วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “มีชัย ฤชุพันธุ์”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




วันที่ 10 ธันวาคม ปีนี้ เป็นวันรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง ที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างการใช้ “รัฐธรรมนูญชั่วคราว ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับจริง อยู่ระหว่างการยกร่างฉบับใหม่ หลังการรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม ปี 2557 ก่อนนี้เสร็จแล้ว 1 ฉบับ แต่ถูกคว่ำไป ฉบับใหม่ที่กำลังร่างนี้ เนื้อหายิ่งซับซ้อน แม้ว่าท้ายที่สุดจะตองไปสู่การลงปรชามติของประชาชนว่ารับหรือไม่รับ

ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่กำลังร่างภายใต้การนำของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ร่างรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายฉบับ ถือเป็นกรรมการยกร่างชุดที่ 2 หลังจากร่างแรก ที่นำการยกร่างโดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ถูกคว่ำไปโดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ

อย่างที่เห็นในรายงาน เหตุผลที่ร่างของนายบวรศักดิ์ถูกคว่ำ มาจากประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรี และการให้อำนาจเหนือทุกอำนาจกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปรองดองแห่งชาติ ดังนั้นนี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่คณะของนายมีชัยต้องแก้ จะมาดูกันว่า หน้าตาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะออกมาเช่นใด

สิ่งที่เราจะพูดถึงกันในวันนี้ คือ ที่มาการเข้าสู่อำนาจรัฐ ตามโมเดลของรัฐธรรมนูญ ที่คาดว่า จะเป็น รัฐธรรมนูญ 2559 แน่นอนว่า เริ่มจาก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการร่างชุดนี้ เรียกระบบการเลือกตั้งแบบใหม่นี้ว่าแบบ "จัดสรรปันส่วนผสม"

แต่เดิม เรามีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ 1 ใบ เลือก ส.ส.เขตที่บ้าน อีก 1 ใบ เลือกพรรคที่ชอบ โดยจะมีบัญชีรายชื่อของบุคคลที่คาดว่า จะถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี แนบอยู่ใน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เพื่อจูงใจให้ประชาชน เลือกพรรคนั้นๆ ในบัตรใบที่สอง

ระบบใหม่นี้ จะเหลือบัตรให้ลงคะแนนเพียงใบเดียว ไปเลือก ส.ส.เขต ซึ่งหมายความว่า เป็นการลงคะแนนให้พรรคไปด้วย ... แต่ 1 บัตรนี้ จะถูกนับ 2 ครั้ง นับเป็นคะแนน ส.ส.เขต หนึ่งครั้ง อีกหนึ่งครั้ง ใช้นับเป็นคะแนนรวมของพรรค ระบบเลือกตั้งใหม่ มี ส.ส. 500 คน เป็นแบแบ่งเขต 350 คน คือ แบ่งเป็น 350 เขต ข้อนี้ ไม่ยาก เขตไหน พรรคไหนชนะ ได้ ส.ส.ไป 1 ทีนั่ง แต่ที่เพิ่มมา คือ คะแนนที่ได้ ต้องมากกว่าคะแนน VOTE NO หรือ ประชาชนลงคะแนนไม่เลือกใครเลย ถ้า VOTE NO มากกว่า แต่เดิม ไม่มีผล แต่ของใหม่นี้ จะต้องเลือกตั้งใหม่ โดยไม่สามารถส่งผู้สมัครคนเดิมลงได้อีก


แต่ในการนับครั้งที่ 2 คือ การรวมคะแนนของพรรคที่ได้ของทั้งประเทศ เพื่อคิดสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยจะคิดว่า พรรค A ได้คะแนนรวมทั้งหมดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ พรรค B กี่เปอร์เซ็นต์ ก็จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อไป โดยหารจากจำนวน ส.ส. 150 คน ที่เหลือ แต่มีความซับซ้อนกว่านั้น

ตัวอย่างง่ายๆ เช่น พรรค A ได้คะแนนรวมทั้งประเทศ คิดเป็น 40 %

ถ้าคิดแบบระบบเดิม นี่คือ 40% จาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน ควรจะต้องได้ ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก 60 คน ไม่รวมกับ ส.ส.แบบแบ่งเขตแต่ระบบนี้ คิดอีกแบบหนึ่ง คือจะคิด 40% จากตัวเลข ส.ส.รวม 500 คน ก็เท่ากับจะได้ ส.ส. 200 คน แต่ตัวเลข 200 นี้ รวมแล้วกับ ส.ส.แบบแบ่งเขต เช่น ถ้าพรรค A ได้ ส.ส.เขต 186 คน จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อีกเพียง 14 คน เพื่อให้ครบ 200 คน ตามสัดส่วนที่ได้รับ 40%

แต่ถ้าพรรค A ได้ ส.ส.แบบเขต 200 คนพอดี จะไม่ได้ ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อเพิ่มเลย เพราะถือว่า เต็มโควต้า 40% แล้วระบบนี้ หมายถึง การจำกัดจำนวน ส.ส.ไว้ แต่ละพรรค จะได้ ส.ส.ไม่มากกว่าไปกว่าสัดส่วนที่นับได้จากคะแนนรวมทั้งประเทศนี่เป็นจุดที่ถูกวิจารณ์ว่า จะทำให้ รัฐบาลใหม่ ต้องเป็นรัฐบาลผสมจากหลายพรรคแน่นอน เพราะยากที่พรรคใดพรรคหนึ่ง จะได้คะแนนเสียงท่วมท้น จากบัตรเลือกตั้งใบเดียว ที่มี ส.ส.เขต เป็นตัวเลือกในการตัดสินใจลงคะแนน นอกเหนือไปจากการเลือกพรรคด้วย

แต่อีกมุมหนึ่ง นี่อาจเป็นปัจจัยตีกลับ ที่จะทำให้ พรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก ไม่ได้ ส.ส.เขตเลยก็ได้ หากมีกระแสหรือการแข่งขันสูงในการแย่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพรรคใหญ่ แต่มีบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว ประชาชน อาจตัดสินใจ ลงคะแนนเพื่อให้พรรค มากกว่า ส.ส.เขต ที่ชื่นชอบ

ประเด็นต่อมา คือ หนึ่งในประเด็นที่ทำให้ร่างฉบับนายบวรศักดิ์ ถูกโหวตไม่รับใน สปช. นั่นคือ ที่มาของ "นายกรัฐมนตรี" โดยฉบับของนายบวรศักดิ์ บอกว่า ให้เสนอชื่อ "นายกคนนอก" ได้ โดยใช้ 2 ใน 3 ของสภาผู้แทนราษฎร หมายความว่า นายกฯ ไม่ต้องเป็น ส.ส. ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง

ส่วนฉบับนายมีชัย พยายามแก้เงื่อนไขตรงนี้ โดยคงหลักการ เปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกได้เช่นเดิม แต่วิธีการที่ใช้ พยายามทำให้เกิดความรู้สึกว่า นายกรัฐมนตรี มาจากการเลือกตั้ง ด้วยการให้พรรคการเมือง เสนอชื่อ ผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีไว้ พรรคละ 5 รายชื่อ และชื่อที่จะเสนอต่อสภา ต้องมาจากรายชื่อ ที่ถูกเสนอไว้ล่วงหน้าเท่านั้น หมายความว่า ก่อนลงคะแนน ประชาชนจะเห็นแล้วว่า ถ้าเลือกพรรค A มีโอกาสจะได้ใครบ้าง เป็นนายกรัฐมนตรี

แม้จะมีเงื่อนไขตามนี้ คือ รายชื่อทั้ง 5 ของแต่ละพรรค ต้องมาจาก มติพรรคแต่ข้อเสนอนี้ ก็ยังถูกวิจารณ์ว่า ทำไมต้องเสนอไว้ ถึง 5 รายชื่อ เพราะในรายชื่อ อาจมีชื่อที่ประชาชนต้องการบรรจุไว้ แต่อาจเป็น ชื่ออื่นใน 4 ชื่อที่เหลือ ที่จะถูกเสนอจริง

ขณะที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ยืนยัน วิธีการนี้ ไม่ใช่การเปิดช่องให้สืบทอดอำนาจ ด้วยการเปิดให้มีนายกฯ คนนอก เพราะต้องใช้รายชื่อ ที่เสนอต่อประชาชนก่อนการเลือกตั้งเท่านั้น

สมาชิกวุฒิสภา คืออีกกลุ่มที่น่าสนใจ ที่มาของ ส.ว. คือ ประเด็น ที่ถูกถกเถียงกันมาตลอด ว่าควรจะมาจากการเลือกตั้ง หรือ แต่งตั้ง หรือ ผสมกันไปแบบเดิม คราวนี้ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ใช้คำว่า "เลือกตั้งทางอ้อม" คือ รับสมัครจากตัวแทนวิชาชีพ 20 กลุ่ม ในแต่ละท้องถิ่นเลือกกันเอง เป็นตัวแทนของแต่ละกลุ่มในท้องถิ่น แล้วจึงมาสรรหาอีกที โดยคณะกรรมการสรรหา แต่ ส.ว.ชุดใหม่นี้ จะมีเพียงอำนาจในการกลั่นกรองกฎหมาย รับรองแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ อย่าง กกต. ป.ป.ช. แต่อำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เคยมี ได้ถูกตัดทอนออกไป

"กลไกแก้วิกฤตประเทศ" นี่เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ที่คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนายบวรศักดิ์ ด้วย กลไก ที่เรียกว่า "คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและปรองดองแห่งชาติ หรือ คปป. ซึ่งถูกบรรจุไว้ในร่างฉบับนั้น ให้เป็นองค์กร ที่มีอำนาจเหนือ อำนาจตามปกติทุกอย่างหากอยู่ในสถานการณ์วิกฤต มี 22 คน มาจาก นายกฯ ประธานสภา ประธานวุฒิ ผบ.เหล่าทัพ ผบ.ตร. ยังมีกรรมการผู้ทรงคุณวฒิ เลือกกันจากกลุ่ม อดีตนายกฯ อตีตประธานสภา อดีตประธานศาลฎีกา พร้อม ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิ 11 คน ที่มาจากผู้เชี่ยงชาญด้านการปฏิรูปด้านต่างๆ

กลไกนี้ ไม่ผ่าน สปช. เพราะถูกวิจารณ์ว่า เป็นอำนาจแบบ รัฐซ้อนรัฐ คปป.จะมีอำนาจในรัฐธรรมนูญ ในการยึดอำนาจรัฐไปด้วย คล้ายการรัฐประหาร ที่ไม่ต้องฉีกรัฐธรรมนูญ ร่างฉบับนี้ จึงตกไป ส่วนฉบับของนายมีชัย แม้จะมีการส่งสัญญานโดยตรงมาจากพลเอกประยุทธ์ ซ฿งเคยพูดว่า ในรัฐธรรมนูญควรจะมี องค์กรหนึ่งที่คล้ายกับ คปป. แต่นายมีชัย ยืนยันเองว่าจะไม่มีบรรจุองค์กรลักษณะนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่จะใช้องค์กรที่มีอยู่แล้ว คือ "ศาลรัฐธรรมนูญ" มาคอยทำหน้าที่วินิจฉัยกรณีเกิดปัญหาวิกฤติทางการเมือง

โดยในร่างของนายมีชัย ออกแบบให้ ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เป็นองค์กรอิสระ ที่ถูกวิจารณ์ได้เช่นเดิม แต่ย้ายไปอยู่ในหมวดของศาล ตามอำนาจตุลาการ เพราะจะทำให้คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญแต่ละครั้ง เป็นคำพิพากษาที่ออกภายใต้พระปรมาภิไธย

นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งที่เรารวบรวมมาอธิบาย ในวันรัฐธรรมนูญ ในช่วงที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ อยู่ระหว่างการอัพโหลด โดยเราเน้นที่ประเด็นการเข้าสู่อำนาจรัฐ ซึ่งเสร็จไปมากแล้ว และทั้งหมดนี้ คือสิ่งที่ประชาชนต้องรู้ เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะไม่ต้องผ่านสภาอะไรอีกแล้ว ทันทีที่ร่างเสร็จ เหลือเพียงกระบวนการเดียวก่อนประกาศใช้ คือ ขอประชามติ เห็นชอบ หรือ ไม่เห็นชอบ จากประชาชนทั้งประเทศ

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ