เร่งต่อยอดงานวิจัย “ฉายรังสีให้ยุงเป็นหมัน”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ชี้ปริมาณรังสีที่เหมาะสมในการฉายให้ยุงเป็นหมันอยู่ที่ประมาณ 60-70 เกรย์

 

 

นายวณิช ลิ่มโอภาสมณี ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ หรือ “สทน.” เปิดเผยว่า ยุงเป็นปัญหาระดับโลก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา การทำให้ยุงเป็นหมันเพื่อลดปริมาณยุงนั้น โดยหลักการมี 3 วิธี ได้แก่ 1. การตัดต่อพันธุกรรม ซึ่งขณะนี้มีบริษัทเอกชนที่อังกฤษ นำไปใช้และดำเนินการอยู่ในบราซิล 2. การใส่เชื้อแบคทีเรียในช่วงที่ยุงเป็นไข่ ทำให้ยุงที่ฟักออกมาหากเป็นตัวผู้จะเป็นหมันทันที แต่ถ้าเป็นตัวเมียก็จะเป็นพาหะ ที่เมื่อไปผสมพันธุ์อาจจะเป็นหมันในรุ่นต่อไป เทคนิคนี้ใช้อยู่ในประเทศจีนและออสเตรเลีย และ 3. การฉายรังสีเพื่อในยุงเป็นหมัน ปัจจุบันเริ่มมีการใช้เทคนิคนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส และสำหรับในประเทศไทยนั้น เราเองก็มีความพร้อมในด้านนี้เช่นกัน

 

“ประเทศไทยถือว่าค่อนข้างโชคดี เพราะขณะนี้มีองค์ความรู้เบื้องต้น จากงานวิจัยอยู่แล้วบางส่วน สามารถอาศัยผลการวิจัยของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ “ไอเออีเอ” ที่ระบุว่าการใช้รังสีฉายยุงในปริมาณ 70 เกรย์ จะทำให้ยุงเป็นหมันมาต่อยอดได้ แต่ในทางปฏิบัติยังต้องทดลองเพิ่มเติม เพราะสายพันธุ์ของยุงและสภาพแวดล้อม อาจมีความแตกต่างกับประเทศอื่นๆ ปริมาณรังสีอาจจะต้องเปลี่ยนแปลงบ้าง ซึ่งขณะนี้ได้ทำการทดลองจนทราบปริมาณรังสีที่เหมาะสม ในการฉายให้ยุงเป็นหมันแล้ว โดยอยู่ที่ประมาณ 60-70 เกรย์ ซึ่งไม่แตกต่างจากผลวิจัยของไอเออีเอ”

 

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ อธิบายถึงขั้นการฉายรังสีว่า จะทำในช่วงที่ยุงเป็นดักแด้(ตัวโม่ง) โดยเลือกเฉพาะยุงตัวผู้มาฉายให้เป็นหมัน และเมื่อยุงออกมาเป็นตัวแล้วก็จะเป็นหมัน เมื่อไปผสมพันธุ์กับยุงตัวเมียในธรรมชาติ ก็จะไม่มีการวางไข่ ทำให้ตัดวงจรกรกำเนิดยุงในรุ่นต่อๆ ไป ปริมาณยุงที่มีอยู่ก็จะลดลง แต่สิ่งที่ต้องทดลองและศึกษาเพิ่มเติมคือ ระยะเวลาที่ต้องให้ยุงแข็งแรงหลังจากออกมาเป็นตัวเต็มไวก่อนปล่อยออกสู่ธรรมชาติ ความสามารถในการผสมพันธุ์ว่าสามารถแข็งขันก็ยุงที่อยู่ในธรรมชาติได้ดีเพียงใด ปริมาณยุงที่ต้องปล่อยออกสู่ธรรมชาติมากน้อยแค่ไหน และความถี่ในการปล่อยมีมากน้อยเพียงใด รวมไปถึงแหล่งปล่อยสู่ธรรมชาติที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถลดปริมาณยุงได้จริง

 

 

ด้าน ดร.พรเทพ นิศามณีพงษ์ ผู้อำนวยการ สทน. กล่าวว่า สถาบันฯ พร้อมสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญและห้องปฏิบัติการการฉายรังสี เพื่อฉายรังสียุงลายและร่วมทดสอบในขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้สามารถผลิตยุงลายที่เป็นหมันให้เพียงพอ ต่อการลดจำนวนยุงลายในธรรมชาติ และทำให้การเกิดโรคที่ยุงลายเป็นพาหะลดลง โดยจะรับผิดชอบในขั้นตอนการฉายรังสีให้ยุงลายเป็นหมัน เพราะมีโรงเลี้ยงแมลงและฉายรังสีแมลงขนาดใหญ่ พร้อมฉายรังสีแมลงหรือยุงในปริมาณมากๆ ซึ่งห้องปฏิบัติการฉายรังสีแห่งนี้ ได้รับการรับรองจากไอเออีเอ ให้เป็นห้องปฏิบัติการฉายรังสีในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย โดยก่อนหน้านี้ สทน. ได้ประสบความสำเร็จในการฉายรังสีแมลงวันผลไม้ จนสามารถพัฒนาพันธุ์แมลงวันผลไม้ที่เป็นหมัน ซึ่งเป็นพันธุ์เฉพาะของประเทศไทยได้

 

(การทำหมันยุงของ "ไอเออีเอ")

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ