​อนาคต! ทีวีดิจิทัล หลังสปริงนิวส์เลิกจ้างพนักงานสะเทือนวงการสื่อ (คลิป)


โดย PPTV Online

เผยแพร่




Bigstory! การเลิกจ้างฟ้าผ่าพนักงาน 40 คนของสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ สะท้อนให้เห็นปัญหาและทำให้เกิดคำถามตามมาถึงอนาคตทีวีดิจิทัลที่อนาคตอาจมีหลายช่องจอดับ

สปริงนิวส์ ออกหนังสือชี้แจงปรับโครงสร้าง ลดพนักงาน

กลายเป็นที่สนใจทั้งในวงการสื่อมวลชนและสังคมทั่วไป หลังมีกระแสข่าวการปรับลดพนักงาน จำนวน 40 อัตรา ของสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ ตั้งแต่เมื่อวาน (28 ต.ค.58) ล่าสุดทางสถานีฯ ได้ออกหนังสือชี้แจงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เป็นการปรับโครงสร้างขององค์กร โดยยืนยันว่าได้มีการสื่อสารกับพนักงาน และให้การดูแลผู้ถูกเลิกจ้างตามกฎหมายแรงงาน

หนังสือชี้แจงจากสถานีข่าวสปริงนิวส์ ผู้ดำเนินการผลิตข่าวและรายการออกอากาศ ทางทีวีดิจิตอล ช่อง 19 กรณีปรับลดพนักงานหลายอัตรา เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม

หนังสือฉบับดังกล่าวระบุว่า ทางสถานีปรับโครงสร้างขององค์กร เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายและเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ ปี 2559 เพื่อเป็นสถานีข่าวอันดับ 1 ของประเทศในทุกแพลทฟอร์ม บนความรับผิดชอบและก้าวสู่ศูนย์กลางข่าวสารอาเซียน

โดยเริ่มกลยุทธ์รุกทุกแพลทฟอร์ม เช่น เปิดคลื่นสถานีข่าวใหม่ เมื่อวันที่ 26 ต.ค.58 และล่าสุดปรับยุทธศาสตร์การทำงาน ปรับโครงสร้างองค์กร โดยการปรับลดพนักงานบางภาคส่วน จำนวน 40 อัตรา ขณะเดียวกันมีนโยบายขยายงานข่าวภาคเศรษฐกิจและต่างประเทศ เพื่อตอบสนองเป้าหมายองค์กร

การดำเนินการปรับลดพนักงานนั้น ทางบริษัทพิจารณาตามความเหมาะสม และได้มีการสื่อสารกับพนักงานให้เป็นที่เข้าใจ พร้อมดูแลผู้ถูกเลิกจ้างด้วยความเป็นธรรมและถูกต้องตามกฎหมายแรงงาน โดยหนังสือฉบับดังกล่าว ลงชื่อ อภิศรา อิศรศักดิ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการใหญ่สายงานสื่อสารองค์กร

ระเบียบการเลิกจ้างตามกฎหมายแรงงาน

กรณีของสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ที่มีการเลิกจ้างพนักงานกะทันหัน ก็ทำให้มีคำถามตามมาว่า สถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ ทำตามกฎหมายแรงงาน ในการจ่ายค่าชดเชยหรือไม่ ซึ่งในแถลงการณ์มีการระบุชัดเจนว่า จะทำตามกฎหมายแรงงาน

ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ระบุไว้ว่า หากสถานประกอบการเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า ต้องจ่ายเงินค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือนตามอัตราเงินเดือน และต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน โดยถ้าอายุงาน 4เดือน หรือ 120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี ได้ค่าชดเชย 1 เดือน 1-3ปี ชดเชย 3 เดือน 3-6 ปี ชดเชย 6 เดือนตามลำดับ

ตามกฎหมายสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าตามนี้ แต่ย้อนไปดูแถลงการณ์ของสปริงนิวส์ จะเห็นว่ามีการระบุเหตุผล ถึงการปลดคนออกว่า เพื่อปรับโครงสร้างองค์กร นั้นหมายความว่า สปริงนิวส์ ต้องทำตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 121 ที่ระบุว่า การเลิกจ้างลูกจ้าง เพราะเหตุนายจ้างปรับปรุงหน่วยงาน จำเป็นต้องลดจำนวนลูกจ้าง นายจ้างต้องแจ้งวันเลิกจ้าง พร้อมเหตุผล แก่ลูกจ้าง ล่วงหน้า 2 เดือน หากไม่แจ้ง ต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับอัตราจ้างสุดท้าย 60 วัน คือต้องได้ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า หรือที่เรียกว่าค่าตกใจเพิ่มเป็น 2 เดือนจากเดิมที่ได้แค่ 1 เดือน

ซึ่งในกรณีนี้ นายสุเมธ สมคะเน ประธานสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย มองว่าเป็นสิทธิที่สถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ สามารถทำได้ แต่อย่างน้อยควรแจ้งพนักงานล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน และมองว่าทิศทางของอาชีพสื่อมวลชนเริ่มไม่มั่นคง เป็นภาวะฟองสบู่ เนื่องจากการมีช่องทีวีเพิ่มมากขึ้น แต่ส่วนแบ่งรายได้จากค่าโฆษณายังกระจุกตัว ซึ่งหากสื่อมวลชนที่ถูกเลิกจ้างรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมก็สามารถร้องเรียนได้

ทิศทางทีวีดิจิทัล ในอนาคต

หลังจากที่ครบ 1 ปีมาแล้วทีวีดิจิทัลของไทยเริ่มเข้าสู่ช่วงไฮไลท์ เมื่อผู้ประกอบการต้องจ่ายเงินค่าใบอนุญาตทีวีดิจิทัลงวดที่ 2 และเป็นประเด็นว่าผลประกอบการของแต่ละค่ายไม่ดีนัก บางช่องถึงขั้นไม่จ่ายค่าใบอนุญาต ขณะที่การดำเนินงานของกสทช.เอง ก็ถูกมองว่าไม่ได้ช่วยส่งเสริมธุรกิจทีวีดิจิทัล เท่าที่ควร ในอนาคตทีวีดิจิตอลของไทยจะมีทิศทางอย่างไร

ย้อนไปเมื่อปลายปี 2556 ธุรกิจทีวีอาจเป็นความหวังใหม่ของการนักลงทุน เมื่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.จัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลถึง 24 ช่อง ด้วย มูลค่ารวมสูงถึงกว่า 50,000 ล้านบาท

ผ่านไป1 ปี ดูเหมือนภาพฝันทีวีดิจิทัลจะไม่เป็นเหมือนที่คิดไว้ ผลประกอบการแทบทุกราย ขาดทุน ขณะที่การเรียกเก็บค่าสัมปทานรอบที่ 2 เริ่มขึ้น ทำให้เห็นภาพของการที่บางช่องไม่ยอมจ่ายเงินค่าสัมปทาน และมีบางช่องที่ฟ้องร้อง กสทช. ให้เลื่อนการจ่ายค่าสัมปทานออกไป

ด้วยวงเงินประมูลที่สูง พุ่งเกินราคาขั้นต่ำกว่าเท่าตัว ทำให้ภาระการจ่ายค่าสัมปทานเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีแรก ยกตัวอย่างกรณีของช่อง HD ที่ราคาประมูลสูงถึง 3,000 ล้านบาท กสทช.ให้แบ่งชำระ 6 ปี โดยในช่วงปีแรกช่อง HD แต่ละช่อง ต้องจ่ายค่าสัมปทานถึง 1,000 ล้านบาท

ขณะที่ส่วนแบ่งค่าโฆษณาส่วนใหญ่ยังตกอยู่กับช่องอนาล็อกเดิม และคนดูก็ยังไม่รับรู้ถึงความแตกต่างของความเป็นทีวีดิจิตทัล ทำให้ 1 ปีที่ผ่านมาธุรกิจทีวีดิจิทัลยังไม่กระเตื้องขึ้น แม้ทางกสทช.จะพยายามส่งเสริมด้วยการทำคูปองแลกกล่อง แต่ยังคงติดปัญหาเรื่อง มักซ์ และเรื่องการขยายการรับชม

ด้วยปัจจัยด้านการลงทุน การแข่งขันในธุรกิจ และความไม่พร้อมในการขยายโครงข่าย ทำให้วันนี้อีกหลายช่องกำลังพยายามปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด ซึ่งในอนาคตน่าเป็นห่วงว่า ธุรกิจทีวีดิจิตทัลอีกหลายช่องอาจต้องลดต้นทุน ซึ่งนั้นหมายถึงการลดบุคลากรตามมา

เพื่อให้เห็นภาพค่าใช้จ่ายที่ทีวีดิจิทัลต้องแบกรับไว้ เราจะแจกแจงให้เห็นถึงการจ่ายค่าสัมปทานในแต่ละงวดที่ ทีวีดิจิทัลแต่ละช่องต้องจ่าย เรายกตัวอย่าง ช่อง HD

เมื่อครั้งเปิดประมูลปลายปี 2556 จะเห็นว่า ราคาที่ประมูลกันพุ่งเกินราคาขั้นต่ำ ช่อง HD ตั้งไว้ประมาณ 1,510 ล้านบาท แต่ไปจบที่ 3,000 ล้านบาท กสทช.ให้แบ่งชำระ 6 ปี โดยปีแรกและปีที่ 2 จ่าย 30% แล้วก็ปีที่ 3-6 อีก 20% ซึ่งหากดูตามนี้จ่ายครบ 6 ปี เวลาที่เหลือก็คือกำไรเพราะไม่มีค่าสัมปทานแล้ว อยู่ไปอีก 15 ปี แต่กว่าจะครบ 6 ปี จะเห็นว่า ปีที่ 1 ปีที่ 2 หนักมาก เพราะปีที่ 1 ต้องจ่ายขั้นต่ำ 700 กว่าล้านบาท และต้องจ่ายขั้นต่ำปีที่ 1 กับปีที่ 2 อีก 30% ของ 1,500 ล้านบาท คือ 500 กว่าล้านบาท เท่ากับต้องจ่าย 1 ปีร่วม 1,000 ล้านบาท เฉพาะ HD เพราะฉะนั้น ปีที่ 1 ยังเป็น ฮันนีมูนพีเรียด ทุกคนมีความฝันว่าโฆษณาเม็ดเงินจะเข้า แต่ความเป็นจริง คือ ส่วนแบ่งเงินโฆษณายังอยู่ในช่องอนาล็อกกันเดิม เพราะฉะนั้น รายได้กับร่ายรับจึงไม่สมดุล

ที่ตอกย้ำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ทีวีดิจิทัลนั้นกำลังแย่ คือตัวเลขผลประกอบการในไตรมาสแรก ปี 2558 ซึ่งเท่าที่เรารวบรวมได้ มีอยู่ 5 ช่อง จะเห็นว่า ทุกช่อง ขาดทุน โดยเฉพาะ ช่องสปริงนิวส์ขาดทุน มากถึงกว่า 170 ล้านบาท และเป็นเจ้าแรกๆที่เริ่มมีการปลดคนออกตามข่าวที่ปรากฎ ส่วนช่องที่ดูเรตติ้งดีอย่างแกรมมี่ ช่อง 9 ช่อง 3 และเนชั่น ถึงแม้จะมีกำไร แต่พบว่ากำไรลดลง ยังไม่รวมกรณีที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ว่าจะเป็น ไทยรัฐ PPTV ThaiTV VOICE ที่ไม่รู้ว่าผลประกอบการจะขาดทุนไปเท่าไร

ในอนาคตหากยังไม่มีอะไรดีขึ้น เราอาจเห็นทีวีหลายช่องจอดำ!!!

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ