ยกระดับผักตบชวา สู่วาระแห่งชาติ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กลายเป็นปัญหาใหญ่ลุกลามบานปลายไปเรื่อยๆแล้ว สำหรับผักตบชวา ที่ก่อนหน้านี้มีรายงานเข้ามาเฉพาะที่ หน้าเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท แต่ล่าสุดมีรายงานเข้ามาอีกที่คลองโพสะ จังหวัดอ่างทอง 1 ในคลองที่ใช้เป็น ฟลัดเวย์แก้ปัญหาน้ำท่วม ตอนนี้มีผักตบชวาหนาแน่นยาวกว่า 1 กิโลเมตร

นอกจากที่จังหวัดอ่างทองแล้ว อีกแห่งที่ผู้สื่อข่าวของเรารายงานเข้ามา คือที่ แม่น้ำปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ผักตบชวาขึ้นปกคลุมหนาแน่น ส่งผลให้น้ำเสีย และสัตว์น้ำเริ่มตายแล้ว


สะพานข้ามแม่น้ำปราณบุรี ตำบลเขาน้อย อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ขณะนี้ถูกปกคลุมด้วยผักตบชวา เป็นระยะทางหลายกิโลเมตร ชาวบ้านบอกว่า ประสบปัญหานี้มานานหลายปีติดต่อกันแล้วโดยไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาดูแลแก้ไขปัญหา ทำให้ปริมาณผักตบชวา เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้น้ำเน่าเสีย ปลาเริ่มลอยตาย โดยน้ำในแม่น้ำปราณบุรีบริเวณนี้ แทบจะเอาไปใช้ประโยชน์อื่นๆไม่ได้ นอกจากนำไปรดน้ำพืชผลทางการเกษตร

 


ส่วนที่จังหวัดชัยนาท หลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นโครงการเขื่อนเจ้าพระยา กรมเจ้าท่า กรมโยธาธิการและผังเมือง รวมถึง ทหารจากกองทัพบก ตอนนี้ลงพื้นที่ระดมกำลังและเครื่องมือ ลงไปช่วยกันกำจัดผักตบชวา หน้าเขื่อนเจ้าพระยาเพื่อให้แล้วเสร็จภายใน 1 สัปดาห์ หลัง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีคำสั่งให้แก้ปัญหาผักตบชวาบริเวณนี้อย่างเร่งด่วนโดยวันนี้ เจ้าหน้าที่ใช้รถแบ็กโฮ 18 คัน รถบรรทุก 16 คัน เรือกำจัดผักตบชวา 7 ลำ เรือดัน 16 ลำ และกำลังพลกว่า 50 นาย สามารถกำจัดผักตบชวาไปได้แล้วกว่า 2,000ตัน และเพื่อให้แผนการกำจัดผักตบอยู่ในกรอบระยะเวลาที่วางไว้ กองบัญชาการทหารบกได้เข้ามาตั้งกองอำนวยการกำจัดผักตบชวา สนับสนุนด้านกำลังพลและเครื่องจักร



เปรียบเทียบน้ำหนักผักตบชวา 50,000 ตัน กับรถบรรทุกสิบล้อขนาดใหญ่ ที่สามารถบรรทุกได้เฉลี่ย 10 ตันต่อคัน ผักตบ 50,000 ตัน ก็จะเท่ากับรถบรรทุก สิบล้อ ถึง 5,000 คัน ข้อมูลจากกรมเจ้าท่าและกรมโยธาธิการและผังเมือง ระบุว่า แต่ละปี มีปริมาณผักตบชวารวมกันทั่วประเทศ 5-6 ล้านตัน ขณะที่การกำจัด 2 หน่วยงานรวมกัน ทำได้เพียง 1 ล้านตันเท่านั้น



นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่าเปิดเผยข้อมูลกับทีมข่าวพีพีทีวีว่า กรมเจ้าท่าและกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นหน่วยงานที่ดูแลกำจัดผักตบชวา แต่ละปีมีแผนการกำจัดที่ชัดเจน แต่ส่วนใหญ่จะเข้าไปดูแลในพื้นที่วิกฤติ เช่น การแก้ปัญหาน้ำเน่าเสีย การสัญจรทางน้ำ การระบายน้ำ การท่องเที่ยว ระบบนิเวศน์ และจะดูแลในพื้นที่แม่น้ำสายหลัก รวมถึงพื้นที่ชลประทาน ส่วนพื้นที่อื่นๆ จะให้ท้องถิ่นหรือเจ้าของพื้นที่เป็นผู้รับผิดชอบ แต่หลังจากยกเลิกพระราชบัญญัติการกำจัดผักตบชวา พ.ศ.2456 ไปเมื่อปี 2546 ก็ทำให้ปัญหานี้ขาดการดูแลอย่างจริงจัง และไม่มีเจ้าภาพหลักแก้ปัญหา

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ