จับตา "3 ความเคลื่อนไหว" ข้างโต๊ะเจรจาดับไฟใต้


โดย PPTV Online

เผยแพร่




คอนเมนต์ที่ 36 โดย เข็มขัดสั้น



วานนี้ 2 ก.ย.2559 เป็นวันที่คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำโดย พล.อ.อักษรา เกิดผล เดินทางไปพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างกับรัฐซึ่งเรียกตัวเองว่า “มาราปาตานี” ที่ประเทศมาเลเซีย

สำหรับใครหลาย ๆ คน รวมทั้งผม สถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการพูดคุยสันติสุข เมื่อวานนี้ คงไม่ต่างจากวันนี้ หรือวันไหน ๆ อาจเป็นเพราะชินชากับวังวนแห่งความรุนแรงและผลจากการแก้ปัญหาที่ยังจับต้องได้ยาก

ยิ่งทราบผลภายหลังการพูดคุยว่า “มาราปาตานี” รับหลักการ “สร้างพื้นที่ปลอดภัย” เพื่อไปสื่อสารกับแนวร่วมในพื้นที่ ฝ่ายโลกสวยก็อาจอ้อมแอ้มเรียกว่าเป็น “ความคืบหน้า” ก็ได้เพราะเป็นก้าวขยับเล็ก ๆ ในทิศทางบวกบนโต๊ะเจรจา แต่ลึก ๆ คนที่อยู่ในพื้นที่คงอยากถามดัง ๆ แข่งกับเสียงระเบิดว่า แล้วเมื่อไรที่พื้นที่ปลอดภัยจะเกิดขึ้น

ผมในฐานะผู้ติดตามข่าวสารสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้คงไม่อาจให้คำตอบได้จึงขอนำสาระสำคัญที่ได้จากการรับฟัง พล.ท.นักรบ บุญบัวทอง อดีตเลขานุการคณะพูดคุยสันติสุข ซึ่งเคยบรรยายในหัวข้อ ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ : ปัญหาและทางออก มาเล่าสู่กันฟัง

พล.ท.นักรบ บอกว่า ส่วนตัวคิดว่าจากธรรมชาติของสถานการณ์ การแก้ปัญหาในพื้นที่น่าจะใช้เวลาประมาณ 10 ปีจึงจะสำเร็จสมบูรณ์แต่ระหว่างนั้นก็อาจเห็นผลก่อนได้ แต่ทั้งนี้โรดแมปการแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้รัฐบาลวางไว้ 3 ปีให้สอดรับกับโรดแมปรัฐบาล โดยโรดแมปการแก้ปัญหาในพื้นที่แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ 1.สร้างความเชื่อใจ 2.ลงนามข้อตกลง และ3.เดินหน้าโรดแมปสู่สันติสุขที่ยั่งยืน

สิ่งที่ พล.ท.นักรบ ให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาคือ การบริหารจัดการอย่างไรให้มีเอกภาพทางความคิด และเอกภาพในการบริหารจัดการ 3 ระดับ คือ ระดับนโยบายมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ระดับคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ คปต. มี พล.อ.ประวิตร เป็นประธาน และระดับปฏิบัติในพื้นที่มีแม่ทัพภาค 4 เป็นประธาน เพื่อเดินหน้า “ภารกิจ” 7 กลุ่มงาน คือ

1.งานรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีกระทรวงกลาโหมเป็นเจ้าภาพ 2.งานอำนวยความยุติธรรมและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบมีกระทรวงยุติธรรมเป็นเจ้าภาพ

3.งานสร้างความเข้าใจทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชนมีกระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าภาพ 4.งานการศึกษา ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม มี กระทรวงศึกษาธิการ เป็นเจ้าภาพ

5.งานพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่และคุณภาพชีวิตประชาชน มี กระทรวงมหาดไทย เป็นเจ้าภาพ 6.งานเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐและการขับเคลื่อนนโยบายฯ และ7.งานแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี ทั้งสองกลุ่มนี้มี สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ

“แพ้ชนะวัดกันที่ 4 กลุ่มนี้ (ภารกิจกลุ่มที่ 2-5)” พล.ท.นักรบ บอก พร้อมกับระบุว่าถ้าแก้เรื่องการศึกษาได้ก็แก้ปัญหาภาคใต้ได้สำเร็จ ส่วนการพูดคุยนั้นเป็นแนวทางเสริมให้ “จบ” เร็วขึ้น

ส่วนภารกิจด้านการรักษาความปลอดภัยก็เหมือนสู้กัน “ปลายน้ำ” ยังไงก็ไม่จบถ้า “ต้นน้ำ” ผลิตออกมาตลอด

สำหรับการพูดคุยครั้งนี้ซึ่งเท่าที่ผมติดตามข่าวพบว่าเป็นเพียงการ “รับหลักการ” นั่นหมายความว่า กระบวนการยังอยู่ระหว่างการดำเนินการในโรดแมประยะแรกคือการสร้างความเชื่อใจ ถ้ามองโลกในแง่ดีก็คงพูดประมาณว่า “คงอีกนานกว่าจะกำหนดพื้นที่ปลอดภัย” ส่วนใครที่มองในแง่ร้ายคงบอกว่า “ยังไม่มีอะไรการันตีว่าพื้นที่ปลอดภัยจะเป็นจริง”

แต่นอกจาก “การพูดคุย” แล้ว ผมเห็นว่า จากข่าวสารความเคลื่อนไหวข้างเคียงที่ปรากฏตามหน้าสื่อฯ นั้นยังมี 3 เรื่องที่ไม่อาจมองข้าม

1.คงต้องจับตาโครงสร้างใหม่ของการบริหารงานในพื้นที่ภายใต้รูปแบบ“ครม.ส่วนหน้า” ซึ่งทุกอย่างจะ “จบ” ในพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันนี้ถ้ามองไม่ผิดจะเห็นเค้าลางจากการทำงานของ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่ลงพื้นที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างต่อเนื่องแต่ในขณะที่การปฏิรูปการศึกษายังไม่เป็นเนื้อเป็นหนัง


(ที่มา : สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ)

2.แม้ว่าฝ่ายรัฐจะอ้างอิงสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบซึ่งลดลงมาก ในยุครัฐบาล คสช. แต่จากเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในห้วงเวลานี้ ทั้ง “คาร์บอมบ์หน้าโรงแรมเซาท์เทิร์น ปัตตานี” “ปล้นรถขนนมโรงเรียนไปทำคาร์บอมบ์” และที่ไม่อาจมองข้ามได้ คือ “ระเบิด-วางเพลิง 7 จังหวัด”

คดีเหล่านี้ก่อให้เกิดคำถามมากมายทั้งรูปแบบการก่อเหตุ การติดตามจับกุมผู้ก่อเหตุ  การสืบสวนขยายผลไปยังเครือข่าย และที่สำคัญคือแนวร่วมกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบระดับปฏิบัติการ เพราะ “ระเบิดแสวงเครื่อง” ต้องมีเครือข่าย เช่น มือประกอบระเบิด มือวางระเบิดหรือจุดระเบิด คนจัดหาวัสดุอุปกรณ์ ยังไม่นับผู้อยู่เบื้องหลังในเรื่องเงินทุน การหาแนวร่วม การฝึกอบรม

3.สัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียจะส่งผลต่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ เพราะเมื่อเร็ว ๆ นี้ พล.อ.ประวิตร เดินทางไปมาเลเซียตามคำเชิญของ ดาโต๊ะ ซรี ดร.อาหมัด ซาฮิด ฮามิติ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมาเลเซีย หารือกันเรื่องความมั่นคง และชายแดน

ประเด็นสำคัญนอกจากปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ การแลกเปลี่ยนข้อมูลและตรวจพิสูจน์กรณีบุคคลสองสัญชาติ เพื่อแก้ปัญหาการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ

การปรับปรุงขยายพื้นที่ด่านศุลกากรสะเดา จ.สงขลา-บูกิตกายูฮิตัม รัฐเกดาห์ โดยเห็นพ้องที่จะก่อสร้างรั้วชายแดนบริเวณด่านนอก/บูกิตกายูฮิตัม และเห็นชอบจัดทำและลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ และต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งมาเลยเซียเพิ่งจับกุมนักรบสมาชิกไอเอส 3 คนไปเมื่อไม่นานมานี้

ทั้ง 3 ข้อดังกล่าวล้วนแต่เป็นปัจจัย เป็นความเคลื่อนไหวสำคัญที่มีผลต่อการแก้ปัญหาทั้งในระดับนโยบายและในพื้นที่ ส่วนตัวแล้วข้อที่ 1 และ 3 ไม่น่ามีปัญหาอะไรเพราะอยู่ในช่วงรัฐบาล คสช. ซึ่งมีเสถียรภาพในการบริหารจัดการพอสมควร แต่ข้อที่ 2 นับวันจะยิ่งน่าเป็นห่วงเพราะเป็นโจทย์ใหญ่ เผลอ ๆ อาจเป็น "โจทย์ใหม่" ของฝ่ายความมั่นคงด้วยซ้ำ.

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ