เปิด “ทฤษฎีทางถนน” พิสูจน์เจตนาคนขับรถทับหมา ตั้งใจหรือไม่


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ข้อพิพาทของคู่กรณีในเหตุการณ์นี้ชัดเจนว่า น้ำหนักในคดีอยู่ที่การพิสูจน์เจตนาของคนขับรถทับสุนัข ทีมข่าว PPTV สอบถามนักวิชาการด้านความปลอดภัยทางถนนจาก 2 องค์กร พบว่า แม้การพิสูจน์เรื่องนี้จะยืนยันผลไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็พอจะมีทฤษฎีที่จะนำมาพิสูจน์ได้

ทีมข่าว PPTV ตรวจสอบจุดเกิดเหตุบริเวณตลาดสี่แยกป้อมตำรวจ อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี พบว่า ถนนในจุดนี้มีความกว้าง 4 เมตร แต่มีพื้นที่ให้รถวิ่งจริงได้เพียง 2 เมตร  เนื่องจาก 2 ฝั่งเป็นที่ตั้งของร้านค้าและจุดจอดรถจักรยานยนต์ของคนพื้นที่  เมื่อสังเกตุอยู่ระยะหนึ่ง เราพบว่า รถส่วนใหญ่ที่วิ่งผ่านในจุดนี้จะขับชิดขวา เช่นเดียวกับรถกระบะคันที่ขับทับสุนัขเสียชีวิต ทำให้น้ำหนักประเด็นที่เจ้าของสุนัขเชื่อว่า สาเหตุของการขับรถชิดขวา เกิดจากคนขับมีเจตนาให้ล้อซ้ายทับสุนัขเสียชีวิตอาจพิสูจน์ได้ไม่ง่าย เพราะอีกด้านหนึ่ง ก็มีลักษณะทางกายภาพของถนนและสิ่งกีดขวางเป็นตัวแปรสำคัญ


ส่วนข้ออ้างของคนขับที่ว่า มองไม่เห็นเป็นสาเหตุของการขับรถทับสุนัข  ทีมข่าว PPTV ทดสอบโดยการขอนุญาตตำรวจนำตุ๊กตาล้มลุก ที่มีลักษณะของความสูงและความกว้างใกล้เคียงกับการนั่งสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ไปวางไว้บริเวณจุดเกิดเหตุ พบว่า คนขับรถผ่านทั้งหมดที่มีทั้งรถเก๋ง รถซาเล้ง และรถกระบะลักษณะใกล้เคียงกับคันที่ทับสุนัข มองเห็นสิ่งกีดขวางอย่างชัดเจน และส่วนใหญ่ก็ตัดสินใจหยุดและหักหลบ แต่นี่ก็ยังไม่ใช่ผลสรุปที่จะตัดสินเจตนาได้ เพราะยังมีปัจจัยด้านเวลา ซึ่งช่วงเวลาทดสอบ ทีมข่าว PPTV เลือกช่วงเวลาที่ไม่ต้องการให้ตรงกับเวลาเกิดเหตุจริง เพื่อป้องกันการนำไปอ้างอิงเพื่อประโยชน์ในทางคดี

ทีมข่าว PPTV นำข้อมูลเหล่านี้ไปสอบถามเพิ่มเติมกับ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน พบว่า มีทฤษฎีที่เป็นองค์ประกอบพิสูจน์เจตนาในเหตุการณ์ลักษณะนี้ คือ การวิเคราะห์สภาพแวดล้อม โดยแบ่งเป็น การพิจารณาว่า 1.แสงสว่างว่าไม่เพียงพอเป็นสาเหตุการขับรถทับหรือชนหรือไม่ ตามภาพนายแพทย์ธนพงษ์วิเคราะห์ แสงสว่างไม่น่าถึงขั้นเป็นอุปสรรคที่มองไม่เห็น  2.สุนัขตัดหน้ารถหรือไม่ ตามภาพจากกล้องวงจรปิดชัดเจนว่า สุนัขไม่มีพฤติกรรมวิ่งตัดหน้า 3.สุนัขอยู่ในตำแหน่งที่เป็นจุดบอด หรือไม่ ผลทดสอบพบว่า ไม่ใช่ และ 4.คนขับอาจละสายตาไปจากตำแหน่งของสุนัข  ข้อนี้นายแพทย์ธนพงษ์ให้น้ำหนักว่าอาจเป็นสาเหตุของการเกิดเหตุมากที่สุด แต่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หากรถขับมาที่ความเร็ว 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมงจริง นั่นหมายความว่า รถจะเคลื่อนตัวไปข้างหน้าได้ 5-10 เมตรต่อ 2 วินาที และ 2 วินาทีเป็นเวลาที่มีข้อมูลทางวิชาการรองรับว่า คนขับจะไม่ละสายตาไปเกินกว่าเวลานี้  ทำให้ส่วนตัวนพ.ธนะพงศ์  ให้น้ำหนัก โดยไม่เชื่อคนขับจะมองไม่เห็นสุนัข นอกจากมีปัจจัยอื่นที่เป็นข้อมูลที่ยังไม่ปรากฎ


สอดคล้องกับ ผศ.ทวีศักดิ์ แตะกระโทก นักวิชาการด้านวิศวกรรมจราจร ม.นเรศวร  แม้จะยืนยันว่า เจตนาในเหตุการณ์นี้พิสูจน์ได้ลำบาก แต่พฤติกรรมของคนขับก็ผิดวิสัยจากคนขับรถทั่วไป  โดยเฉพาะเมื่อรู้สึกว่า ขับรถทับวัตถุอะไรบางอย่างแล้วไม่ลงมาจอดดู หรืออีกด้านหนึ่งอาจเป็นไปได้หรือไม่ว่า คนขับมองเห็นแต่คิดว่า สุนัขจะวิ่งหลบตามสัญชาตญาณ


หากคดีนี้ขึ้นสู่ชั้นศาล ชัดเจนว่าประเด็นที่ทั้ง 2 ฝ่าย ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงในทางคดี ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะยืนยันผลลัพท์แน่นอนได้  นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมให้สังคม ให้สัมภาษณ์ในรายการเป็นเรื่องเป็นข่าว เมื่อคืนนี้ว่าจากท่าทีของคู่กรณี 2 ฝ่าย มีแนวโน้มสูงที่จะมีคดีงอกระหว่างมีข้อพิพาทกัน โดยเฉพาะความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งเกิดขึ้นประจำกับคดีที่ไม่สามารถไกล่เกลี่ยกันได้ลงตัว

ส่วนคดีหลักหากยึดตามข้อกฎหมาย ฝ่ายคนขับรถทับสุนัข จะมีความผิดตามกฎหมายจราจรทางบก โทษปรับสูงสุดเพียง 1 พันบาท แต่หากอีกฝ่ายสามารถพิสูจน์ได้ว่า คนขับมีเจตนาฆ่าสุนัขและมีน้ำหนักพอให้ศาลเชื่อ ความผิดก็จะงอกเงยเข้าสู่กฎหมายป้องกันทารุณกรรมสัตว์ ซึ่งมีโทษหนักกว่าและเป็นความผิดที่ไม่สามารถยอมความได้ ส่วนฝ่ายเจ้าของสุนัขก็จะมีความผิดตามมาตรา 111 ของกฎหมายจราจรทางบก ที่กำหนดข้อห้ามนำสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงมาอยู่บนท้องถนน

ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมให้สังคม เสนอว่า ทางที่ดีทั้ง 2 ฝ่ายควรตกลงกันให้ได้ และไม่ควรท้าทายกันโดยอาศัยอำนาจศาล เพราะการต่อสู้คดีนอกจากจะต้องใช้เวลานานและมีต้นทุนที่ต้องจ่ายทั้งในแง่เวลาและค่าใช้จ่าย ยังมีแนวโน้มที่โทษความผิดจะสูงขึ้นและบานปลายระหว่างต่อสู้คดีกัน  

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ