แนวโน้มสูงไทยพลาดเป้า “ลดสูบบุหรี่” ลงเหลือ 30% ภายในปี 68


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เผยแนวโน้มไทยพลาดเป้าลดการสูบบุหรี่ เหลือ 30% ตามเป้าหมาย เหตุ อัตราการสูบบุหรี่ของชายไทย สูงเกินค่าเฉลี่ยโลกกว่า 6%

สำนักงานองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย เผยแพร่ข้อมูลหัวข้อ “ไทยน่าจะพลาดเป้าลดการสูบบุหรี่: องค์การอนามัยโลก” ระบุว่าจากการประมาณการล่าสุดโดยองค์การอนามัยโลก ประเทศไทยน่าจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ทั่วโลกตกลงกัน ที่ให้แต่ละประเทศลดการสูบบุหรี่ลง ร้อยละ 30 ภายในปี พ.ศ. 2568 ณ การประชุมสมัชชาอนามัยโลกในเดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2556 ประเทศไทยได้รับรอง 9 เป้าหมายระดับโลก เพื่อลดภาระจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อลง ร้อยละ 25 ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายนั้น คือการลดการสูบบุหรี่ในประชากรไทย ถึงแม้ว่าภาครัฐ และองค์กรภาคประชาสังคมจะพยายามควบคุมการสูบบุหรี่ แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อัตราการสูบบุหรี่ของชายไทยยังคงสูงอยู่ที่ ร้อยละ 40 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกของการสูบบุหรี่ในเพศชาย ที่ร้อยละ 34 

การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ชายไทยเกือบ 1 ใน 5 คนต้องเสียชีวิต จากโรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง ทั้งนี้ถ้าประเทศไทยยังคงใช้ความพยายามเท่าเดิมในการลดการสูบบุหรี่ องค์การอนามัยโลกได้คาดการณ์ว่า ภายในปี พ.ศ. 2568 การสูบบุหรี่ในชายไทยจะลดลงเหลือ ร้อยละ 36 ซึ่งก็ยังสูงกว่าค่าเป้าหมายที่ประเทศไทยจะต้องลดลงให้เหลือเพียง ร้อยละ 30

แนวโน้มการใช้ยาสูบในประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับที่สูง  จากรายงานทางการตลาดของ Euromonitor ที่ตีพิมพ์เมื่อต้นปีนี้ พบว่าปริมาณการขายบุหรี่ในประเทศไทยนั้นเพิ่มขึ้น จาก 41.5 ล้านมวน เป็น 49.7 ล้านมวน ในปี พ.ศ. 2553 และ 2558 ตามลำดับ และยังคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึง 52.7 ล้านมวนในปี พ.ศ. 2563  เมื่อเดือนที่แล้ว องค์การอนามัยโลก และกระทรวงสาธารณสุขของไทยได้ตีพิมพ์รายงานการสำรวจซึ่งพบว่า นักเรียนมัธยมของไทยนั้นสูบบุหรี่ถึง ร้อยละ 11  ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่านักเรียนของประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ประเทศศรีลังกา (2%) ประเทศสิงคโปร์ (6%) และ ประเทศพม่า (8%) รายงานฉบับนี้ยังชี้ให้เห็นสิ่งที่น่ากังวล เช่น การสูบบุหรี่ที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มนักเรียนหญิง และการเพิ่มขึ้นของการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กนักเรียน

การสูบบุหรี่นั้นก่อให้เกิดภาระอย่างใหญ่หลวงต่อสังคมไทย ทั้งในแง่ของการเจ็บป่วยที่หลีกเลี่ยงได้ การตายก่อนวัยอันควร ค่ารักษาพยาบาลที่สูง และการสูญเสียทางเศรษฐกิจ  ร่างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. ... ที่กำลังได้รับการพิจารณาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติขณะนี้ ประกอบไปด้วยมาตรการต่าง ๆ ที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลในการควบคุมการใช้ยาสูบ และ เป็นไปตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO FCTC) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยได้ร่วมลงนามไว้ ดังนั้น การผ่านร่างกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฯ โดยการคงสาระร่าง พ.ร.บ.ฯ ตามที่เห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรี จะช่วยลดการสูบบุหรี่ และปกป้องประชากรและลูกหลานไทยจากภัยอันตรายของยาสูบ

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ