เปิดเนื้อหา “จุดแตกหัก” ปรับปรุงบัตรทอง “เจรจาไม่ได้”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




จุดเริ่มต้นที่ทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกมองว่า มีเป้าหมายให้ประชาชนบางส่วนร่วมจ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาโรงพยาบาลรัฐขาดทุน เกิดขึ้นเพราะที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มร่างกฎหมายข้อเสนอแนะของภาคประชาชนไม่เคยถูกนำมาเป็นประเด็นปรับแก้ไข

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ อดีตบอร์ดสปสช.ภาคประชาชน และเป็นหนึ่งในผู้ที่จับตาการแก้ไขกฎหมายนี้ เปิดเผยว่า ไม่มีประเด็นใดที่ภาคประชาชนเสนอแนะถูกบรรจุอยู่ในร่างกฎหมายเลย นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ภาคประชาชนมองว่า การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้อาจไม่ได้จัดทำขึ้นเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน

ขณะที่ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ประธานคณะกรรมการประชาพิจารณ์ ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มองว่า ภาคประชาชนควรมองปัญหาในภาพรวมมากกว่าการเอาประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่ตั้ง

เนื้อหาของกฎหมายฉบับนี้ที่ฝ่ายคัดค้านมองว่าจะส่งผลกระทบกับประชาชนและควรปรับแก้ไขมีหลายประเด็น ยกตัวอย่างเช่น มาตรา 5 วรรค 2 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับปี 2545 ที่มีเนื้อหา “ให้ประชาชนร่วมจ่าย” ประเด็นนี้เป็นข้อถกเถียงอย่างต่อเนื่องว่าอาจนำไปสู่การเลือกปฎิบัติกับคนไข้ แต่ในร่างกฎหมายใหม่กับพบว่าไม่มีการแก้ไขใดใดกับมาตรานี้

แต่กลับมีการขอเพิ่มสัดส่วนคนของกระทรวงสาธาณสุขในบอร์ดบริหารและควบคุมคุณภาพบริการของ สปสช.ให้มากขึ้น จนทำให้กระทรวงสาธารณสุขได้เสียงข้างมากในบอร์ดสปสช. และอาจนำไปสู่การพยายามผลักดันให้ประชาชนร่วมจ่ายค่าบริการ เพราะ ที่ผ่านมาโรงพยาบาลของรัฐแบกรับภาระค่าใช้จ่ายอย่างหนัก จนโรงพยาบาลหลายแห่งอยู่ในสภาวะขาดทุนอย่างหนักตลอด 15 ปีที่มีโครงการนี้ ประเด็นนี้ นพ.พลเดช ระบุว่า กลุ่มคัดค้านกังวลว่าอาจทำให้เสียโควต้าตำแหน่งบอร์ด สปสช. เป็นสาเหตุของการตกลงกันไม่ได้

ส่วนอีก 1 ประเด็นที่ทำให้ภาคประชาชนมองว่า การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อเอื้อประโยชน์กับประชาชน คือ มาตรา 45 ซึ่งกฎหมายเดิมระบุถึงกรณีการส่งตัวผู้ป่วยไปรักษาในหน่วยบริการอื่น หน่วยบริการต้นสังกัดจะต้องจ่ายค่าบริการให้กับรพ.ปลายทางที่รับตัวผู้ป่วย ประเด็นนี้เป็นอีกเรื่องที่ถกเถียงกันมานาน เพราะ หลายครั้งใช้ยาและเวชภัณฑ์จ่ายแทนจำนวนเงิน เนื่องจากมีต้นทุนที่ถูกกว่า แต่หลังถูกสตง.ท้วงติดว่า สปสช.จ่ายเป็นยาไม่ได้ การแก้กฎหมายฉบับใหม่ ก็มุ่งเน้นโดยระบุชัดว่าให้จ่ายเป็น ตัวเงิน ทั้งที่มีต้นทุนสูงกว่ามหาศาล

การรับฟังความเห็นของประชาชนแม้ตอนนี้จะเสร็จสิ้นลงแล้ว แต่ในวันที่ 20-21 มิถุนายน จะมีเวทีรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งจะมีผู้เข้าร่วม 100 คน โดยในเย็นวันนี้กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ จะหารือกันว่าจะเข้าร่วมเวทีในวันพรุ่งนี้หรือไม่ เนื่องจากยังมีข้อกังวลว่าหากหารือแล้วไม่ได้ข้อยุติอาจทำให้ถูกเหมารวมว่าเข้าร่วมการทำประชาพิจารณ์แล้ว

และหลังจบกระบวนการทำประชาพิจารณ์ คณะกรรมการประชาพิจารณ์ฯ จะส่งผลการทำประชาพิจารณ์ให้กับกรรมการยกร่างพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ ในวันที่ 30 มิถุนายน จากนั้นที่ประชุมใหญ่จะนัดประชุมกันเพื่อสรุปร่างกฎหมายฉบับนี้ มีรายงานว่าการประชุมถูกกำหนดไว้ในวันที่ 6 และ 13 กรกฎาคม และมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะส่งร่างกฎหมายให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขภายในเดือนกรกฎาคม

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ