“จมน้ำ  - ไฟดูด” ภัยร้ายคร่าชีวิตช่วงน้ำท่วม


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กรมควบคุมโรค ห่วงปัญหาการจมน้ำและไฟฟ้าดูดในช่วงน้ำท่วม หลังพบผู้เสียชีวิตเกือบครึ่งเป็นเด็กเล็ก

หลังจากที่ในหลายจังหวัดทางภาคใต้ได้เกิดน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลาก ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยสินและชีวิต จากข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย และสำนักสาธารณสุขฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข พบว่าสถานการณ์อุทกภัย วาตภัยและน้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 1-6 ธ.ค.59 พบว่ามีผู้เสียชีวิต 14 ราย ใน 5 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 5 ราย สุราษฎร์ธานี 3 ราย สงขลา พัทลุง และปัตตานี จังหวัดละ 2 ราย แยกเป็นชาย 10 ราย หญิง 4 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 6 ราย (อายุ 5-6 ปี)  สาเหตุส่วนใหญ่ในเบื้องต้นของเด็กเกิดจากการลงไปเล่นน้ำและถูกน้ำพัด 5 ราย และพลัดตกน้ำ 1 ราย ส่วนในกลุ่มผู้ใหญ่ เกิดจากการออกไปหาปลา 5 ราย พลัดตกน้ำ 2 ราย และเรือล่ม 1 ราย



นพ.เจษฎา  โชคดำรงสุข  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับภัยสุขภาพที่เกิดขึ้นในช่วงน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากนั้นที่ต้องระมัดระวังในช่วงน้ำท่วมคือการจมน้ำและไฟฟ้าดูด ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวก็มีผู้เสียชีวิตแล้ว โดยเฉพาะปัญหาเด็กจมน้ำ  ส่วนปัญหาเรื่องไฟฟ้าดูด อาจทำให้บาดเจ็บรุนแรง พิการและเสียชีวิตได้ ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มักถูกไฟฟ้าดูดในบ้านพักของตนเอง เนื่องจากการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าหรือปลั๊กไฟที่เปียกน้ำ ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมควรขนย้ายอุปกรณ์ไฟฟ้าและสิ่งของจำเป็นไว้ที่สูงหรือน้ำท่วมไม่ถึง และถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้าน  

กรณีเป็นบ้านสองชั้นและมีสวิทซ์แยกแต่ละชั้น ให้ปลดสวิทซ์ ตัดกระแสไฟฟ้าเฉพาะชั้นล่างที่น้ำท่วม  หากน้ำท่วมขังนานและต้องอาศัยอยู่ในบ้าน ให้ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นบน โดยให้เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือช่างไฟฟ้าที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญดูระบบไฟฟ้าให้ปลอดภัยก่อน  ส่วนกรณีบ้านชั้นเดียว ให้งดใช้ไฟฟ้าเด็ดขาด โดยเฉพาะขณะตัวเปียกหรือยืนแช่น้ำ แม้ว่าอุปกรณ์เหล่านั้นจะอยู่เหนือระดับน้ำก็ตาม หากน้ำท่วมสูงเกินกว่าปลั๊กหรือเมนสวิทซ์อย่าเดินลุยน้ำ ให้หาวัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้า เช่น ลังไม้ กล่องพลาสติก เพื่อใช้เป็นทางเดินไม่ให้ร่างกายถูกน้ำ และ ระมัดระวังและดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด อย่าให้เล่นน้ำบริเวณใกล้เสาไฟ
         

หากพบผู้ถูกไฟฟ้าดูดให้ช่วยเหลือเบื้องต้น อย่าใช้มือเปล่าแตะตัวผู้ถูกไฟดูดโดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันมิให้ถูกกระแสไฟฟ้าดูดจนได้รับอันตรายไปด้วย และให้ใช้วัตถุที่ไม่เป็นสื่อไฟฟ้า เช่น ผ้า ไม้แห้ง เชือกแห้ง สายยางหรือพลาสติกแห้ง แล้วผลักหรือฉุดตัวผู้ประสบอันตรายให้หลุดออกมาโดยเร็ว หรือใช้ผ้าคล้องหรือให้ผู้มีความรู้ด้านไฟฟ้าปลดสวิทซ์ จากนั้นปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนนำส่งโรงพยาบาล


สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ควรจะติดตามข้อมูลสภาพอากาศ ประกาศแจ้งเตือนภัยอย่างใกล้ชิด ควรจัดเตรียมเครื่องใช้ที่จำเป็นไว้ใช้ในช่วงน้ำท่วม โดยเฉพาะเครื่องอุปโภคบริโภค น้ำดื่มสะอาด ยารักษาโรค รวมถึงเอกสารสำคัญ เช่น บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน เก็บไว้ในถุงพลาสติกหรือซองกันน้ำ  และเตรียมวัสดุที่สามารถลอยน้ำได้ เช่น แกลลอนพลาสติก ขวดน้ำพลาสติก ลูกมะพร้าว ยางในรถยนต์ สำหรับใช้ยึดเกาะพยุงตัวขณะลุยน้ำท่วม 

 

หากอยู่ในบริเวณที่มีน้ำท่วมหรือจะเดินทางไปในบริเวณที่มีน้ำท่วม ควรยึดหลัก “3 ห้าม 2 ให้” เพื่อป้องกันการจมน้ำ ดังนี้ 3 ห้าม คือ 1.ห้ามหาปลา-เก็บผัก ในช่วงน้ำไหลหลาก  2.ห้ามดื่มสุราแล้วลงเล่นน้ำ และ 3.ห้ามเด็กเล็กลงเล่นน้ำ เพราะน้ำอาจไหลแรงทำให้เด็กพลัดตกหรือถูกน้ำพัดได้  ส่วน 2 ให้ คือ 1. ให้สวมเสื้อชูชีพ หรือนำอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ติดตัวไปด้วย และ 2. ให้เดินทางเป็นกลุ่ม เพื่อช่วยเหลือกันเวลาฉุกเฉิน 
 

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ