ลุ้น ครม. เคาะมาตรการ”ช้อปช่วยชาติ”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




วันนี้คงต้องลุ้น ครม.จะเคาะมาตรการช้อปช่วยชาติหรือไม่ แต่ในมุมมองนักวิชาการก็บอกว่า เศรษฐกิจในปีนี้ปรับตัวดีขึ้น รัฐบาลอาจไม่จำเป็นต้องออกมาตรการช้อปช่วยชาติก็ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ต้องมาลุ้นมาตรการช้อปช่วยชาติ จะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีหรือไม่  โดยมีรายงานข่าวว่า มาตรการปีนี้จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 11-30  พฤศจิกายน 2560  ระยะเวลา 20 วัน สามารถนำค่าใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการ ตามที่ใช้จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท และ นำใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบมาเป็นหลักฐานหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ก็บอกว่า กำลังรอมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของรัฐบาลอยู่ เพราะตอนนี้ยอมรับว่ายังชะลอการใช้จ่ายเพราะไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ  รวมถึงบางคนบอกว่าถ้าไม่มีมาตรการนี้ สิ้นปีก็จะไม่จับจ่ายใช้สอย

ขณะที่ บรรดาห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าต่างๆ ก็ขานรับมาตรการช้อปช่วยชาติ คาดช่วยกระตุ้นยอดขายโตเพิ่มขึ้น 5-10 % พร้อมเตรียมอำนวยความสะดวกเรื่องการออกใบกำกับภาษีให้เร็วขึ้นด้วย 

ส่วนมุมมองนักวิชาการ อย่างนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า มาตรการช้อปช่วยชาติที่รัฐบาลทำใน 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ในปี 2558 เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่า 3% และปี 2559 ขยายตัว 3.2%  รัฐบาลจึงกระตุ้นด้วยมาตรการช้อปช่วยชาติ แต่ปีนี้เศรษฐกิจฟื้นตัวดีกว่า 2 ปีที่แล้ว ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจเหมือน 2 ปีที่แล้ว แต่ก็สามารถทำได้และจะช่วยให้เศรษฐกิจโตใกล้ 4% มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากมาตรการช้อปช่วยชาติสามารถดำเนินการให้มีเม็ดเงินสะพัดในต่างจังหวัดและเอสเอ็มอี รัฐบาลต้องเพิ่มแนวคิดให้เป็นการช้อปปิ้งในแหล่งท่องเที่ยวต่างจังหวัด หรือช้อปปิ้งกับเอสเอ็มอี เพราะจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวแบบกระจายตัวมากขึ้น

นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า  มาตรการนี้ทำต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว หากดำเนินมาตรการติดๆ กันหลายปี ผลลัพธ์อาจจะไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงเหมือนกับปีที่ผ่านมา แม้ว่าเศรษฐกิจปีนี้จะดีก็ตาม ส่วนอีกเรื่องคือมาตรการนี้ยังไม่กระจายลงไปสู่ผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อย หรือเอสเอ็มอีในท้องถิ่นจริงๆ
          

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ