กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คอนเฟิร์ม.. โอกาส “สไตรีนในกล่องโฟม” หลุดออกมาปนเปื้อนอาหารน้อยมาก


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยันโอกาสที่ “สไตรีน” จะหลุดออกมาปนเปื้อนอาหารน้อยมาก แต่ไม่แนะนำให้ใส่อาหารร้อนจัดเกิน 80 องศาฯ เพราะจะทำให้โฟมละลายหรือเสียรูปทรง ชี้ปัญหาสำคัญคือกำจัดยากและส่งผลต่อโลกร้อน

กรณี ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า "กล่องโฟม ไม่ได้อันตรายต่อสุขภาพ" โดยอธิบายว่ากล่องโฟมหรือภาชนะโฟมที่เราใช้กันนั้น เรียกว่าเป็น โพลีสไตรีน ซึ่่งเป็น โพลีเมอร์ของสารสไตรีนโมโนเมอร์ มาเรียงต่อกันสารสไตรีนโมโนเมอร์เดี่ยวๆ นั้น ถูกต้องว่าถ้าร่างกายได้รับเข้าไปจะเป็นอันตรายได้หลายอย่าง แต่เมื่อมันมาจับกันเป็น โพลีสไตรีนแบบกล่องโฟมแล้ว มันจะเสถียรสูงมาก มีคุณสมบัติทนทาน เบา เอามาเป่าขึ้นรูปง่าย ทนกรดทนด่างได้ดี ทนความร้อนดี-ไม่ละลาย-แต่อาจจะบิดเสียรูปทรงไป จึงเป็นที่นิยมใช้กันทั่วโลก และได้รับการรับรองว่าปลอดภัยจากองค์กรทางอาหารทั่วโลก

เฟซบุ๊ก: Jessada Denduangboripant

 

ผศ.ดร.เจษฎา ย้ำว่าถ้าจะห่วงเรื่องว่ากล่องโฟมมีสารสไตรีน มันก็อาจมีได้บ้างเฉพาะที่หลงเหลือมากับการผลิต ซึ่งตามมาตรฐานการผลิตมีการควบคุมกันให้มีน้อยมาก ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนที่กลัวว่าเวลาใช้ๆ ไป จะมีสารสไตรีนออกมามั้ย มีงานวิจัยว่าถ้าเอาโฟมโพลีสไตรีนไปทำแก้วใส่น้ำร้อนๆ ก็จะมีสิทธิที่ทำลายพันธะทางเคมีให้สารสไตรีนโมโนเมอร์ออกมาได้ แต่พบว่าน้อยมากๆ เพียงแค่ประมาณ 1 ในพันเท่าของเกณฑ์ที่กำหนดเท่านั้น บางคนบอกว่าเวลากล่องโฟมโดนน้ำมันอย่างพวกน้ำมันปลา หรือแม้แต่หยดน้ำกลิ่นแมงดาสังเคราะห์ เห็นมันละลายเลยคือถูกแล้วมันคือการละลายเข้าหากันของตัวโพลีสไตรีน เข้าไปอยู่ในกรดไขมันหรือเอสเทอร์พวกนั้น แต่ไม่ใช่การสลายพันธะเพื่อให้เกิดสไตรีนโมโนเมอร์อันตรายขึ้น จึงงงว่าเอาข้อมูลจากไหนมาบอกว่ากินทุกวัน 10 ปี จะเสี่ยงเป็นมะเร็งขึ้น 6 เท่า

ทั้งนี้ ภายหลังข้อเขียนดังกล่าวเผยแพร่และถูกส่งต่อในโลกออนไลน์ ได้กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากชุดข้อมูลที่ ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ระบุสวนทางกับหน่วยงานรัฐ ที่รณรงค์ให้ลดหรือเลิกใช้กล่องโฟม โดยชูประเด็นว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพ หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำป่วยเป็นโรคมะเร็งมากกว่าปกติ จะมีเพียงประเด็นการส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อม ซึ่งชัดเจนว่ากล่องโฟมใช้เวลาย่อยสลายตามธรรมชาตินานมาก หรือหากต้องเข้าสู่กระบวนการกำจัดก็จะก่อให้เกิดมลภาวะและส่งผลต่อโลกร้อน ที่ทุกคนเห็นตรงกันว่าหน่วยงานต่างๆ ควรหันมาสื่อสารในประเด็นนี้มากกว่าประเด็นสุขภาพ

ทีมนิวมีเดีย PPTV สอบถามไปยัง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้รับการยืนยันว่าข้อมูลที่ ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ระบุในเฟซบุ๊กเป็นข้อเท็จจริง โดย นางสาวจารุวรรณ ลิ้มสัจจะสกุล ผู้อำนวยการสำนักคุณภาพและความปลอดภัยทางอาหาร บอกว่าความกังวลที่ว่าสารสไตรีน จะหลุดออกมาปนเปื้อนกับอาหารที่บรรจุในกล่องโฟมนั้น อยู่ที่หลายองค์ประกอบไม่ว่าจะเป็นความร้อน ที่ต้องสูงเกิน 70-80 องศาเซลเซียส ชนิดของอาหาร และระยะเวลาในการสัมผัส ซึ่งแม้จะมีโอกาสที่สารสไตรีนจะหลุดออกมา แต่ก็ถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมากๆ ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร้ายแรง เนื่องจากองค์ประกอบของกล่องโฟมไม่ได้มีสารสไตรีนเดี่ยวๆ

นอกจากนี้ เมื่อขึ้นรูปออกมาเป็นภาชนะใส่อาหาร ก็จะมีหน่วยงานทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงสาธารณสุข ตรวจสอบคุณภาพมาตรฐาน ซึ่งที่ผ่านมาจาการตรวจสอบของกรม ก็ไม่พบว่ากล่องโฟมที่ขายอยู่ในประเทศ ไม่ได้คุณภาพหรือมาตรฐาน ดังนั้น จึงไม่ต้องกังวลในเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพมากนัก แต่ต้องไม่ลืมว่าปัจจัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น น้ำมันที่นำมาประกอบอาหาร ความสะอาดของวัตถุดิบ เป็นต้น เหล่านี้ก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโฟมมีน้ำหนักเบาและรูปทรงไม่แข็งแรง การนำไปใส่อาหารที่ร้อนจัดเพิ่งผัดหรือทอดจากกระทะใหม่ๆ จะทำให้โฟมละลายหรือผิดรูปทรงได้ แต่อย่างที่อธิบายไปข้างต้นว่าโอกาสที่สไตรีน จะหลุดออกมาปนเปื้อนอาหารนั้นน้อยมาก จึงขอแนะนำว่าไม่ควรนำไปใส่อาหารร้อน แต่หากจะนำมาใช้กับอาหารอื่นก็สามารถทำได้ ทั้งนี้ สำหรับประเด็นที่อยากสื่อสารกับประชาชน คืออยากให้ทุกคนเลือกใช้ภาชนะโฟมให้ถูกประเภท พร้อมทั้งคำนึงถึงผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม เพราะโฟมย่อยสลายยากและถ้าเผาก็จะทำให้โลกร้อน ทุกคนจึงต้องร่วมมือกันลดหรือเลี่ยงการใช้ให้น้อยลง

ด้าน นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเสริมว่าจริงๆ แล้วประเด็นเรื่องอันตรายจากสารสไตรีนในกล่องโฟมนั้น ชัดเจนว่าไม่หลุดออกมาปนเปื้อนในอาหารได้ง่ายนัก อย่างกรณีโดนความร้อนจากน้ำมัน หรือไข่เจียวจนละลาย เปอร์เซ็นต์ที่สารจะหลุดออกมาก็น้อยมาก แต่เนื่องจากผลกระทบในระยะยาวในการกำจัดขยะโฟม ซึ่งทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าทำได้ยาก และสร้างมลภาวะให้กับสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ จึงพยายามรณรงค์ให้สังคมไทย หันไปใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ง่ายทดแทน

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ