ความตายของ “ทหารเกณฑ์”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




การตายของพลทหารทรงธรรม หมุดหมัด ทหารเกณฑ์สังกัด ร.152 พัน 1 ค่ายพยัคฆ์ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ที่ถูกทำโทษเนื่องจากกระทำความผิดทางวินัย จนบาดเจ็บสาหัส และมาเสียชีวิต ที่โรงพยาบาลยะลาเมื่อวานนี้กลายเป็นประเด็นร้อน ที่สั่นคลอนภาพลักษณ์ของกองทัพพอสมควร เรื่องนี้ ญาติของผู้ตาย ยืนยันจะต่อสู้คดีอย่างถึงที่สุด และค่อนข้างกังวลเกี่ยวกับความเป็นธรรมที่จะได้รับ ขณะที่กองทัพบก และรัฐบาล ยืนยัน นี่ไม่ใช่แนวทางการฝึกทหารของกองทัพ หนึ่งในพลทหาร ที่ถูกทำร้ายในเหตุการณ์เดียวกันนี้ เล่าเหตุการณ์ไว้ด้วย

คำให้การของพลทหารฉัตรภิศุทธิ์ ชุมพันธ์ ที่เล่าอ้างว่า ได้รับบาดเจ็บจากการถูกทำร้าย เขาเล่าว่า เหตุเกิดเมื่อวันที่ 1 เมษายน มีนายสิบทหารคนหนึ่งที่เข้าไปภายในห้องพักของ พลทหารทรงธรรม และพลทหารฉัตรภิศุทธิ์ หลังจากนั้น พลทหารทรงธรรม พบว่า เงินจำนวนหนึ่งหายไปจากห้อง จึงขอตรวจค้นตัวของนายสิบทหารคนหนึ่ง และเกิดการชกต่อยกันก่อนที่จะมีทหารคนอื่นมาห้าม และแยกย้ายกันไป

หลังจากนั้น เวลาประมาณ 20 นาฬิกา พลทหารทรงธรรม และพลทหารฉัตรภิศุทธิ์ ถูกนำตัวเข้าไปภายในกองพัน และนายทหารผู้ดูแลขณะนั้น เรียกทหารในกองร้อยมารวมตัวกัน และรุมทำร้ายร่างกาย ทั้งเตะต่อย ตีด้วยของแข็ง ใช้เทียน และน้ำตาเทียนลนตามร่างกาย  

พลทหารฉัตรภิศุทธิ์ ยังคงพักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี  โดยพบแผลตามใบหน้า หลัง และมีรอยถูกเทียนไขลนหลายแห่ง

ด้านแม่ของพลทหารฉัตรภิศุทธิ์ บอกว่า ทันทีที่เห็นสภาพลูกชาย รู้สึกตกใจ และรับไม่ได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และต้องการให้ดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุให้ถึงที่สุด

ส่วนที่จังหวัดยะลา ที่พลทหารทรงธรรมเสียชีวิต นางจิตรา ช่อมณี  มารดาของพลทหารทรงธรรม เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับ ร้อยตรี ภัฏณัท เลิศชัยกุล สิบโทภษิติ  ชาลก สิบโทภัทร เพชรรัตน์ สิบโทอัศนัย ไชยปาญยุทธ สิบตรีณัฐวุฒิ เชิคแสง และสิบตรีจักพงษ์ สังข์มูล ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกาย พลทหารทรงธรรม จนเสียชีวิต พร้อมขอให้กองทัพ ให้ความเป็นธรรม

เวลา 11 นาฬิกา นางจิตรา นำศพ พลทหารทรงธรรม ไปยัง วัดคงคาวดี  อ.สิชล  จ.นครศรีธรรมราช โดยยังไม่ได้กำหนดวันฌาปนกิจ สำหรับ พลทหารทรงธรรม  หมุดหมัด นั้น  รับราชการเป็นทหารกองประจำการ ตั้งแต่ ปี 2555 และปลดประจำการ  เมื่อปี 2557 และได้สมัครเป็นพลทหารต่อ ในปี 2558 โดยอยู่วาระปีต่อปี  จนมาถูกทำร้ายจนเสียชีวิตดังกล่าว

แน่นอนว่า หลังเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ คำถามมากมายถาโถมมาที่กองทัพบก และรัฐบาล ซึ่งมาจากทหารเช่นกัน และทางกองทัพ ก็รีบออกมาชี้แจงทันที โดยยืนยัน ว่าการทำร้ายร่างกาย ไม่ใช่แนวทางการฝึกทหารเกณฑ์ของกองทัพ พร้อมยืนยันว่า เตรียมดำเนินคดีอาญา กับทหารที่ทำร้ายพลทหารแล้ว ส่วนนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ประกาศ ชัดเจน ถ้าผิดจริง ต้องถูกปลดและถูกดำเนินคดี

หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ นายกรัฐมนตรี คือตำแหน่งที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นายกรัฐมนตรี ย้ำชัดว่า เป็นนโยบายเด็ดขาดที่ห้ามทำร้ายทหารเกณฑ์

ในสมัยที่เป็นผู้บัญชาการทหารบก พลเอกประยุทธ์ ยังเคยออกคำสั่งห้ามถูกเนื้อต้องตัวในการฝึกทหารไว้ด้วย หลังเกิดเหตุพลทหารวิเชียร เผือกสม นักศึกษาปริญญาโทที่มาสมัครเป็นทหาร ถูกทำร้ายจนเสียชีวิต ตั้งแต่ 5 มิถุนายน 2554 แต่เรื่องมาถูกเปิดเผยในช่วงที่พลเอกประยุทธ์เป็นผู้บัญชาการทหารบก

พันเอกวินธัย สุวารี โฆษก คสช. ยืนยันว่าพลเอกธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก มีนโยบายให้ทุกหน่ยต้องปฏิบัติตามระเบียบในพระราชบัญญัติวินัยทหาร ปี 2476 หากทำนอกเหนือจากนั้น ต้องถูกลงโทษ

ทีมข่าว PPTV ตรวจสอบกับ พันเอกปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนายการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งว่า ทหาร 7 นาย เป็นนายทหาร 1 นาย และนายสิบ 6 นาย ที่ถูกกล่าวหาว่าทำร้ายพลทหารทรงธรรม และพลทหารฉัตรพิศุทธิ์ ถูกสั่งขังไว้แล้ว ที่มณฑลทหารบกที่ 46 โดยคำสั่งของผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15

โดยนายทหารยศร้อยตรี ถูกสั่งขังเบื้องต้น 30 วัน ส่วนนายสิบ 6 คน ถูกสั่งขัง 45 วัน และอยู่ระหว่างตั้งข้อหากับพนักงานสอบสวน ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนถึงแก่ชีวิต

จากคำชี้แจงของกองทัพ จะเห็นว่า มีคำที่กล่าวอ้างถึง กฎหมายของทหาร ที่เรียกว่า พรบ.ว่าด้วยวินัยทหาร 2476 ในกฎหมายฉบับนี้ มีคำตอบที่ค่อนข้างชัดเจนมากว่า แนวปฏิบัติในการฝึกทหาร เป็นอย่างไร การกระทำที่ผิดวินัยเป็นอย่างไร และ การลงโทษ ทำอะไรได้บ้าง

ในกฎหมายฉบับนี้ มาตรา 5 ระบุสิ่งที่เป็น การกระทำผิดวินัยทหารไว้ แต่หากเป็นความผิดทางอาญาอื่น เช่นความผิดฐานยาเสพติดตามที่กล่าวอ้างไว้ก่อนหน้านี้ ก็ต้องส่งไปดำเนินคดีตามกฎหมาย

5 ข้อนี้ คือ แนวทางการลงโทษ ที่ทหารสามารถทำได้ ในการฝึกทหารใหม่ มีแค่ 5 ข้อนี้เท่านี้ ข้อ 1 คือโทษตักเตือน หรือ ทำทัณฑ์บน กรณีเป็นความผิดครั้งแรก หรือความผิดสถานเบา ข้อ 2 ทัณฑกรรม คือการลงโทษ ก็สามารถใช้เป็นคำสั่งเท่านั้น ไม่สามารถถูกตัว แตะต้องร่างกายได้ ข้อ 3 โทษ กักบริเวณ  ข้อ 4 ถ้าทำผิดรุนแรง สามารถสั่งขัง อยู่ในที่ควบคุม ภายในค่าย และถ้าเป็นความผิดร้ายแรง หรือ ถูกดำเนินคดี ก็จะส่งไปขังในการควบคุมของศาลทหาร

จะเห็นชัดว่า จากแนวปฏิบัตินี้ การลงโทษทุกวิธีการ ไม่อนุญาตให้แตะต้องเนื้อตัวกลุ่มทหารเกณฑ์โดยเด็ดขาด ส่วนวิธีการฝึก ที่มีคำกล่าวอ้างว่าต้องการให้อดทน ด้วยการทรมาน ไม่ใช่วิธีฝึกทหารเกณฑ์ อาจมีการฝึกเช่นนั้น ในกลุ่มทหารหน่วยรบพิเศษ ที่รู้ข้อมูลสำคัญทางยุทธวิธี

เมื่อย้อนกลับไปในปี 2554 คือ เหตุการณ์ล่าสุด ที่ถูกเปิดเผยว่า มีทหารถูกซ้อมจนเสียชีวิต พลทหารวิเชียร เผือกสม นักศึกษาปริญญาโท ที่มาสมัครเป็นทหาร เสียชีวิตเมื่อ 5 มิถุนายน 2554 จากการถูกทำร้ายโดย ทหาร 10 คน ในค่ายกองพันพัฒนาที่ 4 จังหวัดนราธิวาส

โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยกับ PPTV ว่า คดีของพลทหารวิเชียร ขณะนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ หรือ ปปท. ชี้มูลความผิดกลุ่มทหารที่ทำร้ายพลทหารวิเชียรแล้ว อยู่ระหว่างส่งให้อัยการสั่งฟ้อง ในคดีอาญา ส่วนโทษทางวินัย ก็คือ การสั่งสำรองราชการ เพื่อให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ