เด็กจมน้ำตาย พูดทุกปี ตายทุกปี


โดย PPTV Online

เผยแพร่




คอมเมนต์ที่ 36 โดย เข็มขัดสั้น

          “ปิดเทอม” นับเป็นช่วงเวลาที่เด็ก ๆ จะเร่งวันเร่งคืนให้มาถึงเร็ว ๆ เพื่อที่พวกเขาจะได้ “กิน เที่ยว เล่น” มากกว่า “เรียน” และมีความสุข สนุกสนานกับเพื่อน ๆ  

          แต่ช่วงเวลาแห่งความสุขของเด็กจำนวนหนึ่งก็มาไวไปไว เพียงเสี้ยววินาที รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะของพวกเขาก็ลอยหายไปกับ “สายน้ำ” อย่างไม่มีวันกลับ

          วินาทีแห่งความสุขกลายเป็นความทุกข์...จากร่างที่มีชีวิตกลับกลายเป็นร่างไร้วิญญาณ

          ทุกปี ช่วงเดือน มีนาคม ถึง พฤษภาคม เป็นช่วงที่มีเด็กจมน้ำตายมากที่สุด

          ข้อมูลย้อนหลัง 10 ปีพบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำตายไปแล้ว 10,156 คน เฉลี่ยปีละประมาณ 1,000 คน ตกวันละ 3 คนในทุก ๆ 8 ชั่วโมง และการจมน้ำตายเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีเสียชีวิต

          ผมลองไล่ดูสารสำคัญสำหรับการรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขก็พบข้อมูลที่น่าสนใจหลายเรื่องจึงขอนำมาประมวลอีกครั้ง

  • เฉพาะปีที่แล้ว (ข้อมูล ณ วันที่ 9 ก.พ.2560) พบเด็กอายุ 10-14 ปี จมน้ำตายเพิ่มขึ้น 14.5%
  • คุณรู้ไหมว่าเด็กผู้ชายจมน้ำตายมากกว่าเด็กผู้หญิงถึง 2.6 เท่า
  • แล้วก็ใช่ว่า “เด็กว่ายน้ำเป็น” จะไม่จมน้ำตายนะ สถิติระบุไว้ว่า เด็กที่จมน้ำตายเป็นเด็กที่ว่ายน้ำเป็น 17.5%
  • ข้อมูลที่ปรากฏตามสื่อฯ พบว่า ที่เกิดเหตุเด็กจมน้ำตาย เกิดขึ้นที่ “สระว่ายน้ำมาตรฐาน” ถึง 7 ครั้ง มีเด็กตาย 8 คน (นั่นอาจมองได้ว่าตามสระมาตรฐานไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแลใช่หรือไม่-ความเห็นผู้เขียน)

          5 อันดับจังหวัดที่มีเด็กจมน้ำตายมากที่สุด ได้แก่
               1.นครราชสีมา
               2.ขอนแก่น
               3.อุบลราชธานี
               4.สุรินทร์
               5.กรุงเทพฯ
          ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน และเกิดขึ้นตามแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร

          ที่น่าตกใจคือ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จมน้ำตายจากการจมน้ำภายในบ้านและละแวกบ้านตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นถัง กะละมัง โอ่ง หรือภาชนะที่มีน้ำเพียง 1-2 นิ้วก็ทำให้เด็กเล็กจมน้ำตายได้!

          อีกกรณีที่เกิดขึ้นจริงคือ เด็กเล็กชอบเดินตามหมา เดินตามเป็ด แล้วเกิดพลัดตกน้ำ

          แล้วเราจะป้องกันอย่างไร

          สำหรับเด็กเล็กก็ต้องเทน้ำออกหรือปิดฝาภาชนะ ถ้าเป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปีควรมีคอกกั้นในช่วงที่พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย พี่ ป้า น้า อา ไปทำอย่างอื่น

          ส่วนเด็กโตขึ้นมาอีกหน่อยก็ต้องให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยทางน้ำ เช่น เห็นเพื่อนจมน้ำอย่าเพิ่งกระโดดลงไปช่วย ให้ “ตะโกน โยน ยื่น” สอนวิธีเอาตัวรอดในน้ำ, สอนวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น

          ส่วนผู้ใหญ่ในชุมชนนอกจากจะต้องสอดส่องดูแลบุตรหลานแล้วก็อาจจะช่วยกันสำรวจพื้นที่เสี่ยง ติดป้ายเตือน จัดอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำ เป็นต้น

          มาตรการเหล่านี้มีการประชาสัมพันธ์เตือนกันทุกปี (สธ.กำหนดให้วันเสาร์แรกของเดือน มี.ค.ของทุกปีเป็นวันรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำ) แต่ก็มีเด็กจมน้ำตายทุกปีเหมือนกัน แม้ว่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมาภาครัฐจะลดอัตราการจมน้ำตายของเด็กลงไปได้กว่าครึ่ง

          อุบัติเหตุที่เกิดจากความประมาท (เมาแล้วขับ / ฝ่าฝืนกฎจราจร) เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นฉันใด เด็กไทยก็ไม่ควรต้องมาจมน้ำตายก่อนวัยอันควรฉันนั้น.

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ