62 ปี โทรทัศน์ไทย สู่ OTT


โดย PPTV Online

เผยแพร่




24 มิถุนายน 2560 ครบรอบ 62 ปี วันโทรทัศน์ไทย ซึ่งในประเทศไทยออกอากาศโทรทัศน์ทางภาคพื้นดิน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2498 และมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องจากภาพขาวดำเปลี่ยนเป็นภาพสีปี พ.ศ.2513 รวมทั้งเปลี่ยนจากระบบอนาล็อกเป็นระบบดิจิทัลทีวี ในปี พ.ศ.2556 และในวันนี้วงการโทรทัศน์ไทยกำลังก้าวสู่การให้บริการกระจายเสียงหรือบริการโทรทัศน์ผ่านโครงข่ายอื่นที่ไม่ใช่โครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ (Over The Top : OTT)

ก่อนวันก่อกำเนิดโทรทัศน์ของไทยจะครบรอบ 62 ปีเพียงวันเดียว วันที่ 23 มิถุนายน 2560 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ได้ออกหลักเกณฑ์การเป็นผู้ให้บริการโครงข่าย OTT และผู้ให้บริการ OTT ซึ่งเป็นอีกก้าวของการเปลี่ยนผ่านของวงการโทรทัศน์ไทย

โดย กสท. ภายใต้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการประชุมครั้งที่ 16/2560 เมื่อวันที่จันทร์ที่ 12 มิ.ย.60 ได้พิจารณาข้อเท็จจริงที่ปรากฏปัจจุบัน พบว่า มีบุคคลที่มีการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ OTT หรือการให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ OTT ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องตามมติที่ประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 24 เม.ย.60 จึงมีมติกำหนดแนวทางและขั้นตอนการแจ้งเป็นผู้ให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ หรือผู้ให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ในรูปแบบ OTT และแนวทางกำกับดูแลดังนี้

ลักษณะของผู้ให้บริการกระจายเสียงโทรทัศน์ OTT

1.ผู้ให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ OTT หมายถึง ผู้ดำเนินการส่งข่าวสารหรือรายการที่เป็นเสียง หรือภาพและเสียง ไปสู่สาธารณะด้วยการใช้ภาษาไทยหรือการใช้สัญลักษณ์ใดๆ ที่ทำให้คนไทยสามารถเข้าใจได้ในลักษณะเดียวกันกับการใช้ภาษาไทย หรือเป็นเนื้อหาเกี่วกับประเทศไทย ผ่านทางโครงข่ายอื่นที่มิใช่โครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ไปยังเครื่องรับภายในประเทสไทย โดยประชาชนให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง หรือมีอิทธิพลต่อการรับรู้ของประชาชน จนอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือความมั่นคงของรัฐ

2. ผู้ให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ OTT หมายถึง ผู้ให้บริการเชื่อมโยงหรือถ่ายทอดสัญญาณเสียง หรือ ภาพ ของผู้ให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ OTT ไปยังเครื่องที่สามารถรับสัญญาณผ่านทางระบบการเชื่อมโยงสัญญาณ โดยสื่อตัวน าที่เป็นสาย คลื่นความถี่ แสง คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือสื่อตัวน าอื่นใด โดยประชาชนให้ความนิยมและใช้งานกันอย่าง แพร่หลาย หรือเป็นระบบการเชื่อมโยงหรือถ่ายทอดสัญญาณเสียงหรือภาพที่สร้างการรับรู้ของประชาชนจนอาจส่งผลกระทบ อย่างมีนัยสำคัญต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือความมั่นคงของรัฐ

3. การยื่นแจ้งแบบการให้บริการหรือโครงข่าย OTT ให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เพื่อให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ หรือเพื่อให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ หากประสงค์จะให้บริการกระจายเสียง หรือโทรทัศน์ OTT หรือบริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ OTT ให้แจ้งต่อคณะกรรมการหรือผู้ที่คณะกรรมการมอบหมาย เพื่อพิจารณากำหนดเงื่อนไขการให้บริการเพิ่มเติม ส่วนผู้ที่มีรูปแบบการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ OTT หรือผู้ให้บริการ โครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ OTT ให้คณะกรรมการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ แจ้งให้บุคคลดังกล่าว แสดงตนและเข้าแจ้งเป็นผู้ให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ OTT หรือผู้ให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ OTT ภายใน 30 วันนับตั้งแต่ได้รับการแจ้ง ทั้งนี้ การยื่นแจ้งแบบการให้บริการหรือโครงข่าย OTT สามารถดำเนินการด้วยตนเองโดย จะต้องเป็นผู้ที่มีถิ่นพำนักหรือสถานที่ประกอบกิจการในประเทศไทย ตลอดระยะเวลาการให้บริการในประเทศไทย หรือสามารถดำเนินการโดยตัวแทน ซึ่งเป็นผู้แทนการให้บริการในประเทศไทย ซึ่งมีถิ่นพำนักหรือสถานที่ประกอบกิจการในประเทศไทย ตลอดระยะเวลาการให้บริการในประเทศไทย

4. การกำกับดูแลการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ หรือให้บริการโครงข่ายในรูปแบบ OTT ให้ปฏิบัติตาม กฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้บริการเช่นเดียวกับผู้รับ ใบอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ เว้นแต่ ประกาศ หลักเกณฑ์ หรือระเบียบว่าด้วยผังรายการ ค่าธรรมเนียม การหารายได้ การให้บริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป การเผยแพร่รายการโทรทัศน์สำคัญ และการจัดลำดับ หมวดหมู่บริการ มิให้นำมาบังคับใช้จนกว่าคณะกรรมการจะกำหนดเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ ผู้ให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ OTT หรือผู้ให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ OTT ที่ไม่ดำเนินการตามแนวทางหรือขั้นตอนที่กำหนดไว้ ถือว่าเป็นผู้ที่ไม่ได้ รับอนุญาตให้บริการกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ OTT ในประเทศไทย

พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่า สำหรับผู้ที่ทำเนื้อหาเป็นภาษาไทย แต่ไปเผยแพร่ในต่างประเทศ และไม่ได้เผยแพร่ในประเทศไทย ไม่ถือว่าเป็น OTT ส่วนแนวทางการพิจารณาว่า ยูทูปเบอร์ เน็ตไอดอล หรือเพจเฟซบุ๊กไหนเข้าข่ายเป็นผู้ให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ (OTT) จะพิจารณาจากเนื้อหาที่นำเสนอว่ามีอิทธิพลและผลกระทบต่อประชาชนหรือไม่ รวมทั้งมีผู้ติดตามการนำเสนอเนื้อหาต่อเนื่องหรือไม่ โดยไม่กำหนดจำนวนผู้ติดตาม

ต่อคำถามที่ว่า หากผู้ที่เป็นยูทูปเบอร์ เน็ตไอดอล หรือเพจเฟซบุ๊กดัง ไม่มีความประสงค์จะเข้าร่วมเป็นผู้ประกอบกิจการ OTT จะทำอย่างไร พันเอก ดร.นที กล่าวว่า OTT เป็นกระบวนการทางกม.ไม่ใช่กระบวนการเพื่อความสมัครใจ โดย กสท. จะเป็นผู้พิจารณาว่า ยูทูปเบอร์ เน็ตไอดอล หรือเพจเฟซบุ๊กดัง มีการนำเสนอเนื้อหาที่อิทธิพลและผลกระทบต่อประชาชน ก็จะส่งหนังสือเชิญมาลงทะเบียนเป็นผู้ประกอบการ OTT โดยให้เวลา 30 วันนับจากวันที่ได้รับหนังสือเชิญ ซึ่งการเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการ OTT จะอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 และกฎหมายประกอบที่เกี่ยวข้อง

หากผู้ที่เข้ามาอยู่ใน OTT นำเสนอเนื้อหาไม่เหมาะสมเบื้องต้นอ้างอิงจากการลงโทษกรณีของรายการทีวีที่ กสทช. เคยพิจารณาโทษปรับทางปกครองเพราะนำเสนอเนื้อหาไม่เหมาะสม เป็นเงิน 500,000 บาท เนื่องจากเนื้อหารายการมีลักษณะเป็นการทำลาย หรือเหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคล เข้าข่ายเป็นเนื้อหาที่มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ฝ่าฝืนมาตรา 37 วรรคแรก แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551

พันเอก ดร.นที กล่าวต่อว่า หากยูทูปเบอร์ เน็ตไอดอล หรือเพจเฟซบุ๊กดัง ไม่มาตามระยะเวลาที่กำหนด จะถือว่ายูทูปเบอร์ เน็ตไอดอล หรือเพจเฟซบุ๊กดังนั้นๆ ไม่อยู่ในสารบบของกฎหมายไทย กสทช.สามารถสั่งระงับออกอากาศได้ทันทีตั้งแต่มีผู้ร้องเรียน เนื่องจากถือว่าเป็นผู้ประกอบการโดยไม่ได้รับใบอนุญาต

พันเอก ดร.นที กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ผู้ให้บริการ เฟซบุ๊ก ยูทป และเน็ตฟลิกซ์ ยังไม่เข้ามาพบ กสทช. เพื่อรับทราบแนวทางในการเข้าสู่การเป็น OTT นั้น คาดว่าในสัปดาห์หน้าผู้ให้บริการ เฟซบุ๊ก ยูทป และเน็ตฟลิกซ์ จะเข้ามาพบกสทช.พร้อมกับสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน โดยตามกำหนดการแล้วการยื่นขอเป็นผู้ให้บริการ โครงข่าย OTT ของผู้ให้บริการ เฟซบุ๊ก ยูทูป และเน็ตฟลิกซ์จะครบกำหนดในวันที่ 22 ก.ค.60 นับจากวันที่ กสทช.ประชุมชี้แจงร่วมกับผู้ประกอบการในวันที่ 22 มิ.ย.60

 

มาดูกันว่า ใครต้องแจ้งเป็นผู้ให้บริการ OTT หรือ ผู้ให้บริการโครงข่าย OTT แบบไหน

 

แบบที่ 1

ผู้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงโทรทัศน์ เช่น ทรูวิชั่นส์ ซึ่งให้บริการเคเบิล ก่อนมาสร้างแพลตฟอร์มใหม่ที่ให้บริการอยู่บนอินเทอร์เน็ตโพรโทคอล ให้มาแจ้งเป็น ผู้ให้บริการโครงข่าย OTT (ให้ถือว่าเป็นผู้แจ้งให้บริการ OTT)

แบบที่ 2

ผู้จัดหา รวบรวมและเผยแพร่ ได้แก่ ผู้ให้บริการโครงข่าย OTT รายใหม่ เช่น เน็ตฟลิกซ์ ยูทูป เฟซบุ๊ก ซึ่งรวบรวมมาทำเป็นแอพพลิเคชั่น เป็นเนื้อหาให้มาแจ้งเป็น ผู้ให้บริการโครงข่าย OTT (ให้ถือว่าเป็นผู้แจ้งให้บริการ OTT)

แบบที่ 3

ผู้ได้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงโทรทัศน์ เช่น ทรูวิชั่นส์ ซึ่งทำทรูวิชั่นส์ แอนิแวร์ ดูทีวีออนไลน์ ให้มาแจ้งเป็นผู้ให้บริการ OTT

แบบที่ 4

ผู้จัดหา รวบรวม และเผยแพร่ เป็นข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับเพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

แบบที่ 5

ผู้ได้รับใบอนุญาตให้บริการกระจายเสียงโทรทัศน์ ได้แก่ ช่อง 3 ช่อง 7 และช่องทีวีดิจิทัล ให้มาแจ้งเป็นผู้ให้บริการ OTT (โดยจะกำหนดเงื่อนไขใบอนุญาตเพิ่มเติม เช่น การให้บริการ OTT ไม่เก็บค่าธรรมเนียม / ไม่ต้องจัดทำผังรายการ / ไม่มีมัสต์แครี่ (Must Carry) / ไม่มีมัสต์แฮฟ (Must Have)

แบบที่ 6

ผู้ให้บริการข่าวสาร หรือรายการที่เป็นภาพ เสียงและภาพ เช่น ยูทูปเบอร์ เน็ตไอดอล เพจเฟซบุ๊กดัง ซึ่งหมายถึง บุคคล และนิติบุคคล ที่ไม่เคยเป็นผู้ที่ให้บริการช่องรายการมาก่อน ให้มาแจ้งเป็นผู้ให้บริการ OTT

แบบที่ 7

ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้บริการกระจายเสียงโทรทัศน์ เช่น ช่อง 3 ช่อง 7 ที่ทำเว็บไซต์ และแอพพลิเคชั่น โดยให้บุคคลอื่นๆ เข้ามาใช้งานร่วมด้วย ให้มาแจ้งเป็น ผู้ให้บริการโครงข่าย OTT

แบบที่ 8

ผู้ให้บริการข่าวสาร หรือรายการที่เป็นภาพ เสียงและภาพ เช่น GMM ยูทูปเบอร์ ที่มีศักยภาพในการพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ขึ้นเอง ให้มาแจ้งเป็น ผู้ให้บริการโครงข่าย OTT

สรุป

ผู้รับใบอนุญาตโครงข่ายเดิมที่ต้องการเพิ่มช่องทางผ่านทาง OTT ให้มาแจ้งเป็นผู้ให้บริการโครงข่าย OTT ตามรูปแบบที่ 1

ส่วนผู้ให้บริการช่องทางเดิมที่ไม่ใช้คลื่น ต้องการนำเนื้อหาและรายการมาเผยแพร่ทาง OTT ให้มาแจ้งเป็นผู้ให้บริการ OTT ตามรูปแบบที่ 5

 

การยื่นแบบเพื่อให้บริการโครงข่าย และบริการ OTT

 

JOEL SAGET / AFP

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ