ติงร่างกฎหมายใหม่ กยศ. “ดอกเบี้ยโหด” – “ตัดโอกาสเด็ก” สวนทางเป้าหมายกองทุน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ย้อนผลสำรวจต้นทุนทางการศึกษา ตลอดชั้น ม.ปลาย เฉลี่ยคนละมากกว่า 6 หมื่นบาท ขณะที่งานวิจัยชี้ชัดเด็กยากจนที่ได้ทุนกู้ยืม มีโอกาสเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น 22%

ร่าง พ.ร.บ. กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ฉบับใหม่ ซึ่งล่าสุดคณะกรรมาธิการพิจารณาวาระที่ 2 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ได้ผ่านการพิจารณา ตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอเมื่อกลางเดือน พ.ย. ที่ผ่านมานั้น ขณะนี้เป็นที่วิพากษ์วิจาณ์จากหลายฝ่าย ภายหลังเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ หรือ iLaw สรุปสาระร่างกฎหมาย กยศ. ฉบับใหม่ ซึ่งประเด็นหลักอยู่ที่การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บหนี้ โดยการกำหนดหลังเกณฑ์ชำระเงิน ผ่านการหักเงินเดือนแทนการนำมาจ่ายด้วยตนเองที่ธนาคาร และการเข้าถึงข้อมูลของลูกหนี้

ทว่าเงื่อนไขอีกหลายข้อ อาทิ 1. การกำหนดสิทธิผู้กู้ยืม โดยกำหนดเพิ่มนอกจากขาดแคลนทุนทรัพย์ ต้องเป็นผู้ที่เรียนดีและศึกษาในวิชาชีพ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศต่อขาดแคลน 2. อัตราดอกเบี้ย จากเดิม 1% ต่อปี เป็น ไม่เกิน 7.5% ต่อปี 3. การนำเงินลงทุนไปหาประโยชน์ กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่หลายคน มีความกังวลว่าหากร่างกฎหมายฉบับนี้ ผ่านกระบวนการและประกาศใช้ จะส่งผลกระทบต่อโอกาสทางการศึกษาของเด็กไทยหรือไม่ ?

จากประเด็นดังกล่าวแหล่งข่าวแวดวงการศึกษา ตั้งข้อสังเกตกับ ทีมนิวมีเดีย PPTV ว่า แม้วัตถุประสงค์หลักในการ ปรับปรุงกฎหมาย กยศ. จะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บหนี้ แต่จากบทสรุปข้างต้นหลายประเด็น อาจขัดต่อเป้าหมายการไม่แสวงผลกำไร และเพิ่มโอกาสการศึกษาให้เด็กยากจนหรือไม่ โดยประเด็นแรกการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่เป็นอยู่ โดยกำหนดสูงสุดไม่เกิน 7.5% ถือเป็นอัตราที่สูงกว่าการผ่อนบ้านด้วยซ้ำ ซึ่งในทางปฏิบัติเด็กจบใหม่เงินเดือน 15,000 บาท ยังไม่มีกำลังจ่ายเงินต้นแน่นอน จะเป็นการจ่ายดอกเบี้ยอย่างเดียวมากกว่า กว่าจะมีเงินมากพอสำหรับจ่ายเงินต้นอาจต้องอายุ 40-50 ไปแล้ว

ส่วนประเด็นต่อมาการหักเงินเดือนจ่ายหนี้ ตามหลักการถือว่าเป็นแนวทางที่ดี แต่ในทางปฏิบัติอาจมีปัญหาเพราะ จากข้อมูลปัจจุบันประชากรวัยแรงงานกว่า 30 ล้านคน เป็นผู้ที่ทำงานอยู่ในระบบเพียง 1 ใน 3 หมายความว่ามีผู้ที่ไม่มีสลิปเงินเดือน และทำงานนอกระบบจำนวนมาก ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาในการติดตามทวงหนี้ในภายหลัง

ขณะเดียวกันเงื่อนไขที่กำหนดว่าผู้ยืนกู้ ต้องศึกษาในสาขาที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศและขาดแคลน ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการยังไม่สามารถ ประเมินได้อย่างชัดเจนว่าในอีก 5 ปี ประเทศชาติต้องการบุคลากรด้านใด รวมไปถึงการประสานงานร่วมกับมหาวิทยาลัย ในการเปิดสอนสาขาที่ขาดแคลน

ทั้งนี้ เมื่อช่วยต้นปีที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ได้เผยเปิดผลสำรวจ ต้นทุนชีวิตเยาวชนต่อการสอบเข้าอุดมศึกษาไทย” และ “จำนวนเงินทางการศึกษา ตลอดชั้น ม.ปลาย ของนักเรียนไทย” จากกลุ่มตัวอย่างนักเรียน ชั้น ม.ปลาย จำนวน 1,564 คน และผู้ปกครอง จำนวน 511 คน ใน กทม. และ 4 จังหวัดหัวเมืองใหญ่ ได้แก่ เชียงใหม่ กาญจนบุรี นครราชสีมา และ สงขลา ระหว่างเดือนมี.ค. – เม.ย. 2559 พบว่า นักเรียน 1 คน จะมีรายจ่ายตลอดการเรียน ชั้น ม.4-6 ซึ่งเป็นการลงทุนเพื่อศึกษาต่ออุดมศึกษา เฉลี่ยคนละ 61,199 บาท ประกอบด้วย

1. รายจ่ายในโรงเรียน (ค่าเทอม/ค่ารถ/ค่าอาหารกลางวัน) 17,823 บาท

2. รายจ่ายในการเรียนพิเศษ (ค่าเรียนพิเศษ/ค่ารถ/ค่าที่พัก) 22,592 บาท

3. รายจ่ายในการสมัครสอบ (ค่าสมัครสอบ/ค่ามัดจำเพื่อรักษาสิทธิ์/ค่ารถ/ที่พัก) 20,040 บาท

4. ค่ามัดจำรักษาสิทธิ์เฉลี่ยอยู่ที่ 10,610 บาท และอาจมากสุดถึง 91,000 บาท

“แม้ว่าจะมีนโยบายเรียนฟรีในระดับม.ปลาย โดยรัฐอุดหนุนค่าเทอมและค่าหนังสือตำราเรียน แต่ยังมีรายจ่างแฝงอยู่ โดยพบว่า นักเรียน ชั้น ม.ปลาย ที่มีฐานะยากจนมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือน ใกล้เคียงกับนักเรียน ชั้น ม.ปลาย ที่มีฐานปานกลาง และกลุ่มที่พอจะมีฐานะ โดยค่าใช้จ่ายต่อเดือนของกลุ่ม นร. ที่มีฐานะยากจนอยู่ที่ 2,359 บาท/เดือน ขณะที่ค่าใช้จ่ายของกลุ่มที่พอจะมีฐานะอยู่ที่ 2,886 บาท/เดือน ซึ่งต่างกันเพียง 500 บาทเท่านั้น” ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ คณะกรรมการ สสค. กล่าว

ขณะที่ งานวิจัยเรื่อง ผลลัพธ์จากการให้ทุนการศึกษากรณีศึกษานักเรียนหญิงมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีฐานะยากจน โดย ดร.ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับ ดร. เจสสิกา เวชบรรยงรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเก็บข้อมูลเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง 3 ปี พบว่านักเรียนที่มีฐานะยากจน ที่ได้รับทุนการศึกษาตั้งแต่ระดับชั้น ม.ปลาย จะได้รับโอกาสในการเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย สูงกว่านักเรียนที่ไม่ได้รับทุนการศึกษา ผลการศึกษาพบว่าเมื่อให้ทุนการศึกษาจะเป็นการเพิ่มโอกาส การเข้าเรียนต่ออุดมศึกษาในกลุ่มเด็กยากจนถึง 22% โดยงานวิจัยชิ้นนี้สรุปสาระสำคัญว่า ช่วงรอยต่อระหว่างมัธยมเข้าสู่อุดมศึกษา ที่มีรายจ่ายแฝงอยู่จำนวนมาก การมีกองทุนช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ของรัฐบาล มีส่วนสำคัญในการปิดช่องว่างทางการศึกษาของประเทศ

 

ขอบคุณข้อมูล ร่าง พ.ร.บ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา จากเว็บไซต์ iLaw

อ่านผลสำรวจ ต้นทุนชีวิตเยาวชนต่อการสอบเข้าอุดมศึกษาไทย” ฉบับเต็ม

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ