รมว.ยุติธรรม มั่นใจแนวคิด “ปลดแอกยาบ้า” ช่วยแก้ปัญหายาเสพติด


โดย PPTV Online

เผยแพร่




แนวคิด ปลดแอก ยาบ้า ออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 1 วันนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ประกาศทำความเข้าใจกับสาธารณะอีกครั้งว่า นี่คือแนวทางที่นานาชาติล้วนใช้กัน และหากต้องการลดจำนวนผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด คนไทยจำเป็นต้องทำความเข้าใจ

กว่า 10 ปีที่อยู่ในยุคประกาศสงครามกับยาเสพติด นอกจากผลลัพธ์ที่ต้องการลดจำนวนผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดจะไม่เป็นที่น่าพอใจ ยังมีการรวมตัวเลขต้นทุนทางสังคมและเศรษฐกิจที่ประเทศไทยต้องเสียไปในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาว่าไม่น่าจะต่ำกว่า 1,000 ล้านล้านบาท หรือ คิดได้มากกว่าร้อยละ 10 ของ GDP เฉลี่ยระหว่างปี 2550 -2557

สถานการณ์นี้ถือเป็นแรงผลักดันหนึ่ง ที่ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและทีมงาน กล้าประกาศยุตินโยบายสงคราม และ พลิกโฉมกฎหมายให้เข้าใจผู้เสพยาเป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัด

ในมุมของกระทรวงยุติธรรม แม้ที่ผ่านมาจะมีแนวคิดนำผู้เสพยาเข้าสู่กระบวนกระบำบัด แต่ก็ติดขัดเพราะกฎหมายเดิม คือ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษกำหนดให้ลงโทษรุนแรง โดยเฉพาะยาบ้าที่ถูกจัดอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 1 โดยโทษต่ำสุดในฐานะผู้เสพ คือจำคุก 6 เดือน และสูงสุดในฐานะผู้จำหน่ายและผู้ผลิต คือ จำคุกตลอดชีวิต จนถึง ประหารชีวิต แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า กระบวนการยุติธรรมแทบไม่เคยนำผู้ผลิตหรือผู้ค้ารายใหญ่มารับโทษได้เลย เพราะแทบทั้งหมดที่อยู่ในเรือนจำ ล้วนเป็นผู้จำหน่ายที่พัฒนาตัวเองมาจากผู้เสพยาทั้งสิ้น

สาเหตุที่ให้การเปลี่ยนยุทธศาสตร์ปราบปรามยาเสพติด ตามร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดปี 2559 จำเป็นต้องเปลี่ยนสถานะของแอมเฟตามีนส่วนประกอบหลักของยาบ้ามาอยู่ในสถานะวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท หรือยาภายใต้การควบคุมของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งหากต้องการซื้อต้องได้รับการตรวจและมีใบรับรองแพทย์ เปรียบเทียบได้คล้ายกับ “ซูโดเอฟริดีน”

แนวคิดนี้เป็นความหวังของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เพราะเชื่อว่า จะมีประสิทธิภาพกว่า การประกาศสงครามกับยาเสพติด ตลอดช่วงที่ผ่านมา เพราะหากย้อนดูตัวเลขผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ผลลัพธ์สวนทางสิ้นเชิงกับความเอาจริงเอาจริง

ปี 2547 ช่วงแรกของการประกาศสงครามยาเสพติด มีคนกลุ่มนี้อยู่ประมาณ 5 แสน 5 หมื่นคน แต่หากไปดูอีกทีในปี 2555 หรือ 8 ปีต่อมา ตัวเลขคนกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัวเป็น 1 ล้าน 6 แสนคน และเป็น 1 ล้าน 8 แสนคนในปีที่ผ่านมา(2557)

ส่งผลให้เรือนจำทั่วประเทศมีผู้ต้องขังกว่า 2 แสน 8 หมื่นคน ทั้งที่มีศักยภาพเต็มที่อยู่จุได้เพียงราว 1 แสน 1 หมื่นคนเท่านั้น และยิ่งชัดเจน เมื่อในจำนวนนี้ กว่าร้อย 70 เป็นนักโทษที่มีคดีเกี่ยวเนื่องกับยาเสพติด ซึ่งการจัดทำร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ โดยนำเอากฎหมายที่เกี่ยวข้อง 7 ฉบับมารวมกัน และถอดแอมเฟตามีน ส่วนประกอบหลักของยาบ้าออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 1 ก็เพื่อต้องการให้ ผู้เสพและผู้ค้ารายย่อย ที่กระทรวงยุติธรรมเรียกกลุ่มนี้ว่าเหยื่อ สามารถเข้ารับการรักษาบำบัดในฐานะผู้ป่วยได้โดยไม่ติดขัดข้อกฎหมายที่มุ่งเน้นลงโทษด้วยการคุมขังเป็นหลัก ส่วนความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมายเอาผิดก็ยังคงอยู่ แต่มุ่งเน้นไปที่กลุ่มผู้ค้ารายใหญ่ ซึ่งถูกมองว่าเป็นต้นตอ

แนวทางนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและทีมงานมั่นใจว่า จะช่วยลดความรุนแรงของสถานการณ์ยาเสพติดในประเทศได้ เพราะเคยเกิดผลสำเร็จในหลายประเทศมาแล้ว เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ หรือ แม้แต่โปรตุเกส

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ