เปิดสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีความก้าวร้าวและนิยมใช้ความรุนแรง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




บทความเรื่องการใช้ความรุนแรงในสังคม โดยนพ.กัมปนาถ ตันสิถบุตรกุล อ่านแล้วเข้าใจถึงสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนคนหนึ่งมีความก้าวร้าวและนิยมใช้ความรุนแรง

วันนี้ (7 พ.ย.59) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.กัมปนาถ ตันสิถบุตรกุล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ (Kampanart Tansithabudhkun, M.D.) ว่า ผมมักจะเอาบทความเรื่องการใช้ความรุนแรงในสังคม มานำเสนอบ่อยๆ เพื่อเตือนใจ เตือนสติกันเวลามีเหตุการณ์ดังๆ แบบไม่พึงประสงค์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ดังนั้น ทีมนิวมีเดียพีพีทีวี ขอนำบทความของ  นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล นำเสนอให้ผู้อ่านได้รับทราบกัน

....อนึ่ง...ขอไม่วิพากษ์วิจารณ์การกระทำของใครบางคนบ่อยๆ เพราะมันบ่อยจนน่าเบื่อและรู้สึกเป็นห่วงสังคมไทยจริงๆ....

....ผมกลับมาจากเวียดนามสักเดือนกว่าๆ ก็เล่าให้เพื่อนๆฟังว่า ทำไมคนเวียดนาม ขับรถไร้ระเบียบวินัย มั่วไปมั่วมา ดูน่ากลัวน่ารำคาญ แต่พอดูๆไป เขา "แค่" พยายามขับให้ไม่ชนกัน ต่างคนต่างเอาตัวรอด ทำมาหากิน ไม่มานั่งทะลาะ เครียดแค้น ชิงชัง อาฆาตพยาบาทกัน บนท้องถนน และก็รู้สึกสะเทือนใจ ที่สังคมไทย ที่(อ้างว่า)ดูเลิศหรูกว่าคนเวียดนาม กลับมีคนในประเทศจำนวนไม่น้อย(ที่ใช้รถใช้ถนน) ใช้ความรุนแรง ชกต่อย ด่าทอแม้กระทั่งยิงกัน ทำร้ายกัน ด้วยเหตุสุดวิสัยบ้าง เหตุที่เสียการควบคุมอารมณ์บ้าง เราไม่คิดจะตั้งสติ หรือให้อภัยกันบ้างหรือไร....บางคนยอมแลกด้วยชื่อเสีย หน้าที่การงาน หรือ แม้กระทั่งชีวิตและอนาคตของตนเองครับ...น่าเศร้าใจ แทนประทศไทยนะครับ...

"..... เข้มแข็ง...แต่ไม่แข็งกร้าว.....”

คำว่า "สยามเมืองยิ้ม" อยู่คู่เมืองไทยมานาน แต่ไม่แน่ใจว่าคำเหล่านี้ยังคงอยู่ได้อีกนานสักแค่ไหน ชาวต่างชาติให้เหตุผลของการมาเที่ยวเมืองไทย เพราะชอบอัธยาศัยที่ดีของคนไทยเมื่อเทียบกับชาติอื่นๆ เป็นเรื่องที่เราคนไทยภูมิใจกันมาก เชื่อว่าความรู้สึกแบบนี้เป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนอยากให้เกิดขึ้นตลอดไปชั่วลูกชั่วหลาน แต่เมื่อความเปลี่ยนแปลงทางสังคมมาเยือน โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงทางความคิด อารมณ์พฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของเรา รวมถึงวัฒนธรรมดีงาม จนสิ่งที่ทุกคนกำลังหวาดกลัวก็เริ่มแสดงให้เห็นชัดเจนมากขึ้น นั่นคือ การใช้ความรุนแรง ก้าวร้าวในสังคมไทยผ่านสื่อ แสดงผ่านการประท้วงบ้างหรือการก่ออาชญากรรม นับวันทวีความรุนแรงมากขึ้น จนแทบจะไม่สามารถฉุดรั้งไว้ได้อีก

...เข้มแข็งกับแข็งกร้าว...ความเหมือนหรือความแตกต่าง...

ดูไปความหมายคล้ายกัน แต่ลองพิเคราะห์ดีๆ จะเห็นว่ามีความแตกต่างอย่างชัดเจน เพราะคำหนึ่งมีความหมายไปในทางบวก อีกคำมีความหมายไปในทางลบ "ความเข้มแข็งอาจมองในมุมที่ว่าเป็นคนที่มีร่างกายแข็งแรงก็ได้ แต่ในที่นี้อยากจะสื่อถึงความเข้มแข็งทางจิตใจมากกกว่า หมายความว่าคนนั้นน่าจะมีความมั่นคงทางจิตใจ มีความอดทนไม่ย้อท้อต่ออุปสรรคต่างๆ ที่สำคัญมีความภาคภูมิใจ (self esteem) ในตัวเองเป็นพลังอันสำคัญให้คนคนนั้นเป็นคนที่เรียกได้ว่ามีอีคิว (EQ) ที่ดีนั่นเอง

 

"ความแข็งกร้าว แข็งกระด้าง ก้าวร้าว จะคำไหนก็แล้วแต่ ล้วนสร้างความรู้สึกที่เป็นลบให้กับความรู้สึกได้ทั้งสิ้น คือ เป็นคนที่ไม่ยอมใคร กลัวเสียหน้า เสียศักดิ์ศรี ความจริงแล้วคนเหล่านี้เป็นคนที่มองตนเองไม่มีคุณค่า มีปมด้อย (แบบที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวก็มี) ชีวิตว่างเปล่า ส่วนใหญ่ลึกๆ เป็นคนที่ไม่สามารถจะรักใครได้ มีความรู้สึกระแวง ไม่ปลอดภัย จึงนำไปสู่การเป็นคนเจ้าอารมณ์ เข้าใจผิดว่าการใช้ความรุนแรงในการจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตนั้นเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ตนเองรู้สึกดี ไม่เสียหน้า และสามารถมีชิวตรอดอยู่ในสังคมได้"

 

ดังจะเห็นว่าถ้าเราไม่สามารถแยกความหมายของคำสองคำนี้ออกจากกันแล้วก็คงจะมีหลายๆ คนใช้รวมๆ กันไปแบบที่เรียกว่าเข้าใจผิดก็ได้เช่นกัน เช่น มองว่าการใช้ความรุนแรงในสังคมเป็นเครื่องมือของคนที่มีจิตใจเข้มแข็ง เป็นต้น

สิ่งที่ตามมาคงจะก่อให้เกิดความวุ่นวายในสังคมไม่น้อยเลยทีเดียว

สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนคนหนึ่งเป็นคนที่มีความก้าวร้าวและนิยมใช้ความรุนแรงในสังคม

- ปัจจัยทางกายภาพ (สรีระวิทยาของคน) นั้น เช่น มีความผิดปกติในระบบการควบคุมการทำงานของสมอง ของตนเอง เช่น ความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง ซึ่งมักจะนำปสู่การเจ็บป่วยเป็นโรคต่างๆ ทางจิตเวช บางคนอาจไม่ถึงกับเป็นโรค แต่ก็สามารถเป็นคนที่มีลักษณะแสดงออกมาก้าวร้าวได้ ยังความผิดปกติในโครงสร้างของสมอง เช่น เคยได้รับอุบัติเหตุมาก่อน มีเนื้องอกในสมอง การได้รับยาบางชนิดที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท เช่น สารเสพติดหลายๆ ประเภท (รวมถึงสุรา) ที่มักจะนำมาซึ่งความผิดปกติในการแสดงออกทางอารมณ์ให้เห็นอยู่เสมอ

-ความผิดปกติทางด้านจิตใจ ข้อนี้ถือว่าพบได้มากที่สุด ยิ่งปัญหาความผิดปกติทางด้านบุคลิกภาพ (personality disorder) ภาษาชาวบ้านเรียกว่า "สันดาน" นั่นเอง คนที่จัดอยู่ในความผิดปกติทางด้านนี้เป็นกลุ่มใหญ่และมีจำนวนมากที่สุด เพราะเรื่องของการใช้ความรุนแรงในสังคมจะเห็นว่ามีเกิดขึ้นทุกวัน ไม่มีเลือกชนชั้นวรรณะ แม้คนที่มีการศึกษาสูง มีอาชีพการงานที่ดี มิได้เป็นตัวรับประกันว่าจะไม่ใช้ความรุนแรง เนื่องจากปัญหาเรื่องการเลี้ยงดูที่ตามใจ พ่อแม่หลายคนมักเข้าใจผิดว่าการเลี้ยงดูด้วยการปรนเปรอด้วยวัตถุสิ่งของจะทำให้ลูกนั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีไม่มีความเครียด แต่ลืมมองว่าสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถป้องกันการใช้ความรุนแรงได้ และจะยิ่งเป็นตัวเสริมเสียมากกว่าให้คนเหล่านี้ ไม่รู้จักเพียงพอ รู้สึกว่า "ได้ทุกอย่าง" ตลอดเวลา ไม่สามารถเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกและการรู้จักควบคุมอารมณ์ รวมทั้งการควบคุมความอยากมี อยากได้ อยากเป็น ได้อย่างแท้จริง

-ปัจจัยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม จะเป็นตัวกำหนดคุณค่าทางความคิด ค่านิยม วัฒนธรรม เช่น อิทธิพลของครอบครัวที่มีการใช้ความรุนแรง หรือกระทำทารุณกรรมกันตลอดเวลา การนำเสนอเรื่องราวของการใช้ความรุนแรงผ่านสื่อต่างๆ นับวันมีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้นแต่มิได้ยกระดับจิตใจของคนให้มีความเจริญก้าวหน้าตามไปด้วยเลย การแก้ไขปัญหาเรื่องการใช้ความรุนแรงในสังคม และการส่งเสริมสุขภาพจิต.....

-การป้องกัน ถือเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุด ที่พูดถึงนี้หมายถึงการร่วมกันสร้างให้คนในสังคมไม่มีพฤติกรรมอันนำไปสู่การเจริญเติบโตเป็นผู้ใช้ความรุนแรงในสังคม ต้องเริ่มตั้งแต่ยังเป็นวัยเด็ก เริ่มจำความได้ หรือเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้ โดยเน้นเรื่องการสั่งสอน การฝึกให้เด็กรู้จักควบคุมอารมณ์ของตนเอง การฝึกวินัยลูก รวมถึงการฝึกให้ลูกรู้จักผิดชอบชั่วดี นั่นคือเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี พบว่ามีหลายครอบครัวมีความคาดหวังสูงมากในการให้ลูกเป็นคนดี และมักตำหนิติเตียนอย่างมากเมื่อลูกกระทำผิด แต่พบว่าพ่อแม่มิได้เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก แต่ก็คาดหวังว่าลูกจะต้องเป็นคนดี

-การแก้ไข มิใช่เรื่องง่ายนัก เพราะเรื่องพฤติกรรมของมนุษย์ส่วนใหญ่มีรากฐานมาจากการเลี้ยงดูและการพัฒนาการทางจิตใจมายาวนาน ถ้ามีการแก้ไขตั้งแต่เนิ่นๆ เช่น ในวัยที่แก้ไขได้ ส่วนใหญ่ไม่เกิน 18-20 ปี ก็ยังพอได้บ้าง แต่จะได้ผลดีในกรณีที่เด็กยังอายุน้อยอยู่ ซึ่งการแก้ไขจะต้องใช้เวลาและอาศัยความอดทนค่อนมาก ส่วนใหญ่พ่อแม่จะท้อใจในที่สุด

..... ส่วนการแก้ไขกรณีที่เป็นเรื่องของความเจ็บป่วยทางจิตเวช เช่น ป่วยเป็นโรคจิต หรือโรคอารมณ์แปรปรวน ก็ต้องให้เป็นหน้าที่หลักของแพทย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ครอบครัวคงมีความสำคัญเช่นเดียวกันในการช่วยแพทย์อีกทางหนึ่ง แต่หากครอบครัวขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องสุขภาพจิต การร่วมมือกันก็อาจจะมีปัญหาได้

-การร่วมมือป้องกัน หมายถึงร่วมมือกันของคนในสังคม เช่น การไม่ยอมรับในพฤติกรรมการใช้ความก้าวร้าวรุนแรงไม่ว่าจะผ่านทางด้านใด ร่วมมือทั้งภาครัฐ-เอกชนในการต่อต้านหรือควบคุมสารเสพติดต่างๆ ที่เป็นสาเหตุกระตุ้นให้เกิดการใช้ความรุนแรงได้ รวมถึงสื่อซึ่งมีอิทธิพลนำไปสู่การเลียนแบบและใช้ความรุนแรงได้เช่นเดียวกันหนทางใแก้ปัญหาเรื่องการใช้ความรุนแรงในสังคม ไม่อยากให้มองว่า "ธุระไม่ใช่" ตราบใดที่มนุษย์ยังคงต้องอยู่ร่วมกันเป็นสัตว์สังคม เมื่อนั้นย่อมมีการกระทบกระทั่งกันอย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงต่างๆ จะลดน้อยลงไปถ้าเรามีความเข้มแข็งในจิตใจ ในการที่จะอดทน อดกลั้น และให้อภัยซึ่งกันและกัน เชื่อว่าสิ่งที่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ดีที่สุดน่าจะเป็นการที่เรามีศาสนาอยู่ในใจของเราตลอดไป เมื่อนั้น "ความเอื้ออาทร" กันและกัน ไม่เพียงแต่เป็นการกล่าวขึ้นมาลอยๆ เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาแบบลมๆแล้งๆ แต่จะเป็นการป้องกันและแก้ไขที่ยั่งยืนตลอดไป"

 

ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊ก นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล (Kampanart Tansithabudhkun, M.D.)

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ