เลือดตกยางออก! กสทช.ฟันธง 4 ปัจจัยประมูลคลื่น 900 MHz ดุเดือด


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เลขาธิการ กสทช. วิเคราะห์การประมูลคลื่น 900 MHz ฟันธง 4 ปัจจัยประมูลคลื่น 900 MHz เป็นการแข่งขันที่ดุเดือด


วันนี้ (9 ธ.ค. 58) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการบรรยายเรื่อง "ถอดบทเรียนการประมูลคลื่น 1800 MHz สู่ความพร้อมการประมูลคลื่น 900 MHz" ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ซึ่งนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.ได้วิเคราะห์การประมูลคลื่น 900 MHz ว่าจะแข่งขันดุเดือดหรือไม่ โดยกล่าวว่าขอฟันธงว่าจะเป็นการแข่งขันการประมูลที่ดุเดือดมาก เรียกว่าเลือดตกยางออกได้ โดยมี 4 ปัจจัยหลัก คือ


1.ผู้ที่ชนะการประมูล 1800 MHz ไปแล้วไม่สามรถปล่อยให้คู่แข่งประมูลคลื่นในครั้งนี้ในราคาต่ำกว่า เพราะจะทำให้เสียเปรียบในการประกอบธุรกิจ


2.มติที่ประชุมบอร์ด กทค.ลงไปแล้วว่าราคาประมูลคลื่นในย่าน 1800 MHz ที่ผ่านมาจะเป็นพื้นฐานราคากลางที่จะประมูลครั้งต่อไปในย่านนั้นๆ ดังนั้นในการประมูลในปี 2561 รับรองว่าราคาจะสูงกว่านี้อย่างแน่นอน ซึ่งถ้าไม่เข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ถือว่าจะเสียเปรียบในระยะยาว


3.ความจำเป็นของแต่ละบริษัท ในความต้องการใช้คลื่น เรียงลำดับจากความต้องการมากที่สุดมาน้อย คือ jas ต้องการคลื่นมากสุด เพราะวันนี้ยังไม่มีคลื่นเป็นของตัวเองเลย อันดับสองคือ Ais เพราะมีคลื่นน้อย แต่มีความจำเป็นต้องใช้คลื่นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับอันดับสามคือ Truemove ที่ยังมีคลื่นน้อย ขณะที่อันดับสี่คือ Dtac นั้น นอกจากจะมีคลื่นในมือแค่ 65 MHz และ 1800 MHz แต่ก็จะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2561 ซึ่งมีความจำเป็นต้องได้คลื่นนี้มาอยู่ในมือเช่นกัน


"การที่ค่ายใดค่ายหนึ่งจะถอย เป็นไปไม่ได้เลย แต่ละค่ายมีแต่ต้องสู้ตาย" นายฐากร กล่าว


4.เงื่อนไขการจ่ายเงิน ปีแรกจ่ายแค่ 50% ของราคา 100% ปีที่สองจ่าย 25% ปีที่สามจ่าย 25% ปีที่สี่ถึงจ่ายส่วนเกิน 100% ดังนั้นจึงมีเวลา เพื่อไม่ให้มีการฮั้วประมูลกับสถาบันการเงิน จึงมีอิสระในการเคาะประมูล


"ผมคิดว่าจะไม่มีใครถอย เพราะถ้าถอยเร็วก็ไม่มีประโยชน์ เพราะราคาประมูลในปี 2561 ไม่มีทางถูกกว่านี้แน่นอน มีแต่ราคาจะสูงขึ้น" ฐากร กล่าว


ทั้งนี้ในการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz จะมีขึ้นในวันที่ 15 ธ.ค. นี้ โดยจะมีราคาขั้นต่ำอยู่ที่ 12,865 ล้านบาท ราคาประมูลรอบแรก 13,508 ล้านบาท เพิ่มขึ้นรอบละ 644 ล้านบาท เมื่อถึง 16,080 ล้านบาทให้เพิ่มขึ้นรอบละ 322 ล้านบาท

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ