ไม่ลุยน้ำ-ทำนา ก็เสี่ยงป่วย “โรคฉี่หนู” ได้ แนะล้างเครื่องดื่มกระป๋องก่อนเทใส่ปาก


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กระทรวงสาธารณสุข เตือนโรคฉี่หนูระบาดช่วงฤดูฝน ย้ำหากมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดตามกล้ามเนื้อโดยเฉพาะน่องและโคนขาทั้ง 2 ข้าง ให้รีบพบตรวจวินิจฉัยโดยด่วน

นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ โฆษกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ปัจจุบันโรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) พบได้ทั้งในเขตเมืองและชนบท โดยในฤดูฝนประชาชนจะมีความเสี่ยงป่วยจากโรคนี้ง่าย เนื่องจากทั้งหนูบ้าน หนูนา หนูป่า หนูท่อ ที่เป็นตัวพาหะสำคัญของโรคนี้ จะหนีน้ำเข้ามาอาศัยอยู่ตามอาคารบ้านเรือน รวมทั้งสำนักงานต่างๆ เชื้อโรคจะอยู่ในฉี่ของหนูที่ติดเชื้อได้เป็นเวลานานหลายเดือนและแพร่เชื้อโรคมาสู่คน โดยเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายคนเราได้ 2 ทาง คือ 1. ทางปาก จากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อฉี่หนูเข้าไป และไชเข้าทางแผลเยื่อบุในปากหรือตาหรือรอยถลอกผิวหนัง และ 2. ทางผิวหนัง ที่แช่น้ำที่มีเชื้อโรคฉี่หนูปนเปื้อนเป็นเวลานาน เชื้อจะไชผ่านเข้าไปได้ โดยไม่รู้สึกคันหรือเจ็บปวดแต่อย่างใด และไม่มีรอยแผลปรากฏให้เห็น 

ด้าน นพ.อำนวย  กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากข้อมูลเฝ้าระวังโรค สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม- 2 มิถุนายน 2559 พบผู้ป่วยโรคฉี่หนูทั่วประเทศ จำนวน 644 ราย ในพื้นที่ 49 จังหวัด มีผู้เสียชีวิต 14 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คืออายุ 45-54 ปี รองลงมาอายุ 35-44 ปี และอายุ 25-34 ปี ตามลำดับ อาชีพที่พบสูงสุดคือเกษตรกรร้อยละ 46.3 รองลงมาเป็นอาชีพรับจ้างร้อยละ 20.5 ส่วนในปี พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยโรคฉี่หนูทั้งสิ้น 2,151 ราย เสียชีวิต 51 ราย โดยคิดแยกเฉพาะช่วงฤดูฝน(มิ.ย.-ก.ย.)พบผู้ป่วยถึง 915 ราย เสียชีวิต 23 ราย ซึ่งเป็นช่วงที่มีอัตราป่วยสูงสุดของปี

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเสริมว่า นอกจากหนูที่เป็นตัวการหลักในการแพร่เชื้อโรคนี้แล้ว ยังอาจพบปนอยู่ในปัสสาวะของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข แมว โค แพะ แกะ ได้เช่นกันแต่พบได้น้อยกว่าหนู โดยเชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายโดยการสัมผัสเชื้อเข้าทางผิวหนังตามรอยแผล รอยขีดข่วน เยื่อบุของตา จมูก ปาก หรือผิวหนังปกติที่แช่น้ำเป็นเวลานาน ซึ่งเชื้อจะปนเปื้อนอยู่ตามแอ่งน้ำหรือพื้นดินที่เป็นดินโคลนชื้นแฉะ

"กลุ่มเสี่ยงโรคฉี่หนูคือชาวนาหรือผู้ที่มีอาชีพเกษตรกร ที่มักสัมผัสกับน้ำในแหล่งน้ำ เช่น ห้วยหนอง คลอง บึงต่างๆ นอกจากนี้ ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่มีน้ำท่วมขัง หรืออยู่ในที่แออัดมีหนูชุกชุมก็ต้องระมัดระวังเช่นกัน แม้จะไม่ได้เดินลุยน้ำท่วมขังก็ตาม เพราะอาจติดเชื้อโดยตรงจากการสัมผัสเชื้อและกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่"

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมีอาการเข้าข่ายป่วยเป็นโรคฉี่หนู ขอให้รีบไปพบแพทย์อย่าซื้อยามากินเอง เพราะอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้ และที่สำคัญขอให้แจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อการรักษาได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว เพราะหากรักษาล่าช้า อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ไตวาย ตับวาย เลือดออกในปอด ทำให้เสียชีวิตได้

สำหรับมาตรการในการป้องกันโรคฉี่หนูนั้น ได้ให้ อสม.ทั่วประเทศ และกลุ่ม อสม.ต่างด้าว เผยแพร่ความรู้ให้ประชาชนยึดหลัก 3 ลด คือ 1.ลดจำนวนหนู โดยดูแลความสะอาดบ้านเรือน อาคารสำนักงาน โต๊ะทำงาน และโต๊ะอาหาร ไม่ให้เป็นแหล่งอาศัยของหนู กำจัดเศษอาหารให้ถูกวิธีเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งดำรงชีวิตของหนู โดยถังขยะเปียกจะต้องมีฝาปิดมิดชิดป้องกันไม่ให้หนูเข้าไปกินได้ หากพบว่ามีหนูควรใช้อุปกรณ์ดักหนูและกำจัดทิ้ง

2.ลดการสัมผัสเชื้อ โดยหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนด้วยเท้าเปล่าหากมีความจำเป็น ขอให้ใส่รองเท้าอาจเป็นบูทยางหรือมีพื้นหนา เพื่อป้องกันการเกิดบาดแผลจากของมีคม โดยเฉพาะผู้ที่มีบาดแผลหรือมีแค่รอยขีดข่วนตามผิวหนัง ต้องระมัดระวังอย่าให้แผลถูกน้ำ หลังจากขึ้นจากน้ำให้อาบน้ำชำระล้างร่างกายให้สะอาด ไม่เพียงเท่านั้นในกลุ่มผู้นิยมดื่มเครื่องดื่มกระป๋องที่เปิดฝาแล้วเทน้ำใส่ปากโดยตรง ก็ถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงได้รับเชื้อโรคฉี่หนูเช่นกัน เนื่องจากลักษณะของการเก็บเครื่องดื่มโดยทั่วไป จะวางกระป๋องในแนวตั้งฝาเปิดจะอยู่ด้านบน หากเก็บไม่มิดชิดอาจมีหนูไปฉี่รดบนฝากระป๋องไว้ ดังนั้น จึงควรล้างฝากระป๋องให้สะอาดก่อนเปิดทุกครั้ง

3. ลดการเสียชีวิต หลังติดเชื้อประมาณ 10 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการลักษณะเฉพาะต่างจากโรคอื่นๆ ได้แก่ มีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดตา ปวดตามกล้ามเนื้อมากโดยเฉพาะที่น่องและโคนขาทั้ง 2 ข้าง หากมีอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์หลังมีอาการป่วยไม่เกิน 3 วัน เพื่อรักษาได้อย่างถูกต้องซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลทุกแห่งมียารักษาให้หายขาดได้

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ