เปิดเคล็ดลับพลิกฟื้นพื้นที่แห้งแล้งให้อุดมสมบูรณ์


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ส่องความสำเร็จ 4 ชุมชนต้นแบบบริหารจัดการน้ำ “เพาะปลูกยั่งยืน” - “ยกระดับคุณภาพชีวิต”

การสูญเสียพื้นที่ป่าไม้จำนวนมากของประเทศไทย ประกอบกับสภาพภูมิอากาศโลกที่แปรปรวน อันเป็นผลกระทบมาจากภาวะโลกร้อน ทำให้ขณะนี้หลายพื้นที่ทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย ต้องประสบกับปัญหาฝนไม่ตกตามฤดูกาล จนพืชผลทางการเกษตรเสียหายอย่างนัก เนื่องจากขาดแคลนน้ำสำหรับล่อเลี้ยงลำต้น

ในทางปฏิบัติแม้ว่าปัญหาภัยแล้ง จะดูเป็นเรื่องใหญ่เกินกำลังของชาวบ้านธรรมดา แต่ภาพความสำเร็จจากพื้นที่นำร่องบริหารจัดการน้ำชุมชน ซึ่งล่วนมีแต่ชาวบ้านในพื้นที่เป็นกำลังหลัก สะท้อนให้เห็นว่าการพลิกฟื้นผืนดินอันแห้งแล้ง ให้เปลี่ยนมาเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินความสามารถของชาวชุมชน 

พิชาญ ทิพวงษ์ ชาวชุมชนป่าภูถ้ำ ภูกระแต (บ้านป่าเป้ง-บ้านโน้นศิลา) จ.ขอนแก่น ยืนยันว่า พลังของชาวบ้านที่ร่วมมือร่วมใจกัน สำรวจพื้นที่เพื่อจัดทำข้อมูลแหล่งน้ำของชุมชน คือหัวใจสำคัญที่ทำให้ชุมชนของพวกเขามีความมั่นคงทางแหล่งน้ำ สามารถเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรได้อย่างยั่งยืน 

“ก่อนหน้าที่ชาวบ้านจะหันมาสำรวจพื้นที่ เพื่อจัดทำข้อมูลผังบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่ประสบปัญหาแล้งซ้ำซากมาโดยตลอด ฤดูแล้งชาวบ้านไม่มีน้ำสำหรับเพาะปลูก พอเข้าฤดูฝนน้ำก็ท่วมเต็มพื้นที่”

เขาเล่าว่า หลังจากทุกคนช่วยกันสำรวจพื้นที่ และพบว่าสภาพทั่วไปเป็นที่ราบแหล่งน้ำไม่เชื่อมต่อกัน ชาวบ้านจึงช่วยกันขุดคลองดักน้ำหลาย เชื่อมต่อโครงสร้างน้ำเดิมที่มีอยู่ในพื้นที่ นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาน้ำหลากแล้ว ยังเพิ่มน้ำกักเก็บได้มากขึ้นกว่า 1.8 แสน ลบ.ม. ช่วยให้หมู่บ้าน 9 แห่ง ในพื้นที่ 4 ตำบล ได้รับประโยชน์ร่วมกัน 

ไม่ต่างจาก สนิท ทิพย์นางรอง ชาวชุมชนบ้านลิ่มทอง จ.บุรีรัมย์ ที่ยอมรับว่าก่อนหน้าที่ชาวบ้าน จะหันมาช่วยกันทำแผนบริหารจัดการน้ำ ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมา ในพื้นที่ที่เธออาศัยอยู่แห้งแล้งมาโดยตลอด แม้ว่าจะมีพื้นที่กักเก็บน้ำแต่เพราะชาวบ้านไม่มีความรู้ ทำให้ทุกปีในช่วงฤดูแล้งในอ่างแก้มลิงไม่เหลือน้ำกักเก็บ 

แต่หลังจากที่ทุกคนมีองค์ความรู้ และได้ช่วยกันจัดทำผังจัดการน้ำในพื้นที่ พร้อมทั้งขุดคลองดักน้ำเชื่อมต่อกับสระแก้มลิง และสระน้ำประจำไร่นากว่า 100 สระ ทำให้ในพื้นที่มีน้ำกักเก็บเกือบ 1.5 ล้าน ลบ.ม. ช่วยให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 2.6 เท่า จากการปลูกพืชหมุนเวียนตลอดทั้งปี 

เช่นเดียวกับ จักรพงษ์ มงคลคีรี ชาวชุมชนห้วยปลาหลด จ.ตาก ที่ชี้ว่าการจัดทำผังบริหารจัดการน้ำชุมชน ช่วยให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้นหลายเท่า เพราะทุกวันนี้ชาวห้วยปลาหลด มีรายได้จากการค้าขายในตลาดสินเกษตรมูเซอ จากการปลูกพืชหมุนเวียนตามฤดูกาลได้ตลอดทั้งปี เฉลี่ยเดือนละ 20,000 - 35,000 บาท

ขณะที่ ปกิต ทนุผล ชาวชุมชนทันคริสต์ จ.สุราษฎร์ธานี เล่าถึงบทเรียนสำคัญในอดีต หลังจากรัฐสร้างอ่างเก็บน้ำคลองบางทรายนวลเสร็จสิ้น ชาวบ้านต่างดีใจว่ามีน้ำสำหรับบรรเทาภัยแล้ง แต่การปล่อยน้ำโดยขาดการวางแผน ทำให้น้ำที่มีมากถึง 2 ล้าน ลบ.ม. หมดอ่างในระยะเวลาเพียงเดือนเดียว เหตุการณ์ในครั้งน้ำทำให้ชาวชุมชนตระหนักถึงความสำคัญ ของการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยปัจจุบันได้มีการนำเอาการทำระบบสระพวงสำรองน้ำมาใช้ในพื้นที่ ช่วยให้สมาชิกทั้ง 165 ราย มีน้ำใช้ในช่วงฤดูแล้ง สามารถบรรเทาความเสียหายจากภาวะฝนทิ้งช่วง ครอบคลุมพื้นที่ 170 ไร่ ลดความเสียหายได้เกือบ 14 ล้านบาท 

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ