ชาวนาปทุมธานีหวั่นน้ำเค็มกระทบข้าวนาปรัง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




จากวิกฤตการณ์น้ำเค็มที่เกิดจากน้ำทะเลหนุนเข้ามาปะปนกับน้ำจืดในแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้เกษตรกรผู้ใช้น้ำในการทำเกษตรกรรมในหลายจังหวัดที่อยู่ใกล้ปากอ่าว เริ่มพบเจอผลกระทบที่เกิดกับพืชผลทางการเกษตร ทำให้ชาวนาที่ปลูกข้าวนาปรังในจังหวัดปทุมธานี ที่เพิ่งเริ่มปลูกข้าวไปเมื่อประมาณปลายปีที่แล้ว จนถึงตอนนี้ข้าวเริ่มออกรวงแล้ว ก็หวั่นจะได้รับผลกระทบจากภัยน้ำเค็ม

ชาวนาในพื้นที่หมู่ 1 ต.บางคูวัด อ.เมือง จ.ปทุมธานี ได้ลองนำเครื่องวัดค่าความเค็มที่ซื้อเก็บไว้มาวัดค่าความเค็มในน้ำ ระหว่างน้ำประปา กับน้ำในคลองที่เขาใช้ในการทำเกษตรกรรมเปรียบเทียบให้ทีมข่าวดู ซึ่งน้ำประปาพบค่าความเค็มอยู่ที่ 230 PPM ถือเป็นค่าปกติ ขณะที่น้ำในคลองมีความเค็มเจือปนอยู่ที่ 600 PPM ขึ้นไป ทำให้ชาวนาในพื้นที่รู้สึกเป็นห่วงกับสถานการณ์นี้ที่มาเร็วกว่ากำหนด เพราะได้มีการประมาณการณ์ว่าน้ำเค็มน่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม แต่ปีนี้กลับเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้ข้าวที่กำลังออกรวง และกำลังจะเก็บเกี่ยวในอีก 1 เดือนข้างหน้าอยู่ในสภาวะน่าเป็นห่วง ทำให้ชาวนาต้องเฝ้าสังเกตการณ์รายวัน

สำหรับปัญหานี้ ปีที่ผ่านมาชาวนาก็ประสบกับปัญหานี้มาแล้วครั้งหนึ่ง เนื่องจากภัยแล้ง ทำให้ปลูกข้าวได้ครั้งเดียว มาปีนี้ที่หวังว่าจะปลูกข้าวนาปรังได้ ก็กลับเจอวิกฤตน้ำเค็มมาเร็วอีก ชาวนาบางรายบอกกับทีมข่าวว่า ว่าตนไม่รู้ว่าน้ำเค็มมาถึงที่นี่แล้ว เพราะไม่ทราบสถานการณ์นี้เลย และไม่รู้จะรับฟังข่าวสารจากที่ใด โดยหากข้าวได้รับน้ำเค็ม ผลผลิตก็จะได้รับความเสียหาย เนื่องจากเมล็ดข้าวจะลีบ ไม่มีน้ำหนัก หรือบางครั้งก็อาจจะยืนต้นตาย ทั้งนี้ ชาวนาต่างตั้งข้อสงสัย เหตุใดน้ำจึงไม่พอ ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีฝนมาก จนเกิดน้ำท่วม

ในขณะที่เกิดสถานการณ์น้ำเค็ม ทางโครงการชลประทานจังหวัดปทุมธานี ได้ปิดประตูระบายน้ำ เพื่อไม่ให้น้ำเค็มหนุนเข้ามาเพิ่ม แต่เมื่อปิดบางจุดก็ทำให้เกิดปัญหาน้ำเน่า จึงอยากให้ประชาชนบางส่วนเข้าใจ โดยในพื้นที่ 7 อำเภอในจังหวัดปทุมธานีต่างได้รับผลกระทบจากน้ำเค็มแทบทุกจุด ซึ่งสาเหตุที่น้ำเค็มมาเร็วกว่าทุกปีเกิดจากลมพัดสอบที่ปากอ่าว ทำให้น้ำเค็มขึ้นสูงและเร็ว โครงการชลประทานจังหวัดปทุมธานี ยังคงรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อยู่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ผลิตน้ำประปาส่งให้ประชาชนในกรุงเทพมหานครได้ใช้ โดยจะควบคุมค่าความเค็มของน้ำไม่ให้เกิน 0.5 กรัมต่อลิตร


สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นเป็นเวลานานกว่า 2 ปี ได้ทำให้ปริมาณน้ำลดลงไปอย่างมาก แม้ในช่วงปลายปีและต้นปีที่ผ่านมาปริมาณน้ำฝนจะเพิ่มมากขึ้น แต่ก็มีน้ำเติมเต็มอยู่ในอ่างเพียงแค่ 8,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งที่ในความเป็นจริงจำเป็นต้องมีน้ำอยู่ในอ่างที่ประมาณ 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตรขึ้นไป จึงเป็นเหตุผลที่ชลประทานต้องให้ชาวนางดทำนาปรังไปก่อน ซึ่งที่ผ่านมาทางชลประทานได้ติดตามค่าความเค็ม และแจ้งให้มีการประกาศต่อไปยังชาวนาในทุกพื้นที่ และมีการแจ้งข้อมูลทางไลน์กลุ่มอีกด้วย หากใครต้องการทราบข้อมูลค่าความเค็มในแต่ละวัน สามารถตรวจสอบได้ที่ www.water.rid.go.th

 

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ