“กับดัก” (พัฒนา) การศึกษาไทย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




โดย เข็มขัดสั้น

          พูดตามตรงว่าผมไม่ได้รู้สึกแปลกใจอะไรกับผลคะแนนเฉลี่ยของนักเรียนไทยในโครงการประเมินนักเรียนระดับนานาชาติ หรือ ปิซ่า ปี 2558 ที่ผลการประเมินทักษะด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน ของนักเรียนระดับอายุ 15 ปี จะได้คะแนนลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับการสอบครั้งก่อน (ปี 2555) โดยจัดอยู่ในอันดับ 50 กว่า ๆ จากทั้งหมด 72 ประเทศ

          ทั้งนี้เพราะที่ผ่านมาจะได้ยินเรื่องเหล่านี้มาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ปฏิรูปการศึกษา เด็กไทยรั้งท้ายทางวิชาการ ล่าสุดก็ถูกฝรั่งตาน้ำข้าวทำคลิปสะท้อนทักษะภาษาอังกฤษของเด็กไทย แต่สิ่งที่ทำให้ผมต้องมาขบคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกครั้งคือ การวิเคราะห์ผลคะแนนดังกล่าวผ่านแว่นของนักวิชาการด้านการศึกษาท่านหนึ่ง

          ก่อนจะไปถึงประเด็นต่าง ๆ ที่นักวิชาการท่านนี้วิเคราะห์เอาไว้ ผมขอเท้าความเกี่ยวกับการทดสอบในโครงการนี้สักหน่อย

          ข้อมูลข่าวจากทีมข่าวต่างประเทศ PPTV HD การทดสอบตามโครงการปิซ่าจัดขึ้นทุก ๆ 3 ปี มีนักเรียนจาก 72 ประเทศที่เข้าร่วมการทดสอบรวมแล้วกว่า 5.4 แสนคน โดยนักเรียนไทยเข้าร่วมการทดสอบมาตั้งแต่ปี 2543 แต่แนวโน้มการประเมิน 5 ครั้งที่ผ่านมาไทยได้คะแนนต่ำลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงครั้งนี้ซึ่งเป็นครั้งที่ 6 ด้วย

          สำหรับประเทศที่นักเรียนมีผลคะแนนสอบปิซ่าสูงที่สุด ได้แก่ สิงคโปร์ ขึ้นแท่นแชมป์ทั้ง 3 ทักษะ

          นักเรียนสิงคโปร์ที่ร่วมทดสอบได้คะแนนวิทยาศาสตร์ 556 คะแนน คะแนนวิทยาศาสตร์ 564 คะแนน และคะแนนการอ่าน 535 คะแนน

          ส่วนผลคะแนนของนักเรียนไทย พบว่า ทักษะด้านวิทยาศาสตร์อยู่อันดับที่ 54  ได้ 421 คะแนน จากเดิมที่เคยได้ 444 คะแนน ทักษะด้านคณิตศาสตร์อยู่อันดับ 54  ได้ 415 คะแนน จากเดิมที่ได้ 427 คะแนน และทักษะการอ่านอยู่อันดับที่ 57 ได้ 409 คะแนน จากเดิม 441 คะแนน

          จะเห็นว่าคะแนนการทดสอบด้านทักษะการอ่านของนักเรียนไทยตกลง จุดนี้นี่เองที่ทำให้นักวิชาการอิสระอย่าง กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ เห็นว่าเป็นการสะท้อนปัญหาด้านการศึกษาของไทยในหลายมิติ

          เริ่มจากผลคะแนนซึ่งเธอให้ข้อมูลว่า ไม่เพียงแค่ผลคะแนนทักษะการอ่านที่ลดลงเท่านั้น ฐานนักเรียนไทยที่ได้คะแนนต่ำยังเพิ่มมากขึ้น

          คะแนนการอ่านที่ลดลงอาจสะท้อนถึงทักษะการอ่าน คิด วิเคราะห์ ในการทดสอบแบบนี้ ไม่ประสบความสำเร็จในระบบการศึกษาแบบไทย หรือการเรียนการสอนให้เด็กคิดวิเคราะห์ยังไม่มากพอ

 “คะแนนเด็กไทยสวนทางกับเทรนโลกที่ทักษะการอ่านแล้วคิด วิเคราะห์เป็นทักษะที่จำเป็นมากแต่เรากำลังอยู่ในช่วงขาลงของเทรนที่จำเป็นบนโลกใบนี้”

          ส่วนฐานนักเรียนที่ได้คะแนนต่ำมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น สะท้อนถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างโรงเรียนในเมืองกับชนบท

          “สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราต้องกังวล กระทรวงศึกษาต้องกังวล”



          เธอยังเห็นว่าจากผลคะแนนที่ออกมาทำให้เห็นว่าเราหรือกระทรวงศึกษาให้ความสำคัญกับคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์แต่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการอ่าน คิด วิเคราะห์ ทั้ง ๆ ที่ ที่ผ่านมาเรามักจะโวยวายทุกครั้งที่มีการประกาศผลการทดสอบภาษาอังกฤษแต่สุดท้ายก็ไม่เกิดผลอะไร

          แล้วเราจะไปทางไหนดี…

          “เอาเร็ว ๆ รีบ ๆ ก็ต้องเปลี่ยนข้อสอบให้มีคุณภาพมากกว่านี้” อาจารย์กุลธิดา บอก

          เหตุผลที่ต้องเปลี่ยนข้อสอบเพราะในเมื่อเราให้ความสำคัญกับการสอบ (มาก) ดังนั้นการเปลี่ยนข้อสอบจะบังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน “ห้องเรียน”

          แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ต้องเตรียมครู นักเรียน และคนตรวจข้อสอบด้วย

          แต่ถ้าจะแก้กันอย่างยั่งยืนก็ต้องกลับไปที่ต้นตอ เธอบอกว่าเราต้องยอมรับว่าการคิด วิเคราะห์นั้นไม่ใช่รากฐานของเรา เราต้องเข้าใจว่าการศึกษาและวัฒนธรรมไม่อาจแยกจากกันได้ และต้องทบทวนบทเรียนและวัฒนธรรมของเราซึ่งไม่ได้ส่งเสริมให้คิด วิเคราะห์ ถ้าเราไม่คำนึงถึงเรื่องนี้การแก้ปัญหาก็คงไม่ต่างจากการกลัดกระดุมผิดเม็ด  

          ที่สำคัญต้องดูบริบทการใช้ภาษาของเรา เพราะเราไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันแล้วเราใช้ภาษาอังกฤษตอนไหน และเรามองภาษาอังกฤษเป็น “วิชาเรียน” หรือเป็น “เครื่องมือสื่อสาร”

          ถ้าเรามองเป็นเครื่องมือสื่อสารก็อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวได้

          “ถ้าเราเปลี่ยนมุมมองใหม่ เปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ เปลี่ยนวิธีการเรียนในห้องได้ก็อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงระยะยาวได้ แต่ก็ต้องวางแผนระยะยาวมาก ๆ”

          ผมมานั่งคิดตามอาจารย์แล้วก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่าที่ผ่านมาเราไม่เคยรู้จักตัวเองขนาดนั้นเลยหรือ จึงทำให้การแก้ปัญหาด้านการศึกษาของบ้านเราไม่ต่างจากการพายเรือในอ่าง

          ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ๆ นี่ก็คือ “กับดัก” ที่เราช่วยกันสร้างขึ้น ... ถึงบรรทัดนี้ผมรู้สึกเป็นห่วงลูกหลานไทยขึ้นมาฉับพลันทันใด.

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ