สหรัฐฯ ถอนตัวยูเนสโก ไม่พอใจท่าทีต่อต้านอิสราเอล


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สหรัฐอเมริกาถอนตัวจากยูเนสโก เหตุไม่พอใจหน่วยงานยูเอ็นมีท่าทีต่อต้านอิสราเอล พร้อมเสนอให้มีการปฏิรูปองค์กรครั้งใหญ่

เมื่อกลางดึกที่ผ่านมา กระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า สหรัฐฯ จะถอนตัวจากการภาคีสมาชิกขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคมปีหน้าเป็นต้นไป โดยสหรัฐฯ ได้ระบุถึงเหตุผลของการถอนตัวครั้งนี้ โดยอ้างว่ายูเนสโกวางตัวไม่เป็นกลาง เพราะมีท่าทีต่อต้านอิสราเอลมาโดยตลอด นอกจากนี้  สหรัฐฯ ยังแสดงความกังวลถึงปัญหาหนี้ค้างชำระขององค์กร และแนะนำว่าควรมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ จะยังคงสถานะเป็นชาติผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ใช่สมาชิก เพื่อเสนอความเห็น มุมมอง และความเชี่ยวชาญต่อไป และหลังจากที่สหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ไม่กี่ชั่วโมง อิสราเอลก็ประกาศว่าจะถอนตัวจากการเป็นสมาชิกยูเนสโกเช่นกัน โดย นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ยังกล่าวชื่นชมการตัดสินใจของสหรัฐฯ ด้วยว่ากล้าหาญ และมีคุณธรรม

ด้าน นางอิรินา โบโกวา ผู้อำนวยการใหญ่ของยูเนสโก เปิดเผยว่าตนได้รับหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการจากนายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แล้ว และรู้สึกเสียใจเป็นที่สุดกับการตัดสินใจของสหรัฐฯ โดยนับเป็นความสูญเสียของสหประชาชาติ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ซึ่งเป็นสมาชิกก่อตั้งของยูเนสโก เคยถอนตัวจากการเป็นสมาชิกมาแล้วครั้งหนึ่งในปี 1984 สมัยอดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน เนื่องจากมีความขัดแย้งกันระหว่างนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ กับเป้าหมายของยูเนสโก รวมถึงไม่พอใจที่ยูเนสโกโน้มเอียงไปทางสหภาพโซเวียต โดยสหรัฐฯ ได้กลับเข้ามาเป็นสมาชิกอีกครั้งในปี 2002 สมัยอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช แต่ก็ระงับการบริจาคเงินสนับสนุนตั้งแต่ปี 2011 หลังจากที่สหประชาชาติรับปาเลสไตน์เข้าเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบ

หลายคนอาจรู้สึกประหลาดใจกับการตัดสินใจของสหรัฐฯ เพราะดูเผินๆ ยูเนสโกเป็นองค์กรที่ไม่น่าจะมีปัญหากับใคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อยูเนสโกก่อตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ป้องกันการเกิดสงครามและส่งเสริมสันติภาพ ผ่านการให้การศึกษา ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และการตระหนักถึงวัฒนธรรมที่มีคุณค่าของมนุษยชาติ แต่ชนวนสำคัญของความขัดแย้งล่าสุดนี้ ก็คือ การขึ้นทะเบียนมรดกโลก

อิสราเอล และพันธมิตร ซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ ไม่พอใจเสมอเมื่อประเทศหรือองค์กรใดๆ ดำเนินการหรือมีท่าทีที่รับรองว่า ปาเลสไตน์ เป็นรัฐเอกราช แต่ที่ผ่านมา ยูเนสโก ได้รับรองสมาชิกภาพของปาเลสไตน์ และขึ้นทะเบียนมรดกโลกให้กับปาเลสไตน์แล้ว 3 แห่ง กรณีล่าสุด คือ การประกาศให้เขตเมืองเก่าของเมืองเฮบรอน ซึ่งอยู่ในเขตเวสต์แบงก์ เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมของปาเลสไตน์ แทนที่จะเป็นของอิสราเอล เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งอิสราเอลแย้งว่าการกระทำของยูเนสโกลดทอนความเชื่อมโยงของสถานที่ดังกล่าวกับศาสนายิว ซึ่งชาวปาเลสไตน์ส่วนใหญ่เป็นมุสลิม

นอกจากประเด็นมรดกโลก สื่อต่างประเทศมองว่า การตัดสินใจครั้งนี้ของสหรัฐฯ เป็นการตอกย้ำความเป็นพันธมิตรกับอิสราเอล และสะท้อนนโยบายอเมริกาเฟิร์สต์ ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต่อต้านองค์กรพหุภาคีต่างๆ หลังจากที่ผ่านมาผู้นำสหรัฐฯ ก็ได้ถอนตัวจากข้อตกลง TPP และข้อตกลงกรุงปารีส มาแล้ว

สำหรับผลกระทบจากการถอนตัวจากยูเนสโกของสหรัฐฯ ที่ชัดเจนที่สุดก็คือจะทำให้รายรับของยูเนสโกในส่วนของค่าสมาชิกที่สหรัฐฯ ต้องจ่ายหายไปทันทีปีละ 70 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2,300 ล้านบาท หรือ 1 ใน 4 ของ งบดำเนินการทั้งหมดขององค์กรดังกล่าว นอกจากนี้ ยูเนสโกจะหมดสิทธิ์เรียกร้องเงิน ที่สหรัฐฯ ติดค้างตั้งแต่ปี 2011 อีกเป็นจำนวนกว่า 500 ล้านดอลลาร์ หรือ 17,000 ล้านบาท 

ฝ่ายผู้ที่สนับสนุนอิสราเอลเชื่อว่ารายรับที่ลดลงจะเป็นการส่งสัญญาณเตือนแบบแรงๆ ต่อสหประชาชาติ ซึ่งมีหลายองค์กรที่ทำตัวเป็นฝ่ายตรงข้ามกับอิสราเอล ขณะที่ฝ่ายอื่นๆ แสดงความเป็นห่วงว่ายูเนสโกอาจมีเงินไม่เพียงพอต่อการดำเนินงานขององค์กร ซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนเงินทุนอยู่แล้วก่อนหน้านี้

ด้านผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่ายูเนสโกควรจะขึ้นทะเบียนมรดกโลกตามวิธีการปกติทั่วไป แต่การที่สหรัฐฯ ถอนตัวออกไปก็ไม่น่าจะแก้ปัญหานี้ และอาจจะทำให้ปัญหาเลวร้ายลงไปด้วย เนื่องจากอาจเป็นตัวอย่างให้ประเทศอื่นทำตามได้ ขณะเดียวกัน ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ อาจจะทวีความตึงเครียดได้อีก ขึ้นอยู่กับปฏิกิริยาของนานาชาติที่มีต่อการตัดสินใจของสหรัฐฯ ในครั้งนี้



PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ