เจาะปัญหาเด็ก-ผู้ปกครอง เล่นเกมผิดหรือไม่ ?


โดย PPTV Online

เผยแพร่




จากกรณีดราม่าที่มีเพจ Dad Mom and Kids ซึ่งเจ้าของเพจเป็นคุณหมอได้แสดงทัศนะคติเกี่ยวกับเกมเป็นไปในทิศทางที่ลบ และแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าการเลี้ยงลูกให้ได้ดีนั้น ต้องไม่ให้ลูกเล่นเกม ถ้าเล่นเกมจะไม่มีอนาคต ล่าสุด คุณหมอเจ้าของเพจได้ออกมาขอโทษและขอแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการไม่เคลื่อนไหวเพจอย่างน้อย 1 เดือน นับจากวันนี้

ทีมนิวมีเดียพีพีทีวี ได้สอบถามความเห็นจากบุคคลหลากหลายอาชีพเพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นมุมมองที่แตกต่าง ในประเด็น “การเล่นเกมนั้นส่งผลเสียต่อเด็กจริงหรือไม่?”

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต แนะนำว่าการเล่นเกมที่ดีคือการเล่นเพื่อพักผ่อน คลายเครียด แต่หากใช้เวลากับมันมากเกินไปจนไปรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียน หรือการทำงาน นั่นคือการเล่นเกมที่ไม่ดี ส่วนในครอบครัวไหนที่ลูกอยากเล่นเกม ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่อนุญาตให้ทำได้ ตราบใดที่ยังอยู่ในขอบเขตของการพักผ่อนที่เหมาะสม ก่อนเริ่มเล่นก็ควรมีการตกลงในกฎเกณฑ์กติกาให้เรียบร้อย จัดเวลาให้เหมาะสม โดยเด็กมีส่วนร่วมในการจัดเวลาจากนั้นเป็นเวลาพักผ่อนของตัวเด็กเอง ระยะเวลาการพักผ่อนก็อาจแตกต่างกันไปในวันธรรมดา วันหยุด ช่วงสอบหรือช่วงปิดเทอม ให้การชื่นชมเมื่อเขาสามารถรักษากฎกติกานั้นได้ และควรมีวิธีการจัดการที่เหมาะสมหากข้อตกลงตอนแรกล้มเหลว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการนำเสนอกิจกรรมครอบครัวรูปแบบอื่นๆที่เด็กสามารถใช้ทดแทนการเล่นเกมเพื่อพักผ่อนได้

ถ้าเล่นเกมแบบไม่แบ่งเวลาจะส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งกายและจิต
หากเล่นเกมเกินขอบเขตของการพักผ่อน ระยะเวลาที่เกินไปนั้นก็จะไปรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันปกติ ทั้งการดูแลสุขอนามัยของตัวเอง การเรียน การทำงาน ความสัมพันธ์ของครอบครัว การนั่งเล่นเกมทั้งวันโดยไม่ขยับไปไหนเลย ก็จะทำให้เสี่ยงต่อปัญหาทางกายต่างๆตั้งแต่ โรคอ้วน ความดัน สายตา กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อต่างๆ ด้านสุขภาพจิตเมื่อเล่นเกมแบบไม่สนใจผู้อื่น ก็จะเริ่มเกิดปัญหาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง คุยกับคนอื่นรอบข้างน้อยลง เก็บตัวมากขึ้น และมีปัญหาด้านอารมณ์มากขึ้น


 

เกมช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็กได้
ความหมายของเกมจริงๆกว้างมาก ตั้งแต่เกมทางกายภาพเช่นพวกบอร์ดเกม ไปจนถึงเกมคอนโซล ปัจจุบันเกมหรือแอพพลิเคชั่นที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็กตั้งแต่เล็กๆก็มีจำนวนมากมาย หากพ่อแม่ต้องการใช้ส่งเสริมการกระตุ้นพัฒนาการทางสายตาและการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ตั้งแต่เด็กก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่แนะนำในเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปี เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อพัฒนาการทางภาษาที่ล่าช้าได้

เมื่อเด็กโตขึ้นก็จะมีความอยากที่จะเล่นเกมรูปแบบแตกต่างออกไป พ่อแม่ต้องมีส่วนในการช่วยเด็กเลือกเกมโดยดูตามเรทติ้งเกมที่จัดไว้ และพ่อแม่ความต้องมีความเข้าใจในเกมนั้นๆในด้านประโยชน์และโทษที่มี รวมถึงการมีส่วนร่วมในการเล่นเกมของเด็กๆตั้งแต่วัยเยาว์

สอนลูกจากการเล่นเกม ปรับใช้กับชีวิตจริง

การสอนลูกจากการเล่นเกม แบ่งเป็น 2 เรื่อง 1.การสอนจากวินัยในการเล่นเกม 2.การสอนจากเนื้อหาภายในเกม การใช้เกมเป็นตัวสอนเรื่องระเบียบวินัยมักเป็นสิ่งที่พ่อแม่มักมองข้าม เกมเป็นสิ่งที่เด็กชอบและอยู่กับมันได้นาน ในทางกลับกันในการเลิกเล่นแต่ละครั้งก็จะต้องใช้ความพยายามเช่นกัน เมื่อเด็กสามารถเรียนรู้ที่จะทำตามกติกากำหนดเวลาเล่นเกมที่วางไว้ได้ เด็กจะเริ่มพัฒนาความสามารถในการควบคุมและรับผิดชอบตัวเองในอนาคต พ่อแม่อาจช่วยโดยให้แรงสนับสนุนทางบวกเมื่อเด็กคุมเวลาการเล่นได้ด้วยตนเองโดยพ่อแม่ไม่ต้องเตือน

ส่วนการสอนลูกจากเนื้อหาภายในเกมนั้น ก็ขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมของพ่อแม่ หากพ่อแม่ไม่มีส่วนร่วมเลยก็จะไม่มีทางรู้ว่าเนื้อหาภายในเกมเป็นเช่นไร และควรหยิบจุดไหนขึ้นมาสอน เกมในปัจจุบันมีจำนวนมากที่สามารถปรับเนื้อหามาใช้เพื่อสอนได้ ทั้งเกมที่เกี่ยวกับการใช้เงิน เกมปลูกสิ่งก่อสร้าง เกมกีฬาต่างๆ นอกจากนั้นการสอนให้รู้จักการเป็นผู้ชนะที่ดีและความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้นได้ ย่อมจะช่วยให้เด็กปรับมาใช้กับชีวิตจริงให้รับมือกับความล้มเหลวในอนาคตได้

เกมตัวการทำลายความสัมพันธ์ในครอบครัว ?

การเล่นเกมอยู่คนเดียวทั้งวันโดยไม่สนใจคนอื่นๆรอบข้างเลยย่อมทำลายความสัมพันธ์ในครอบครัวแน่นอน เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราไม่สามารถสร้างสังคมได้หากนั่งจ้องหน้าจออยู่เฉยๆโดยไม่สนใจสิ่งรอบตัว แต่หากใช้การเล่นเกมเพื่อเป็นกิจกรรมทางสังคมของครอบครัวแล้ว ความใกล้ชิดและสายสัมพันธ์ย่อมเกิดขึ้น คนในครอบครัวได้มีการเปิดอกพูดคุยกัน ใช้เวลาร่วมกัน มีความสุขด้วยกัน เด็กย่อมได้ทั้งความรัก ความอบอุ่น และแบบอย่างที่ดีจากพ่อแม่ด้วย ทำให้การเปลี่ยนกิจกรรมครอบครัวไปทำอย่างอื่นที่นอกเหนือจากเกมย่อมทำได้ง่าย เพราะเด็กเสพติดความสุขที่ได้จากพ่อแม่มากกว่าที่ได้จากตัวเนื้อหาของเกม

งานวิจัยชี้เกมมีผลเสียจริง แต่มีอัตราที่ต่ำมากกว่าที่สังคมสร้างภาพไว้

งานวิจัยเกี่ยวกับเกมและเด็กมีจำนวนมากมายในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีทั้งงานที่บอกผลเสียและบอกผลดี แต่ปัญหาของงานวิจัยที่ถูกกล่าวถึงอย่างมากคือปัญหาอคติในการตีพิมพ์ เห็นได้ชัดจากงานวิจัยที่บอกว่าสื่อส่งผลรุนแรงมากกับเด็กมักได้ตีพิมพ์ ส่วนงานที่บอกว่าสื่อส่งผลรุนแรงน้อยมักไม่ค่อยได้รับการตีพิมพ์

งานวิจัยวิเคราะห์แบบอภิมาน (Meta-analysis) ใน USA ปี 2015 มีการนำงานวิจัยเกี่ยวกับผลเสียของเกมด้านต่างๆ ทั้งเรื่องก้าวร้าว พฤติกรรม การเรียน ซึมเศร้า และสมาธิสั้น จำนวน 101 งานวิจัยทั้วโลก มาคำนวณใหม่ร่วมกัน พบว่าเกมส่งผลเสียแบบที่พูดมาได้จริง แต่ในอัตราที่ต่ำมากๆ ต่ำกว่าที่สังคมได้สร้างภาพเอาไว้ แล้วกลบปัญหาจริงๆที่อยู่เบื้องหลังการติดเกมนั้น

เกมเป็นเครื่องมือที่มีทั้งประโยชน์และโทษขึ้นอยู่กับผู้ใช้งาน

โดยส่วนตัวคิดว่า "เกม" เป็นแค่เครื่องมือรูปแบบหนึ่ง ขึ้นชื่อว่าเครื่องมือย่อมมีประโยชน์และโทษ ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับผู้ใช้งาน หากครอบครัวให้ความสนใจและทำความเข้าใจกับมัน ใช้ประโยชน์จากมันให้เต็มที่ย่อมเกิดประโยชน์ต่อเด็กๆในครอบครัว แต่หากไม่สอนวิธีใช้ที่ถูกต้อง ปล่อยปะละเลย ใช้เกมเป็นตัวซื้อเวลาว่างให้พ่อแม่ เกมนั้นย่อมส่งผลเสียถึงลูกแน่นอน

เกมเป็นแค่แพะ ปัญหาที่แท้จริงคือครอบครัว

ไม่อยากให้กลัวเกม เพราะมันผิดประเด็น ปัญหาเด็กติดเกมไม่ใช่เกิดจากตัวเกมเอง แต่เกิดจากปัญหาที่อยู่เบื้องหลัง การติดเกมเป็นแค่สัญญานเตือนบางอย่าง พ่อแม่หลายคนเคยเดินมาหาแล้วบอกว่า หลังจากหยุดเกมไป ทำไมลูกไม่เห็นดีขึ้นเลย นั่นเพราะว่าปัญหาจริงๆนั้นมีอีกมากมาย  เช่น การขาดวินัย การใช้เวลากับลูกที่ไร้คุณภาพ ความรุนแรงในครอบครัว การไม่พยายามรับฟังและเข้าใจลูกพวกนี้ต่างหากคือประเด็นที่ทำให้ลูกหันไปฝังตัวอยู่ในเกมแทน

"เรากำลังเผลอโทษเอาเกมเป็นแพะแทนปัญหาครอบครัว ปัญหาเด็กติดเกมเป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมา ส่วนที่อยู่ใต้น้ำนั้นมีขนาดมหึมา"

 

เล่นเกมให้เหมาะกับวัยช่วยพัฒนาการเรียนรู้

อาจารย์บัญญพนต์ พูลสวัสดิ์  หัวหน้าหลักสูตรการออกแบบเชิงโต้ตอบและการพัฒนาเกม  วิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์เทคโนโลยีและ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์  กล่าวว่า เด็กที่เล่นเกมไม่ทำให้เสียการเรียนหากจัดสรรเวลาอย่างดี โดยข้อดีของเกมคือเกมสามารถพัฒนาการเรียนรู้ แต่ต้องเลือกเกมที่จะเล่นให้เหมาะสมแก่ช่วงวัย เนื่องจากเกมมีหลากหลายรูปแบบมีเรทของเกมที่แตกต่างกันออกไป  อย่างเช่น เด็กวัยเล็กก็เล่นเกมที่สมวัย เกมจับคู่ก็จะทำให้เด็กมีพัฒนาการความจำที่ดีขึ้น  ส่วนที่เด็กที่โตขึ้นมาหน่อยก็พยายามหาเกมที่ตอบโจยท์ เช่น เกมการจำลอง  เกมเลี้ยงสัตว์  หรือ เกมสร้างเมือง  เพื่อให้เด็กหัดแก้ปัญหาในเชิงกว้างและลงลึกในรายละเอียด  ต่อมาเด็กที่เป็นวัยรุ่นก็ควรจะจัดเรทว่ามีการเล่นเกมที่มีภาพลามก อานาจารหรือไม่ และมีภาพที่รุนแรงไหม  โดยที่ให้เขาหาเกมที่มันสร้างสรรค์ การเล่นเกมทำให้เด็กมีทักษะการแก้ปัญหาที่ดีกว่า

เกมสามารถสร้างทักษะให้คนผู้เล่น สมัยนี้จะมีกีฬา อี-สปอร์ต อย่างเกม MOBA  เป็นเกมที่ฝึกการเล่นเป็นทีมการวางแผน  เนื้อหาของเกมคือการไปโจมตีอีกฝ่าย โดยมีตัวละครและความสามารถที่หลากหลาย ดังนั้น 5 คน ต้องมีหัวหน้าทีมต้องมีการวางแผนต้องมีการคุยกัน ต้องมีการวางกลยุทธ์ทำอย่างไรก็ได้เพื่อที่จะชนะอีกทีม  คือเกมจะสอนเรื่องทักษะการแก้ไขปัญหาและเรื่องการทำงานเป็นทีม  การตัดสินใจ

พฤติกรรมความรุนแรงเกิดจากเลียนแบบเกมหรือครอบครัว?

ในกรณีที่สังคมชอบมองว่าถ้าเล่นเกมรุนแรงจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบนั้น  อยากจะให้มองย้อนกลับไปว่าพ่อแม่เลี้ยงลูกดีแล้วหรือยัง ?  อีกประเด็นคือลูกคุณมีปัญหามาก่อนหน้านั้นหรือไม่ ? ทำให้ไม่สามารถแยกแยะเรื่องเหล่านี้ได้ มันเป็นสิ่งสะท้อนเลยว่าคุณดูแลลูกดีแล้วหรือยัง ส่วนหนึ่งที่ทัศนคติที่มีต่อเกมมันแย่เพราะผู้ใหญ่ทำให้มันแย่เองและไม่ดูแลให้ดีเอง

แนะผู้ปกครองเล่นเกมกับเด็ก เพราะยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ

นายชนิกนันท์ ทิพย์ไพโรจน์  ผู้ก่อตั้งทีม MiTH (ทีมอี-สปอร์ต) และเจ้าของเว็บไซต์ FPSthailand  กล่าวว่าเกมมีทั้งข้อดีและข้อเสียอยู่แล้ว  แต่ในยุคปัจจุบันการที่จะแยกเกมออกจากชีวิตประจำวันทำได้ค่อนข้างยาก เพราะตอนนี้อินเตอร์เน็ตเข้าไปถึงทุกที่ ขนาดในมือถือยังมีเกมให้เล่น  ดังนั้นการที่จะห้ามไม่ให้เด็กเล่นเกมเลยดูจะเป็นไม้แข็งเกินไป  การยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ ถ้าเด็กอยากเล่นและพ่อแม่ยิ่งห้ามเด็กก็จะหาวิธีของเขาเองได้ โดยการแอบไปเล่นบ้านเพื่อน ร้านเกม ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้จะไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก  ดังนั้นผู้ปกครองควรที่จะเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน ถ้าเกิดผู้ปกครองเปิดใจและเรียนรู้พฤติกรรมของลูกน่าจะเป็นผลดีมากกว่า จริงๆแล้วผู้ปกครองลองเปิดใจมาเล่นเกมกับลูกเลยก็ได้ เพื่อให้ทราบว่าเกมนั้นเป็นยังไง ถ้าเกมไหนที่มีความรุนแรงผู้ปกครองก็สามารถที่จะสอนเด็กได้ถูกวิธี

พ่อแม่เข้าใจลูก ลูกก็ต้องเข้าใจพ่อแม่

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็มักจะมีเด็กมาปรึษาเรื่องที่ผู้ปกครองไม่เข้าใจและไม่อยากให้เล่นเกม  ตัวจริงๆแล้วที่บ้านของผมเองก็ไม่เข้าใจและไม่ยอมรับ  พ่อแม่ยังเคยพูดว่าอาชีพนี้เต้นกินรำกินเพราะจะเห็นพี่แว่นไปออกงานตามงานเกมต่างๆ หากอยากให้พ่อแม่เข้าใจเราเองก็ต้องเข้าใจพ่อแม่ด้วยว่าพ่อแม่ต้องการอะไร ถ้าพ่อแม่อยากให้ตั้งใจเรียนอ่านหนังสือเราก็ทำตรงนั้นให้เสร็จก่อนและค่อยเล่นเกม ซึ่งการแบ่งเวลาเป็นสิ่งที่สำคัญ เช่นเดียวกับการเรียน

การเรียนต้องมาก่อน เกมเป็นเรื่องรอง

“ในเรื่องของนักกีฬาอี-สปอร์ตนั้นประเทศไทยยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง แนะนำให้น้องๆที่ต้องการเดินมาทางนี้ตั้งใจเรียนเป็นหลักไว้ก่อน อยากเล่นเกมก็ทำการบ้าน อ่านหนังสือให้เรียบร้อยก่อน ย้ำไว้เลยว่ายังไงก็ต้องเรียน เพราะประเทศไทยยังไม่มีอาชีพนักกีฬาอี-สปอร์ตแบบจริงจัง  ส่วนตัวคาดว่าจะมีเป็นรูปเป็นร่างในอีก 1-2 ปี ข้างหน้า ”

 

ขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก www.digitalagemag.com

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ