"ทรัมป์" ถูกดักฟัง อาจไม่ใช่แค่คำกล่าวอ้าง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




แม้ว่าการที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ จะออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าตัวเองตกเป็นเป้าหมายของการดักฟัง แต่หากมองย้อนไปถึงเรื่องอื้อฉาวของรัฐบาลสหรัฐฯ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า สิ่งที่ทรัมป์พูดไม่ได้เป็นเพียงแค่วาทกรรมฉาบฉวย เพราะสหรัฐฯ เคยสอดแนมประชาชนตัวเอง หรือแม้แต่ผู้นำชาติมหาอำนาจมาแล้ว 

การดักฟังเป็นการสอดแนมรูปแบบหนึ่งที่มีข้อมูลเป็นเดิมพัน เนื่องจากการรู้ความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้าม คือความได้เปรียบมหาศาล โดยเฉพาะในสมัยสงคราม  ในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา มีตัวอย่างโครงการสอดแนมของรัฐบาลสหรัฐฯ ให้เห็นถึง 2 ครั้งด้วยกัน ซึ่งก็เพียงพอที่จะทำให้คิดว่าคำกล่าวอ้างของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่บอกว่าเขาตกเป็นเหยื่อของการสอดแนมนั้น ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้



เมื่อปี 2013  เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตลูกจ้างหน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือว่า NSA ออกมาเปิดโปงโครงการสอดแนมลับสุดยอดของสหรัฐฯ  ซึ่งทาง NSA ได้ทำการเก็บข้อมูลจำนวนมหาศาลของประชาชนในประเทศ ทั้งข้อมูลส่วนตัว  และการดักฟังโทรศัพท์ จนนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้น ต้องออกมาแถลงว่าเพิ่งทราบข้อเท็จจริง และจะปิดโครงการนี้ลงทันที  ซึ่งโอบามายืนยันด้วยว่า เขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสอดแนมประชาชนครั้งนี้


กรณีของ NSA ทำให้ผู้เชี่ยวชาญและสื่อจำนวนมากตกใจว่าภารกิจสมัยสงครามเย็นเช่นนี้ยังมีอยู่ได้อย่างไร  และที่แปลกยิ่งไปกว่านั้น คือเป้าหมายของการสอดแนมกลับเป็นประชาชนเสียเอง

ในกรณีของทรัมป์  เขากล่าวหาอดีตประธานาธิบดีโอบามา ว่าเป็นคนออกคำสั่งให้สอดแนมตัวเขา รวมถึงอาคารทรัมป์ ทาวเวอร์  ซึ่งก็เป็นข้อกล่าวที่มีบุคคลากรด้านความมั่นคงออกมาปฏิเสธเป็นจำนวนมาก  



หนึ่งในนั้นคือ นายเบน โรดส์ อดีตที่ปรึกษาระดับอาวุโสของนายโอบามา ที่ออกมาโจมตีทรัมป์ว่า พูดเรื่องที่ไม่เป็นความจริง  พร้อมยืนยันว่า ประธานาธิบดีสหรัฐ ไม่มีอำนาจในการสั่งให้ดำเนินการสอดแนม และข้อบังคับเหล่านี้ก็มีไว้เพื่อปกป้องประชาชนอเมริกันจากคนอย่างทรัมป์


หากเราย้อนดูเป้าหมายการสอดแนมของ NSA ในปี 2013 จะเห็นได้ทันทีว่าสิ่งที่ โรดส์ พูดไม่เป็นความจริง  เว็บไซต์วิกิลีกส์ เผยในรายงานพิเศษเมื่อปี 2013 ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ สั่งให้เจ้าหน้าที่ความมั่นคงดักฟังโทรศัพท์ผู้นำเยอรมนี และเจ้าหน้าที่รัฐบาลเยอรมันอีก 125 คน  โดย NSA ได้รับคำสั่งให้ดักฟังมาตั้งแต่ปี 2002 จนกระทั่งเรื่องแดงขึ้นมาในปี 2013  ยังไม่นับการประชุม G20 ประจำปี ที่แม้แต่นายกรัฐมนตรีรัสเซีย ดีมิทรี เมดเวเดฟ เองก็ถูกดักฟังโทรศัพท์  ต้องไม่ลืมว่าการสอดแนม ปกติแล้ว จะเป็นการล้วงข้อมูลจากฝ่ายตรงข้าม  สหรัฐฯ และเยอรมนี เป็นพันธมิตรที่มีสัมพันธ์ดีต่อกันมาโดยตลอดตั้งแต่จบสงครามโลกครั้งที่สอง



ที่น่าตกใจไปกว่านั่นคือนางอังเกลา แมร์เคิล ซึ่งถือได้ว่าเป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดในยุโรป ก็ตกเป็นเป้าหมายของการสอดแนมตั้งแต่ยังไม่ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนี  ข้อมูลเพิ่มเติมจากสื่อเยอรมัน ระบุว่า NSA ให้เหตุผลในการสอดแนมว่าต้องการล้วงข้อมูลเพื่อความได้เปรียบด้านเศรษฐกิจ นอกจากนี้ รายงานยังระบุด้วยว่า ปฏิบัติการดักฟังโทรศัพท์ของผู้นำเยอรมนี  ได้รับการอนุมัติโดยประธานาธิบดีสหรัฐ ในปี 2010  หมายความว่า ประธานาธิบดีทราบถึงข้อมูลด้านความมั่นคงและการดำเนินการของหน่วยข่าวกรองอย่างละเอียด อีกทั้งยังเป็นผู้อนุมัติให้สอดแนมต่อด้วย

โดนัลด์ ทรัมป์ อาจดูเหมือนเป็นคนที่พูดโดยไม่คิด และพูดในเรื่องที่ไม่น่าเป็นจริง แต่การที่ทรัมป์จะถูกสอดแนมก่อนเข้ารับตำแหน่งก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้

 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ