เด็กชายวัย 16 ปี ผู้ลี้ภัยชาวโซมาเลีย ได้รับคุ้มครองสิทธิเด็กคดีแรกใต้ กม.ไทย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กรณี ด.ช.โมฮัมหมัด (นามสมมติ) อายุ 16 ปี สัญชาติโซมาเลีย จะถูกอัยการฟ้องด้วยข้อหาละเมิดพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงราย แม้ว่าเด็กชายโมฮัมหมัดจะได้รับสถานะเป็นผู้ลี้ภัยแล้วก็ตามแล้วนั้น

ความคืบหน้าล่าสุด วานนี้ (30 พ.ย. 2559) ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงราย ได้มีคำสั่งคุ้มครองสิทธิผู้ลี้ภัยเด็กชาวโซมาเลีย โดยใช้มาตรการพิเศษสำหรับเด็ก ตามมาตรา 132 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัว และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 โดยให้คุ้มครองและมีแผนบำบัดฟื้นฟู ซึ่งถือเป็นคดีแรกที่ผู้ลี้ภัยเด็กได้รับการคุ้มครองสิทธิเด็ก ภายใต้กฎหมายภายในประเทศและกระบวนการยุติธรรมในศาลเยาวชนและครอบครัว

นายโมฮัมหมัด(นามสมมติ)  อายุ 16 ปี สัญชาติโซมาเลีย ผู้ลี้ภัยเด็กที่ได้รับสถานภาพผู้ลี้ภัยแล้ว เนื่องจากหลบหนีจากการถูกเกณฑ์เข้าไปเป็นทหารเด็กในกองกำลังติดอาวุธในประเทศโซมาเลียโดยเข้ามาในประเทศไทยในขณะที่อายุเพียง 13 ปี ถูกอัยการฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงราย ด้วยข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522

ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงรายได้วินิจฉัยว่า “พฤติการณ์ของจำเลยในการกระทำความผิดไม่เป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมเกินสมควร ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุยังน้อยและกระทำไปโดยความจำเป็น ประกอบกับปัจจุบันจำเลยได้รับการรับรองจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติว่ามีสถานภาพผู้ลี้ภัยและอยู่ในระหว่างดำเนินการเพื่อขอตั้งรกรากถิ่นฐานในประเทศที่สาม ตามพฤติการณ์แห่งคดียังไม่สมควรจะมีคำพิพากษา” และศาลมีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติตามแผนบำบัดฟื้นฟู โดยมีกำหนดระยะเวลาปฏิบัติตามแผน 1 ปี และนัดพร้อมหรือพิจารณาเพื่อยุติคดีหรือยกคดีขึ้นพิพากษาในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คดีนี้นับว่าได้เป็นการวางมาตรฐานในการคุ้มครองเด็ก ที่หนีภัยความรุนแรงและได้รับสถานะการเป็นผู้ลี้ภัย โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติในประเทศ โดยการใช้มาตรา 132 วรรคหนึ่งของพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวเป็นครั้งแรก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าศาลได้พิจารณาคดีโดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดต่อเด็ก

ภายหลังจากได้ฟังคำสั่งศาลแล้ว นายโมฮัมหมัด ได้กล่าวว่า เป็นเรื่องที่เกินคาดหมาย เพราะตนเองไม่นึกว่าจะได้รับอิสรภาพ สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ไปเรียนหนังสือ พบเพื่อนๆ และร่วมกิจกรรมของโรงเรียนได้เช่นเดิม ที่สำคัญที่สุดคือตนเองจะไม่เสี่ยงต่อการถูกจับและดำเนินคดีในประเทศไทยฐานหลบหนีเข้าเมืองอีกต่อไป

นางสาวกรวิไล เทพพันธ์กุลงาม ที่ปรึกษากฎหมายของนายโมฮัมหมัดกล่าวว่า ยังมีผู้ลี้ภัยเด็กที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยในประเทศไทย ที่มีความเสี่ยงจากการถูกจับกุม และถูกฟ้องต่อศาลอีกเป็นจำนวนมาก และที่สำคัญที่สุดที่ผ่านมาผู้ลี้ภัยเด็ก มักจะถูกฟ้องในศาลยุติธรรมปกติ ที่มิได้มีความเชี่ยวชาญเรื่องสิทธิเด็ก ทั้งนี้ เนื่องจากการที่กฎหมายคนเข้าเมือง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 มีมาก่อนที่ประเทศไทยจะมีหลักการคุ้มครองสิทธิเด็ก อาทิ  กฎหมายคุ้มครองเด็ก ที่ออกมาในปี พ.ศ. 2546 และไม่มีนโยบายการดูแลผู้ลี้ภัยเด็กที่ดีพอ

จึงควรให้มีการแก้ไขกฎหมายคนเข้าเมือง รวมทั้งให้อัยการและตำรวจกำหนดแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ในการให้หลักประกันทางกฎหมายที่จำเป็น แก่เด็กผู้ลี้ภัยระหว่างที่พวกเขาอยู่ในประเทศไทย เพื่อรอกระบวนการเดินทางไปประเทศที่สาม รวมทั้งให้รัฐบาลไทยใช้อำนาจตามมาตรา 17 ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง ผ่อนปรนเด็กผู้ลี้ภัยมีสิทธิอาศัยในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ทั้งนี้ในปัจจุบันยังมีเด็กผู้ลี้ภัยและเด็กแสวงหาที่ลี้ภัยอีกกว่า 2,000 คน ยังคงเสี่ยงต่อการถูกจับกุม และกักขังเนื่องจากมีสถานะอยู่ในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ