ทวงคืน ค่าโง่ คลองด่าน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




การออกมาพูดในเวทีสาธารณะครั้งแรก ของอดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ผู้ที่เป็นคนยกเลิกสัญญาโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน และทนายความที่ทำคดีนี้ในช่วงแรก ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นจำเลย ที่ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้ที่ทำให้รัฐต้องจ่าย “ค่าโง่” ทั้งที่โครงการนี้ มีค่าโง่ มาก่อนแล้ว และที่สำคัญคือ มีข้อมูลมากมาย ที่บ่งบอกว่า “เอกชน” เป็นฝ่ายผิดสัญญาก่อน

ประเด็นสำคัญ ที่นายอภิชัย ต้องตัดสินใจยกเลิกสัญญาโครงการบ่อบำน้ำเสียคลองด่าน กับกิจการร่วมค้า NVPSKG คือ หลักฐานที่คณะกรรมการของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้ให้เห็นว่า เอกชน เป็นฝ่ายทำผิดสัญญาก่อน เพราะพบว่า ก่อนจะทำสัญญา บริษัท นอร์ทเวสต์ อินเตอเนชั่นแนล จากอังกฤษ ขอถอนตัวออกไป โดยมีหลักฐานยกเลิกหนังสือมอบอำนาจ ในขณะเดียวกับที่หากไม่ยกเลิกสัญญาในเวลานั้น กรมควบคุมมลพิษ ก็จะถูก NVPSKG ฟ้องอยู่ก่อนแล้ว 6 พันล้านบาท ในข้อหาที่ไม่อำนวยการให้เอกชนเข้าไปทำงานที่เหลือได้ เพราะถูกชาวบ้านต่อต้าน ทั้งที่งานเสร็จไปแล้ว 98 % คำถามใหญ่ที่ตามมา คือ ในเมื่อมีหลักฐานชัดเจน ทำไมการต่อสู้ทางกฎหมายของฝ่ายรัฐ จึงนำไปสู่การจ่าย ค่าโง่ หนึ่งหมื่นล้านบาท

ทนายความที่ทำคดีนี้เป็นคนแรก เป็นทนายเอกชน คนแรกที่ว่าความให้หน่วยงานรัฐ เพราะในขณะนั้น มีเอกสารในสัญญาเยอะมาก ที่เป็นภาษาอังกฤษล้วน และอัยการก็ไม่มีเวลาตรวจสอบ ทางกรมควบคุมมลพิษ จึงตัดสินใจจ้างทนายความเอกชน ก่อนจะหมดอายุความ และทำคดีเรื่อยมา จนชนะคดีอาญา ที่ฟ้องเอกชน ฐานฉ้อโกงสัญญา และฉ้อโกงที่ดิน แต่สถานการณ์เปลี่ยนไป เมื่อเปลี่ยนรัฐมนตรีและเปลี่ยนอธิบดี ซึ่งนำไปสู่ การขอเปลี่ยนตัวทนายความ โดยกรมควบคุมมลพิษถึงขนาดขอเปลี่ยนตัวทนายกลางศาล และเมื่อเปลี่ยนก็จ้างทนายเอกชนรายอื่นมาทำแทน

เมื่อเปลี่ยนตัวทนายความ ต่อมากรมควบคุมมลพิษ แพ้คดีในอนุญาโตตุลาการ โดยนายณกฤช เศวตนันทน์ ทนายคนเดิม ตั้งข้อสังเกตว่า ในระหว่างที่สู้คดีในอนุญาโตตุลาการ จนกระทั่งแพ้คดี และต้องจ่ายค่าโง่หนึ่งหมื่นล้านบาท ฝ่ายกฎหมาย ของกรมควบคุมมลพิษ ได้ส่งคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ที่ตัดสินว่าเอกชนฉ้อโกงสัญญาแนบให้อนุญาโตตุลาการหรือไม่ แม้ในภายหลัง คดีนี้ศาลจะกลับคำตัดสินในชั้นอุทธรณ์ แต่ผลของอนุญาโตตุลาการ ออกมาก่อน ที่ศาลจะตัดสินในชั้นอุทธรณ์

นอกจาก 2 ประเด็นที่กล่าวมา อดีตทนายความ ที่ว่าความให้กรมควบคุมมลพิษในคดีนี้ ยังตั้งคำถามว่า วันที่ เอกชนนำคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ ที่ตัดสินให้รัฐต้องจ่ายค่าโง่ ไปยื่นต่อศาลปกครอง ทำไมฝ่ายรัฐ จึงไม่คัดค้าน เพราะตอนที่เอกชน ยื่นศาลให้บังคับกรมควบคุมมลพิษตั้งอนุญาโตตุลาการ เป็นการยื่นต่อศาลแพ่ง แต่เมื่อยื่นคำวินิจฉัย กลับยื่นต่อศาลปกครอง  รัฐจึงควรคัดค้านเรื่องเขตอำนาจศาล เขาวิเคราะห์ว่า ที่เอกชนไม่ยื่นต่อศาลแพ่ง เพราะจะทำให้คดี ไปผูกกับคดีอาญา ที่เอกชนถูกฟ้องฉ้อโกง

อีกประเด็น ที่ถูกตั้งข้อสังเกตอย่างมาก คือ ประเด็นที่มีคำพิพากษาจำคุก 2 อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และหนึ่งข้าราชการระดับสูงว่า ทุจริต โครงการนี้ ถือเป็นหลักฐานใหม่ที่มีน้ำหนัก เพราะศาลให้ความเห็นประกอบว่า เอกชนเกี่ยวข้องกับการทุจริตของ 3 คนนี้ จึงถามต่อว่า ฝ่ายรัฐ ได้นำคดีนี้ไปขยายผล เช่น ยื่นให้ศาลปกครองพิจารณาใหม่ หรือไม่ เพื่อจะไม่ต้องจ่าย “ค่าโง่”

ในวงเสวนาวันนี้ ได้ข้อสรุปประเด็นใหญ่ที่น่าสนใจ นั่นคือ แนวทางที่ไม่ต้องจ่ายค่าโง่ คลองด่าน หมื่นล้านโดยสรุปได้ 3 แนวทาง ทั้ง 3 ทางมีปัจจัยสำคัญอยู่ที่คำพิพากษา ต่ออดีตข้าราชการกรมควบคุมมลพิษทั้ง 3 คน ซึ่งจะมีผลต่อคดีอื่นๆตามมาคือ

1 รอคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดีอาญา ที่กรมควบคุมมลพิษ ฟ้องเอกชนว่าฉ้อโกง โดยมีคดีข้างต้นเป็นหลักฐานใหม่

2. ยื่นให้ศาลปกครองพิจารณาคดีที่แพ้ในอนุญาโตตุลาการใหม่ โดยใช้คดีข้างต้น เป็นหลักฐานใหม่

3. ฟ้องทางแพ่งเรียกค่าเสียหายต่อเอกชน และฟ้องทางละเมิก โดยอิงจากคำพิพากษาคดีข้างต้น ว่าเอกชน มีส่วนสนับสนุนนเจ้าพนักงานกระทำความผิด

ทั้งหมดนี้ เป็นข้อมูลเบื้องหลัง ที่มาของ “ค่าโง่” หมื่นล้าน จากบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านซึ่งถูกเปิดเผยเป็นครั้งแรก จากผู้ที่เกี่ยวข้อง 2 คนในเหตุการณ์ และกลายเป็นแพะอยู่ในขณะนี้ ลองพิจารณากันว่าที่เสียค่าโง่เพราะแพ้ทางกฎหมาย หรือ ไม่ใช้ช่องทางกฎหมายอย่างเต็มที่และแท้จริงแล้ว ไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้ว นอกจากจ่ายค่าโง่ จริงหรือไม่

ยังมีคำถามด้วยว่า แล้ว 4 พันล้านบาท ที่จ่ายไปแล้ว จะทำอย่างไร หลัง ป.ป.ง.สั่งอายัดไม่ให้จ่ายรอบที่เหลือ

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ