ถอดสมการข่าว EP.5 “ปู่คออี้ ทัศน์กมล บิลลี่ และบ้านที่ถูกเผาของกะเหรี่ยงแก่งกระจาน”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




โดย สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา

10 กันยายน 2554 .. “เป็นวันที่ผม เกือบจะตัดสินใจจบอาชีพนักข่าวของตัวเองลง”

ผมอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น ช่วงเย็นระหว่างนั่งกินข้าว รับโทรศัพท์สายหนึ่ง ปลายสายมาจากจังหวัดเพชรบุรี

“อาจารย์ป๊อด ถูกยิง ตายแล้ว”  ..... ข้อความที่ถูกส่งมา ทำเอาผมทรุดลงกับพื้นทันที น้ำตาไหลออกมาไม่หยุด ผมปลีกวิเวกไปอยู่คนเดียวทั้งคืน ในใจครุ่นคิดอยากเลิกเป็นนักข่าว .... มีประโยคหนึ่งที่กระแทกเข้าใส่หัวผมตลอดเวลา

“มึงทำให้เขาตาย” คำว่า “มึง” ย่อมหมายถึงตัวผมเอง

อาจารย์ป๊อด หรือ “ทัศน์กมล โอบอ้อม” รู้จักกับผม ก่อนหน้าที่เขาจะตายไม่นาน ชายคนนี้ ได้ชื่อว่า เป็น “ลูกของกะเหรี่ยงในป่าแก่งกระจาน”

เขาแทบจะเป็นคนเดียวในเวลานั้น ที่รู้จัก มีความสัมพันธ์อันดีกับกะเหรี่ยงในป่าแก่งกระจานอย่างมาก เป็นคนที่ชาวกะเหรี่ยงที่นั่นไว้ใจ และเล่าทุกอย่างให้ฟัง

วันที่ผมได้ข้อมูลว่า “บ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจานถูกเผา” คือ วันที่ผมเข้าไปที่บ้านโป่งลึก – บางกลอย ด้วยข้อสงสัยบางอย่าง ที่จนวันนี้ ผมก็ยังไม่สามารถเปิดเผยข้อสงสัยนี้ออกสู่สาธารณะได้ และชาวกะเหรี่ยงที่นั่นก็เล่าให้ผมฟังเพียงเล็กน้อย ซึ่งผมเข้าใจได้เองว่า มันเกิดจากความไม่ไว้ใจ

และวันนั้น ชื่อ “ปู่คออี้” ก็ยังเป็นเพียง เสียงเล่าลือสำหรับผม

เมื่อลงมาจากโป่งลึก – บางกลอย ผมจึงตัดสินใจโทรหา อ.ป๊อด ... ซึ่งแน่นอน คำตอบที่ได้รับทีแรก คือ คำปฏิเสธ

แต่หลังการเจรจาอย่างดุเดือดผ่านไปนานนับชั่วโมง อ.ป๊อด ก็ยอมให้ความช่วยเหลือ ให้สัมภาษณ์ และแน่นอน เขาสามารถพาผมไปหา “ปู่คออี้ มีมิ” ผู้นำทางจิตวิญญาณของกะเหรี่ยงแห่งผืนป่าแก่งกระจาน

ปู่คออี้ ผู้ซึ่งถูกอุ้มขึ้นเฮลิคอปเตอร์ลงมาจาก “บางกลอยบน” หรือ ที่คนที่นั่นเรียกว่า “ใจแผ่นดิน” จากนั้นบ้านของเขาก็ถูกเผา โดยเจ้าหน้าที่อุทยานฯ

เรื่องราวการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมของ “กะเหรี่ยงแก่งกระจาน” เริ่มขึ้นนับตั้งแต่วันนั้น

บ้านโป่งลึก – บางกลอย เป็นหมู่บ้านตามแนวชายแดน อยู่ในป่าลึก ยากต่อการสัญจรไปมา ตั้งอยู่ 2 ฝั่งของแม่น้ำเพชรบุรี มีประชากรรวมกันประมาณ 1 พันคน มากกว่าครึ่งมีสัญชาติไทย และมีผู้ที่อายุถึงเกณฑ์มีสิทธิเลือกตั้ง ประมาณ 450 คน

เขาพาผมเข้าไปที่บ้านหลังหนึ่ง ในนั้น เราพบ “ชายชรา รูปร่างสูงใหญ่ นอนผมกระเซิงอยู่ภายในบ้าน”

พอเราเข้าไป ชายชราลุกขึ้นนั่ง หยิบผ้าที่สางอยู่ข้างกายขึ้นมาพันศรีษะ แม้จะอายุมากและดูไร้เรียวแรง แต่ร่างนั้นกลับสามารถทำให้ผู้คนรอบๆรู้สึกยำเกรงได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ชายชราพนมมือขึ้น ... และกล่าวอะไรบางอย่าง คล้ายบทสวด

“ปู่คออี้” พูดในวันนั้น แปลได้ว่า “เราอาศัยอยู่ในจุดที่ถูกผลักดันลงมา คือ “ใจแผ่นดิน” ตั้งแต่เกิด ทำกินตามวิถีชีวิต ไม่มีเจตนาทำลายหรือบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อให้ร่ำรวย อยากให้หน่วยงานราชการเข้ามาพูดคุยแก้ปัญหา โดยให้ความใส่ใจต่อประเพณี ความเชื่อ ของชาวกะเหรี่ยงที่จะต้องมีพิธีกรรมในการย้ายถิ่นที่อยู่ด้วย” ... นั่นป็นข้อความแรก จากปากของชายชราแห่งผืนป่าแก่งกระจาน ที่ผมได้ยินและนั่งอยู่นั่น 

นับจากวันนั้นมา ทุกอย่างก็เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ การต่อสู้ถูกพัฒนาขึ้นจนมีสภาทนายความเข้ามาช่วยเหลือ กรรมการสิทธิมนุษยชนก็ลงมาพบปู่คออี้ รวมทั้ง อ.ป๊อด ที่เปิดหน้าแลกเต็มตัว

เวลาเดียวกัน ฝ่ายอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ก็ยืนยันหลักฐานที่หน่วยงานมี ยืนยันว่า ที่อยู่ของชาวกะเหรี่ยง ที่ใจแผ่นดิน เป็นการ “บุกรุกป่า” ... ในรายงานของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีหลายข้อความที่อาจเป็นไปเพื่อการอธิบายว่า “ทำไมต้องเผา” นั่นคือ ข้อความที่ระบุถึงการปลูกพืชเสพติด แม้แต่การปลูกพืชไร่ ก็ถูกระบุว่า เป็นไปเพื่อสะสมเสบียงสนับสนุนกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ โดยมีผู้ต้องหาหนึ่งคน ชื่อ หน่อแอะ มีมิ ลูกชายของปู่คออี้ ...

หน่อแอะ ผู้ซึ่งเมื่อปี 2535 เป็นพรานชาวกะเหรี่ยง ที่นำทางเจ้าหน้าที่รัฐ เข้าไปในป่าแก่งกระจาน เพื่อค้นหาตำรวจตระเวนชายแดน 4 คน ที่หายไป จากการปะทะกับกองกำลังต่างชาติในเวลานั้น ใน “ยุทธการบางกลอย”

หน่อแอะ คนเดียวกัน ที่กลายเป็นผู้ต้องหา “สนับสนุนกองกำลังติดอาวุธ” ถูกหาว่า เป็นกะเหรี่ยงที่อพยพมาจากที่อื่น และอาวุธที่ถูกจับ ก็ประกอบด้วย มีดดายหญ้า เคียว และปืนแก๊ป ที่ใช้ได้เพียงกระบอกเดียว

ส่วน ทัศน์กมล โอบอ้อม กลายเป็นบุคคลที่ถูกติดประกาศห้ามเข้าเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

หลังจากนั้นไม่นาน “ทัศน์กมล” ก็ถูกยิงเสียชีวิต

ผมจะไม่ขอพูดถึงคดีนี้ ... แต่นั่น ทำให้ผมเสียใจที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต ... และต้องตัดสินใจบางอย่างตามมา

****************************************************************************************************************************************************************************************

ผ่านมา 5 ปี ... จากนักข่าว 2-3 คนแรก ที่ได้ไปพบปู่คออี้ ... ผมมาอยู่ในสถานะ ที่กลายเป็นเพียงผู้ติดตามข่าวคราวของชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานอยู่ห่างๆ

เห็น และ เศร้าใจ อีกครั้งที่รู้ว่า บิลลี่ “พอละจี รักจงเจริญ” หลานของปู่คออี้ กะเหรี่ยงแก่งกระจานคนเดียวที่เขียนและอ่านภาษาไทยได้ เป็นผู้ที่เขียนคำร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆได้ .... แต่แล้วก็ “หายสาบสูญ” ไป

ผมได้หวังว่า การต่อสู้ทางกฎหมาย จะส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้บ้าง

7 กันยายน 2559 ... ผลคำพิพากษา ศาลปกครอง เป็นอย่างที่ทราบกัน “ปู่คออี้” ชายชรา ที่วันนี้ อายุ(น่าจะ) 109 ปีแล้ว กลายเป็น “ผู้บุกรุก”

“ตั้งแต่ลืมตามา ก็อยู่ที่นั่น ... เริ่มดูดนมหยดแรก ก็อยู่ที่นั่น” ... ชายชรา ส่งข้อความถึง “โลก” หลังรับทราบคำพิพากษา ... มือของผม ลงมาที่แป้นพิมพ์อีกครั้งจากประโยคนี้

ไหนๆ ก็เคยคลุกคลีตีโมงกับเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น จึงขอเขียนข้อมูลส่วนหนึ่งลงไว้ในบทความชิ้นนี้ เผื่อจะเกิดประโยชน์อะไรบ้าง

ประเด็นแรก ... การตีความ คำว่า “บ้าน” ซึ่งหมายถึง “เจ้าของที่” กับคำที่อุทยานใช้ คือ  “เพิงพัก” ซึ่งหมายถึง “คนที่ผ่านมา”

“บ้านโป่งลึก – บางกลอย” จุดที่เป็นที่อยู่ของกะเหรี่ยง แก่งกระจานในปัจจุบัน ในคำพิพากษา เป็นจุดที่ถูกระบุว่า “เป็นพื้นที่จัดสรร” ที่รัฐจัดให้

แต่จุดที่ “เผา” คือจุดที่ ปู่คออี้บอกว่า นั่นคือบ้านที่แท้จริงของเขา เรียกว่า บางกลอยบน หรือที่ชาวกะเหรี่ยงเรียกว่า “ใจแผ่นดิน” อยู่เหนือขึ้นไปจากพื้นที่บ้านโป่งลึก บางกลอย

การตีความในมุมของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ...  คนที่มาอยู่ในพื้นที่นี้ ถือว่า “บุกรุก”

แต่ถ้ามาตีความในมุมของชาวกะเหรี่ยง จะได้ใจความที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ในมุมของชาวกะเหรี่ยง “พื้นที่บ้านโป่งลึก – บางกลอย” ไม่ใช่บ้าน แต่เป็นที่อยู่ใหม่ ที่ถูกจัดสรรให้ ซึ่งไม่เหมาะสมกับสภาพการทำกินของพวกเขา โดยมีข้อมูลระบุไว้ด้วยว่า การจัดสรรที่ดินบ้านโป่งลึก – บางกลอย โดยผลักดันชาวกะเหรี่ยงลงมาจาก “ที่อยู่เดิม” (ซึ่งอาจหมายถึงใจแผ่นดิน) เกิดขึ้นเมื่อปี 2539

แต่ชาวกะเหรี่ยง บอกว่า ที่อยู่ใหม่ ไม่มีที่ทำกิน อยู่ไม่ได้ จึงต้อง “กลับบ้าน” ที่ ใจแผ่นดิน

ดังนั้น ในมุมของกะเหรี่ยง “ใจแผ่นดิน” จุดที่ถูกเผา คือ บ้านเดิม หรือ บ้านจริงๆของพวกเขา

นั่นคือสถานที่ที่ปู้คออี้กล่าวถึง “ตั้งแต่ลืมตามา ก็อยู่ที่นั่น ... เริ่มดูดนมหยดแรก ก็อยู่ที่นั่น”

ผมขอจบบทความนี้ ด้วย ภาพถ่ายทางอากาศ บริเวณที่ระบุพิกัดมาว่า คือ “ใจแผ่นดิน”

ก่อนดูภาพ ท่องไว้ก่อนว่า “อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ประกาศตั้งเมื่อปี 2524”

ภาพที่สีสด ถ่ายไว้เมื่อปี 2546 ... ส่วน ภาพที่สีทึบ ถ่ายไว้เมื่อปี 2515

ภาพถ่ายนี้ อาจกลายไปเป็นหลักฐานในอนาคตได้ เพราะปรากฏร่องรอยที่คล้าย หรือ อาจจะเคยมีการอยู่อาศัยหรือทำประโยชน์ ตั้งแต่ปี 2515 (ย้ำว่า คล้าย หรือ อาจจะ  – แต่จะใช่ร่องรอยการทำประโยชน์หรือไม่ ต้องถูกอ่านโดยผู้เชี่ยวชาญการแปรภาพถ่ายทางอากาศ)

นี่อาจเป็นหลักฐานสำคัญ

กลับมาที่ท่องไว้ .... อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ถูกประกาศตั้งเมื่อปี 2524 ... นั่นหมายความว่า หากพิสูจน์ได้ว่ามี “ชุมชน” ที่ชื่อ “ใจแผ่นดิน” อยู่มาก่อนปี 2524 ก็อาจเป็นหลักฐานใหม่

 

ขอบคุณภาพบางส่วนจากรายงานโครงการผลักดันชนกลุ่มน้อย ยุทธการตะนาวศรี ของ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ