นักวิทย์สหรัฐฯ-ยุโรปพบคลื่นโน้มถ่วงจากแหล่งที่สังเกตเห็นได้ครั้งแรก


โดย PPTV Online

เผยแพร่




นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯ และยุโรปตรวจพบคลื่นความโน้มถ่วงจากแหล่งกำเนิดที่สังเกตเห็นได้เป็นครั้งแรก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คลื่นความโน้มถ่วง หรือรอยกระเพื่อมในกาลอวกาศนี้ ซึ่งเกิดจากการชนกันของดาวนิวตรอน 2 ดวง เมื่อ 130 ล้านปีก่อน ถูกตรวจพบเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาโดยหอสังเกตการณ์คลื่นความโน้มถ่วงไลโก (LIGO) ในรัฐวอชิงตันและรัฐลุยเซียนาของสหรัฐฯ และหอสังเกตการณ์เวอร์โกในอิตาลี   โดยเป็นการตรวจพบพร้อมกับแสงที่สังเกตได้จากกล้องโทรทรรศน์กำลังสูงเป็นครั้งแรก เปรียบเทียบได้กับภาพยนตร์ที่มีทั้งภาพและเสียง

ก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์สามารถศึกษาเกี่ยวกับอวกาศด้วยการสังเกตคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เช่น คลื่นวิทยุ  แสงที่มองเห็นด้วยตาเปล่า แสงอินฟราเรด รังสีเอ็กซ์ และรังสีแกมมา เท่านั้น  โดยระหว่างเดินทางผ่านจักรวาล คลื่นดังกล่าวจะถูกรบกวนได้ในขณะที่คลื่นความโน้มถ่วงจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ  นั่นหมายความว่า คลื่นความโน้มถ่วงจะให้ข้อมูลแก่นักวิทยาศาสตร์ได้มากกว่ามาก  และเปิดมุมมองใหม่ในการสังเกตปรากฏการณ์ในอวกาศที่ไม่สามารถสังเกตได้ด้วยวิธีเดิมๆ มาก่อน 

นอกจากนี้ จากการสังเกต นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่ามีทองคำ ทองคำขาว และโลหะหนักอืนๆ ถูกพัดกระจายออกมาในอวกาศหลังเกิดการชนกันของดาวฤกษ์ ซึ่งเป็นการยืนยันว่าปรากฏการณ์ที่รุนแรงนี้เป็นแหล่งกำเนิดของโลหะดังกล่าว 

ไอน์สไตน์ได้เสนอทฤษฎีเกี่ยวกับการมีอยู่ของคลื่นความโน้มถ่วงไว้ตั้งแต่ปี 1916 ซึ่งต่อยอดมาจากทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของเขา ก่อนที่นักวิทยาศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์และสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนียจะค้นพบคลื่นความโน้มถ่วงได้โดยตรงและยืนยันทฤษฎีของไอน์สไตน์ได้เป็นครั้งแรกไม่ถึงสองปีที่ผ่านมานี้เอง (14 ก.ย. 2015) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ 3 คน ที่ทำการค้นพบ ก็เพิ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ไปหมาดๆ เมื่อเดือนที่แล้ว 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ