามการแข่งรถโดยใช้ยาแรงอย่างเดียวอาจไม่ใช่หนทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

เนื่องจากหากย้อนดูสถิติการร้องเรียนจากประชาชนผ่านสายด่วน 1599 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเองในรอบ 9 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 ถึงเดือนมิถุนายน 2558 พบว่า มีประชาชนร้องเรียนเรื่องแข่งรถในทางสาธารณะมากถึง 97 เรื่อง

ย้อนหลังไป 5 เดือนช่วงมีปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่อย่างเข้มงวดก็ยังมีประชาชนร้องเรียนเรื่องการแข่งรถในทางสาธารณะผ่านสายด่วน 1599 อย่างต่อเนื่อง

โดยในเดือนมีนาคม 2558 มีการร้องเรียน 15 ครั้ง เดือนเมษายน มีการร้องเรียน 31 ครั้ง เดือนพฤษภาคม มีการร้องเรียน 12 ครั้ง ซึ่งในเดือนพฤษภาคมนี้เองที่มีการกวาดล้างเด็กแว้นครั้งใหญ่ในชื่อปฏิบัติการ "ราชพฤกษ์โมเดล" โดยจับกุมเด็กและเยาวชนที่รวมตัวกันแข่งรถจักรยานยนต์บนถนนราชพฤกษ์ได้กว่า 400 คน รถจักรยานยนต์ 270 คัน

แต่ต่อมาในเดือนมิถุนายนก็ยังมีการร้องเรียนเรื่องการแข่งรถอยู่ ทว่าจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยมีการร้องเรียนเพียง 4 ครั้ง

ส่วนเดือนกรกฎาคมตัวเลขถึงวันที่ 25 กรกฎาคม ก็ยังมีการร้องเรียน 8 ครั้ง ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่มีการประกาศใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 เรื่องมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทางฯ

สำหรับสาระสำคัญของคำสั่ง คสช. ที่จะใช้ปราบเด็กแว้นนั้นมี 3 ข้อ

1.ห้ามรวมกลุ่มมั่วสุมในลักษณะแข่งรถในทาง โดยเพิ่มอำนาจให้เจ้าพนักงานสามารถนำรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่สงสัยว่าจะใช้ในการแข่งรถมาเก็บรักษาไว้เป็นการชั่วคราว โดยให้รวมไปถึงรถของผู้ที่อยู่ในบริเวณเดียวกับจุดเกิดเหตุด้วย

2.สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองที่ปล่อยปละละเลยให้เยาวชนรวมกลุ่มหรือมั่วสุมเพื่อการแข่งรถ หากบุตรหลานมีการกระทำผิด ให้ถือว่าเป็นความรับผิดชอบของพ่อแม่ผู้ปกครองด้วย แต่ก็ยังเปิดโอกาสให้วางเงินประกันได้ในครั้งแรก หากกระทำผิดซ้ำ ให้ผู้ปกครองต้องโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบเงินประกันเป็นของกองทุนคุ้มครองเด็ก

3.บังคับไปถึงผู้ผลิต ครอบครอง จำหน่าย ประกอบ ดัดแปลง หรือเปลี่ยนแปลงสภาพรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีส่วนสนับสนุนให้เกิดการแข่งรถ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากผู้กระทำเป็นผู้ประกอบการ หรือโรงงาน ต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาตทันที

ด้านกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ระหว่างเด็กแว้นและผู้ปกครอง กับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางออกการบังคับใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.แก้ปัญหาแข่งรถ ซึ่งมีเนื้อหาเอาผิดไปถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง

หลายเสียงในวงสัมนามองว่า การใช้มาตรการที่เข้มงวด รุนแรง ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และอาจทำให้เกิดการตอบโต้ที่รุนแรงตามมา สำหรับเด็กที่อยู่ในวงจรแข่งรถ ส่วนใหญ่ถูกให้ออกจากระบบการศึกษา และสาเหตุของการออกมาขับขี่รถจักรยานยนต์ในเวลากลางคืน เป็นเพราะเด็กเหล่านี้ ต้องการพื้นที่ในการแสดงออกและการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน จึงมีข้อเสนอให้ตั้งกรรมการพัฒนาเด็กและเยาวชน หรือ กดย. ให้ทำการสำรวจจำนวนและความต้องการ ความถนัดของเด็กที่ออกไปขับขี่รถจักรยานยนต์ เพื่อหากิจกรรมอื่นๆ ที่เหมาะสมให้ทำทำ พร้อมปรับมุมมองสังคมให้มองคนเหล่านี้เป็นเด็กคนหนึ่ง ไม่ใช่อาชญากร

วันนี้ รายการ "เป็นเรื่อง เป็นข่าว" จะสนทนากับนักวิชาการด้านอาชญวิทยา จากมหาวิทยาลัยรังสิต ร้อยตำรวจเอก ดอกเตอร์ จอมเดช ตรีเมฆ เพื่อวิเคราะห์ว่าการใช้มาตรการเข้มทางกฎหมาย สามารถแก้ไขปัญหาสังคมอย่างปัญหาเด็กแว้นได้หรือไม่

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ