“ดร.เสรี” แนะผู้ว่าฯทั่วประเทศเร่งประเมินความเสี่ยง กันน้ำท่วมซ้ำรอยสกลฯ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต วิเคราะห์สาเหตุน้ำท่วมใหญ่เมืองสกลนคร พร้อมแนะทุกจังหวัดควรประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ และออกมาตรการป้องกันก่อนเกิดเหตุ

ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต วิเคราะห์สาเหตุน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดสกลนครผ่านรายการเป็นเรื่องเป็นข่าวทางช่องพีพีทีวี ว่า จังหวัดสกลนครนับเป็นหนึ่งในจังหวัดที่เสี่ยงต่อการโดนน้ำท่วมเนื่องจากในอดีตก็เคยมีน้ำท่วมมาก่อน สำหรับสาเหตุสามารถแบ่งออกเป็น 2 ปัจจัยใหญ่ๆคือ ปัจจัยธรรมชาติ สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้มีฝนตกมากขึ้น รวมถึงพายุโซนร้อนที่พัดผ่านบริเวณดังกล่าว ซึ่งปัจจัยนี้เราไม่สามารถควบคุมได้

อีกปัจจัยหนึ่งคือความเจริญของเมืองที่มีสิ่งปลูกสร้างมากขึ้น ซึ่งหากมองในเชิงของพฤติกรรมน้ำหลาก การเปลี่ยนจากพื้นดินเป็นพื้นแข็ง ส่งผลให้น้ำไหลเร็วขึ้น และไม่สามารถหน่วงเวลาน้ำ หรือซับน้ำได้เหมือนเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน รวมถึงแต่ละจังหวัดไม่มีการประเมินความเสี่ยงและเตือนประชาชนล่วงหน้า ส่วนโอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมซ้ำรอย ดร.เสรี ระบุว่า หากดูจากสถิติทุก 30 ปีจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ในลักษณะนี้เพียง 1 ครั้ง แต่ไม่สามารถระบุได้เลยว่าจะเกิดขึ้นในปีใด

สำหรับการพยากรณ์ 4 เดือนข้างหน้า จังหวัดสกลนคร ยังอยู่ในความเสี่ยง รวมถึงจังหวัดที่อยู่ริมลำน้ำโขง ส่วนจะหนักกว่านี้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับพายุที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเราไม่สามารถคาดการณ์ได้ แต่จะสามารถรู้ล่วงหน้าว่ามีพายุเพียง 4-5 วัน ในช่วงการก่อตัวของพายุเท่านั้น ขณะที่พายุเซินกา นับเป็นพายุโซนร้อนลูกที่ 10 ในปีนี้ แต่หากดูจากสถิติแล้ว พายุโซนร้อนจะเกิดขึ้นเฉลี่ยปีละ 26 ครั้ง ซึ่งในปีนี้ระยะเวลาที่เหลืออีกเพียง 5 เดือน อาจเกิดพายุมากถึง 16 ลูก โดย ดร.เสรี ยังบอกต่อว่า ถึงแม้ว่าจะเหลือพายุอีกประมาณ 16 ลูก แต่ประเทศไทยยังโชคดี เนื่องจาก แนวโน้มทิศทางของพายุส่วนใหญ่กว่า 80 เปอเซ็นจะถูกพัดขึ้นไปทางด้านบนของโลกซึ่งต่างจากปี 2554 ที่พายุพัดมาในแนวตรงจนประเทศไทยเกิดน้ำท่วมใหญ่ในปีนั้น


ส่วนแนวทางป้องกันเหตุน้ำท่วม ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต แนะนำว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ควรบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆในพื้นที่ รวมถึงมหาวิทยาลัย จัดการวิเคราะห์ประเมินความเปราะบางและความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่ ก่อนกำหนดมาตรการป้องกันเช่นการสร้างฝาย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชน ให้เตรียมพร้อมไว้ตลอดเวลา และอย่าคาดหวังกับการพยากรณ์อากาศ เพราะไม่มีประเทศใดในโลกพยากรณ์ได้อย่างแม่นยำ

ขณะที่สถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดยโสธร ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดระดับน้ำในแม่น้ำชีห่างจากคอตลิ่งเพียง 1 เมตรกว่า หลังเขื่อนลำปาวเร่งระบายน้ำออก ซึ่งหน่วยงานในพื้นที่ก็จัดกำลังเฝ้าระวังตลอดทั้งคืน พร้อมทั้งนำกระสอบทรายมากั้นไว้ และรายงานระดับน้ำทุก 1 ชั่วโมง ด้าน ดร.เสรี มองว่า หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม ลำพังน้ำที่ถูกปล่อยออกจากเขื่อนลำปาว ไม่สามารถทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในเมืองยโสธรได้ พร้อมระบุว่า กรมชลประทาน มีแผนตัดน้ำอยู่แล้ว คาดว่าอาจตัดน้ำเข้าทุ่งนา เพื่อลดระดับของน้ำที่จะเข้าท่วมตัวเมือง



TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ