สถาบันราชานุกูล เผย 1 ใน 3 ของเด็กไทย มีปัญหาพัฒนาการล่าช้า !?


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ชี้กลุ่มเด็กบกพร่องทางสติปัญญา เข้าไม่ถึงบริการทางการแพทย์ ส่งผลพัฒนาการภาษาและเข้าสังคมล่าช้า

 

          

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล (กรมสุขภาพจิต)

 

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล อธิบายว่า ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา เป็นภาวะที่ทำให้เกิดข้อจำกัดด้านสติปัญญา การเรียนรู้ และการปรับตัวในการดำรงชีวิตประจำวัน โดยทั่วไปพบบุคคลที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญา ร้อยละ 1-3 ของประชากร จากการศึกษาบ่งชี้ว่าบุคคลกลุ่มนี้มักพบปัญหาสุขภาพ และมีความต้องการในการดูแลสุขภาพและการช่วยเหลือในด้านต่างๆ รวมทั้งด้านการศึกษาเรียนรู้สูงกว่าบุคคลทั่วไป

แต่จากข้อมูลในปัจจุบันกลับพบว่า กลุ่มเด็กเหล่านี้เข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขเพียง ร้อยละ 8.4 และเข้าถึงโอกาสการศึกษาในระบบได้เพียง ร้อยละ 14 สาเหตุสำคัญเกิดจากปัญหาเศรษฐกิจเพราะครอบครัวมีรายได้ต่ำ และขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาการเรียนรู้ กระทรวงสาธารณสุขจึงให้ความสำคัญ ต่อการเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ และการพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญ ในการดูแลสุขภาพผู้มีความบกพร่องทางสติปัญญา และการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการดำรงชีวิตประจำวัน

ทั้งนี้ จากสถานการณ์พัฒนาการเด็กปฐมวัยที่มีอายุตั้งแต่ 0-5 ปี ของประเทศไทย พบว่าในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา 1 ใน 3 ของเด็กเล็กมีพัฒนาการล่าช้า ตัวเลขข้างต้นถือว่าเป็นอัตราที่สูงมาก โดยเด็กกลุ่มนี้จะมีพัฒนาการทางภาษาล่าช้า ถึง 20% ตามด้วยพัฒนาการทางปฏิภาณไหวพริบและการเข้ากับสังคมอีก 5%

พัฒนาการทั้ง 2 ด้านจะมีผลต่อระดับสติปัญญาหรือไอคิว ทำให้เด็กกลุ่มนี้มีปัญหาการเรียนรู้ทั้งด้านการอ่าน เขียนและคิดคำนวณได้ หากพบเด็กกลุ่มเสี่ยงที่มีพัฒนาการล่าช้าแล้ว มีการดูแลที่ดีด้วยความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัยในปัจจุบัน เด็กจะมีโอกาสพัฒนาได้ใกล้เคียงกับเด็กปกติ และพร้อมเข้าสู่ระบบการเรียนในระบบการศึกษาได้

ด้าน นางสาวชิเอโกะ คาจิซาวา ผู้บริหาร Japan International Cooperation Agency (JICA) กล่าวว่า JICA และ Kumamoto University ได้ให้การสนับสนุนด้านการศึกษา แก่บุคลากรผู้ให้บริการในด้านนี้แก่ประเทศไทย จำนวน 68 ราย ณ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้นำความรู้มาปรับใช้กับผู้บกพร่องทางพัฒนาการ และสติปัญญาให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย โดยมีโปรแกรมการอบรมจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์สูง จากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับโลกของญี่ปุ่น เช่น Tokyo University of Social Welfare และ Kumamoto University Hospital ทั้งนี้ คาดว่าจะส่งผลต่อการพัฒนาเด็กที่มีความบกพร่องทางพัฒนาการ และสติปัญญาในประเทศไทยได้ไม่น้อยกว่า 3,000 ราย อีกทั้งยังหวังว่าจะมีการขยายผลเผยแพร่ความรู้สู่หน่วยบริการอื่นๆ ต่อไปในอนาคต

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ