“การบริหารสื่อยุคใหม่”..โจทย์หิน ท้าทายผู้นำทีวีดิจิทัล


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สารพัดปัญหาต่างเดินหน้ากระหน่ำผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล จนบางรายยอมถอนตัวออกจากวังวนของทีวีดิจิทัล บางรายลดจำนวนพนักงาน ปรับผังองค์กรให้เหมาะสมกับสมรภูมิการแข่งขันทีวีดิจิทัลที่สูง หลักสำคัญอยู่ที่ผู้บริหารแต่ละช่อง ที่ไม่มีใครยอมใคร ต่างผลิตกลยุทธ์ออกมาสู้เพื่อหวังครองใจประชาชนให้ได้มากที่สุด

แต่ทว่าแค่เพียงคิดคอนเทนต์ดีๆ เพื่อมาดึงดูดใจผู้ชมอย่างเดียวคงไม่พอ แต่ยังมีปัญหาอื่นๆ ที่เหล่าผู้บริหารต้องปรับกระบวนท่า แก้ไขร้อยแปดปัญหาของทีวีดิจิทัลที่ผู้ประกอบการต่างประสบในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา 

 


ล่าสุดวันนี้  (12 มี.ค. 59 ) ได้มีการจัดเสวนา เรื่อง “ความท้าทายการบริหารสื่อยุคใหม่” โดยมี คุณเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีโทรทัศน์ PPTV คุณพิชาย ชื่นสุขสวัสดิ์ บรรณาธิการอำนวยการ บริษัทโพสต์พับลิชชิง จำกัด (มหาชน) และ คุณพีระวัฒน์ โชติธรรมโน ผู้อำนวยการฝ่ายบรรณาธิการ สถานีโทรทัศน์ ไทยรัฐทีวี  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง (บสส.) รุ่นที่ 6 เพื่อสะท้อนปัญหาของผู้บริหารทีวีดิจิทัล ที่ต่างยอมรับว่าทุกวันนี้ความท้าทายที่ต้องเผชิญหน้าอยู่หลายปัจจัย


คุณเขมทัตต์ สะท้อนว่า สำหรับความท้าทายของการบริหารสื่อยุคใหม่นั้น ตนได้แบ่งเป็น 6 ข้อหลักๆ อย่างแรก คือ เรื่องวิสัยทัศน์ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เรื่องที่สองคือเรื่องของบุคลากร เมื่อก่อนทีวี มีเพียงไม่กี่ช่อง พอขยายเป็น 24 ช่อง ก็ทำให้บุคลากรไม่เพียงพอ และส่วนใหญ่ยังขาดประสบการณ์ความรู้หรือทักษะบางอย่าง พอทำงานได้สักพัก ก็จะย้ายไปที่อื่น ทำให้คนไม่พอ และทักษะที่มีไม่พอ ต้นทุนก็เพิ่มไปด้วย ซึ่งเรื่องนี้จะสัมพันธ์กับเรื่องของวิสัยทัศน์ หากผู้บริหารมีวิสัยทัศน์ที่ดี แต่บุคลากรร่วมกันพาไปถึงความสำเร็จไม่ได้ จะทำอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ต้องมานั่งครุ่นคิด ส่วนเรื่องที่ 3 นั้น เป็นเรื่องของเทคโนโลยี หลังจากที่ประมูลแล้ว แทนที่สามารถเข้าถึงทีวิดิจิทัลได้เลย แต่ผ่านมาเกือบ 2 ปี แล้ว ประชาชนบางส่วนก็ยังไม่สามารถที่จะเข้าถึงทีวีดิจิทัลได้เลย ต่างจากการประมูล 4G ที่ผ่านมาไม่นานนี้ มีการเข้าถึงประชาชนได้ง่าย และรวดเร็ว ทำให้ประชาชนรับชมผ่านช่องทางอื่นๆ มากขึ้น ทางผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล จึงต้องมีสื่ออื่นๆ เข้ามาเสริมมากขึ้น ถัดมาคือเรื่องของทุน ก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องนำมาเพื่อใช้การดำเนินธุรกิจให้เดินหน้าต่อไป แต่เพียงแค่เปิดทีวีดิจิทัลไปเพียง 2 ปี ก็มีผู้ประกอบการที่ปิดไปแล้ว เรื่องนี้ก็เป็นอีกปัญหาสำคัญของการทำทีวีดิจิทัล 

 

ผู้บริหาร PPTV เล่าต่อว่า เรื่องที่ 5 คือเรื่องกฎหมาย สื่อออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นทุกวันนี้ ต้องมีการมาคุยเรื่องกรอบจริยธรรมและจรรยาบรรณมากขึ้น จรรยาบรรณก็ไม่เหมือนกับจริยธรรม จรรยาบรรณคือกรอบที่ทำให้เป็นไปตามครรลองของสังคม แต่จริยธรรมมันอยู่ในตัวของคนทำสื่อ ถ้าสื่อบอกว่ามีจรรยาบรรณแล้ว แล้วจริยธรรมคุณมีหรือเปล่า นี่คือประเด็นที่ต้องมานั่งถกเถียงกันและต้องสร้างความแตกต่างให้ได้ และสุดท้าย คือเรื่องของความเร็ว เรื่องนี้จะเกี่ยวพันกับ 5 ข้อที่ผ่านมา อย่างพีพีทีวีเราเคยวางแผน หลังจากประมูลมาแล้ว แต่ละปีจะมีแผนทำอะไรบ้าง แต่พอมาเริ่มทำจริงๆ มันเปลี่ยนแปลงไปหมด ซึ่งแต่ละสื่อจำเป็นต้องหาความแตกต่าง ให้ได้ 

 

สำหรับปีนี้ “พีพีทีวี” ได้มีการพยายามก้าวข้ามปัญหานั้น คือเราประกาศเป็นปีของ Partnership & Engagement เรามองว่าเมื่อสื่อโซเชียลเข้ามา เราต้องเข้าให้ถึงกลุ่มของคนเหล่านั้น เพื่อให้สามารถแข่งขันกับตลาดได้ เราจะเอาพาร์ทเนอร์มาช่วย เพราะเราไม่ได้เก่งทุกเรื่อง เรื่องนี้สำคัญมาก และตัวที่เป็นตัวชี้วัดของพวกเราคือระบบเรตติ้ง ซึ่งตอนนี้ยังเป็นระบบเก่า เมื่อระบบเรตติ้งยังไม่เอื้ออำนวย เราก็ต้องหาช่องทางเข้าถึงอย่างทีวีดาวเทียม เคเบิ้ลทีวี หรือไลน์ทีวี ที่มีการนำละครลงไปฉายในไลน์ทีวี ถึงแม้เรตติ้งน้อยมาก แต่เมื่อเอาไปลงในไลน์ทีวีกลับมีคนชื่นชม เราต้องสร้างความแตกต่างและหาจุดขาย ก็เป็นช่องทางที่จะทำให้เกิดความสำเร็จได้ 

ขณะที่ คุณพีระวัฒน์ มองว่า  ความท้าทายของการบริหารสื่อยุคใหม่ เราต้องเท่าทันกับสิ่งที่เกิดขึ้น และที่กำลังจะเกิดในอนาคต   หลังจากการประมูล 4G จบเพียงไม่กี่เดือน ความเร็วของเน็ตเวิร์กเพิ่มขึ้นมา และคอนเทนต์ที่ถูกผลิตออกไปนั้นไม่ทัน และไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค เมื่อการเข้าถึงสื่อโซเชียลมีเดีย ถูกเพิ่มเติมขึ้นจากคนรุ่นใหม่ และคนรุ่นเก่าก็หันมาใช้มากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ทีวีดิจิทัลกลายเป็นเพียงหนึ่งช่องทางในการออกอากาศเท่านั้น

 

 

นอกเหนือจากแอพพลิเคชั่นที่เปิดตัวขึ้นมา และคนที่ถือเครือข่ายอยู่ ก็เริ่มคิดที่จะหันมาผลิตคอนเทนต์เอง หรืออย่างเช่นไลน์ เหล่านี้กลายเป็นคู่แข่งของผู้ผลิตทีวีดิจิทัลทั้งสิ้น เราจะเห็นช่องทางในการออกอากาศของหลายๆแห่งเกิดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว โครงสร้างกองบรรณาธิการออนไลน์ถูกปรุงขึ้นมา เพื่อป้อนในเรื่องนิวมีเดีย หรือปรับเปลี่ยนให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น แต่สุดท้ายก็ยังไม่เพียงพอ ต่อความต้องการของผู้เสพสื่อ และมีการคาดว่าสิ่งที่เกิดจะเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 3-4 จะเร็วมาก ใครที่หยิบฉวยไม่ทันก็อาจจะตกกระแส นี่คือความท้าทายของการผลิตสื่อ เราไม่สามารถที่จะยึดติดกับสื่อใดสื่อหนึ่งได้แล้ว และคอนเทนต์ก็ไม่สามารถอยู่ในช่องทางเดียวได้อีกต่อไปแล้ว ซึ่งผู้บริโภคแต่ละคนจะเสพสื่อไม่เหมือนกัน ก็เป็นอีกความท้าทายหนึ่งที่เกิดขึ้น

 

“การผลิตข่าวก็เหมือนโรงงานอุตสาหกรรม ตอนแรกเราวางการผลิตไว้อีกแบบหนึ่ง สุดท้ายสายพานการผลิตก็ต้องถูกเปลี่ยนสายพายการผลิตใหม่ ข่าวทั้งหมดที่เข้ามาก็จะถูกจัดส่งตามสายพานต่างๆ เพื่อส่งไปยังปลายทางว่าเป็นรองเท้า เป็นเสื้อ เป็นกางเกง สายพานการผลิตทั้งหมดสามารถเปลี่ยนได้หมดเพื่อให้สอดคล้องกัน คอนเทนต์ในปี 2559 นั้นจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนให้ตรงกับความต้องการ”  ผู้อำนวยการฝ่ายบรรณาธิการ ไทยรัฐทีวี เปรียบเทียบ 


ไม่ต่างจาก คุณพิชาย ที่บอกว่า จากมุมมองของสื่อสิ่งพิมพ์ นั้นต้องมีการปรับตัวค่อนข้างมาก และมีการปรับตัวมานานแล้ว โดยปัญหาที่เจอนั้นก็คือรายได้ไม่เข้าตามเป้า ยอดขายหนังสือลดลง แต่คนอ่านเยอะมากขึ้น หลายๆ ที่ก็มีการปรับตัวโดยใช้เฟซบุ๊ก โซเชียลมีเดียอื่นๆ ในการเข้าถึง ผู้อ่านก็เข้าถึงได้มากขึ้น แต่ปัญหาคือรายได้ไม่เข้า รายได้ไม่เพียงพอ นักข่าวต้องปรับตัวในการส่งข่าวทางออนไลน์ เพื่อให้แตกต่างจากหนังสือพิมพ์ และมีคนที่ใช้มือถือหรือสมาร์ทโฟน มากขึ้นเรื่อยๆ จะหวังพึ่งเพียงแค่สื่อเดียวในการสื่อสารกับประชาชนไม่ได้แล้ว 

นี่คือส่วนหนึ่งของความคิดของเหล่าผู้บริหาร ที่ต้องมีการวางแผนและคิดกลยุทธ์หลายตลบ เนื่องจากหลายปัจจัยที่ประสบนั้น อาจไม่ใช่สิ่งที่คิดไว้แต่แรก แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วพวกเขาจำต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคและความท้าทาย ที่ถาโถมเข้ามาอยู่เรื่อยๆ ที่ไม่มีใครรู้ว่าในอนาคต ใครจะอยู่ ใครจะรอด หรือใครที่ต้องถอนตัว ในสมรภูมิสงครามทีวีดิจิทัล...

 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ