เอกชนหารือ ธปท.สกัดค่าเงินบาทแข็ง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ตัวแทนภาคเอกชนกังวลบาทแข็ง ส่งผลกระทบต่อการส่งออก ในขณะที่ ธปท. เผยยังไม่จำเป็นต้องออกมาตรการพิเศษเพื่อดูแลค่าเงินบาท


นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกล่าวว่าการที่หลายประเทศมีนโยบายผ่อนคลายการเงินส่งผลให้สกุลเงินอ่อนค่า เช่น ยุโรป ซึ่งเงินยูโรอ่อนค่าลงกว่า 10% เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่อ่อนค่าระดับใกล้เคียงกัน


อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมายอมรับว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนและเสถียรภาพทางการเงินได้อย่างเหมาะสม แต่อยากเสนอแนะให้ ธปท. และรัฐบาลเข้าไปดูในส่วนของการค้าขายแนวชายแดน อาเซียนหรือเพื่อนบ้าน เพื่อเพิ่มการส่งออก โดยสนับสนุนให้ใช้เงินสกุลคู่ค้าให้มีความสะดวกต่อการค้ามากขึ้น


นอกจากนี้ ยังต้องการให้ ธปท.สนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์จัดตั้งสาขาในต่างประเทศ เช่น ปากีสถานและรัสเซียที่เป็นตลาดใหม่ของไทย แต่ยังไม่มีสถาบันการเงินรายใดเข้าไปดำเนินกิจการ เพื่อสนับสนุนการทำธุรกิจของผู้ประกอบการ


นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่าการค้าชายแดนที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจึงต้องการให้ธปท.ออกระเบียบให้ภาคธุรกิจทำการค้าที่ซื้อขายกันด้วยสกุลเงินของประเทศแถบชายแดนได้โดยตรง โดยเฉพาะมาเลเซีย จากปัจจุบันทำได้เพียงสิงคโปร์เท่านั้น เพื่อลดส่วนสูญเสียรายได้จากความเสี่ยงที่ต้องแลกเปลี่ยนเงินจากสกุลดอลลาร์สหรัฐก่อน


ขณะที่นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวว่า ธปท.ยังไม่จำเป็นต้องออกมาตรการพิเศษดูแลค่าเงินบาท เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากความผิดปกติของกระแสเงินทุนไหลเข้าออก แต่มาจากการเปลี่ยนแปลงของเงินสกุลอื่น ซึ่งเป็นประเทศขนาดใหญ่และเป็นคู่ค้าของไทย เช่น สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น ซึ่งทุกประเทศเผชิญกับสถานการณ์เดียวกัน


ทางด้านนายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ถือว่า (ธปท.) ยังสามารถดูแลสถานการณ์ค่าเงินบาทได้อย่างเหมาะสม โดยยังไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการทางการคลังใดๆ เข้ามาช่วยดูแลค่าเงินในขณะนี้ แต่ก็ยอมรับว่าเงินบาทยังค่อนข้างแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ