ปลาหมอต่างถิ่นกินลูกกุ้งเรียบ ชาวบ้านสงสัยมีบริษัทยักษ์นำเข้ามาวิจัย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ในจังหวัดสมุทรสงคราม กำลังเผชิญกับปัญหาสัตว์ต่างถิ่นรุกราน กินลูกกุ้งในบ่อจนไม่เหลือ สัตว์ต่างถิ่นที่ว่านี้ก็คือปลาหมอสีคางดำ ชาวบ้านยืนยันว่า พบพวกมันมานานกว่า 5 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดมาช่วยยืนยันว่าพวกมันมาจากไหน

วันนี้ (9 พ.ย. 60) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปลามีลักษณะหน้างุ้ม เกล็ดเป็นประกายเมื่อถูกแสง มีจุดสีดำที่แก้มซ้ายขวา ลำตัวคล้ายกับปลานิล แต่ด้วยใต้คางมีสีดำ ปลาชนิดนี้จึงถูกเรียกว่าปลาหมอสีคางดำ พวกมันมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ประเทศแอฟริกา ตามข้อมูลของกรมประมง ปลาชนิดนี้ถูกนำเข้ามาในไทยเมื่อ 5 ปีก่อน โดยบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งเพียงรายเดียว เพื่อวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ ก่อนที่จะพบปลาชนิดนี้แพร่ระบาดในแม่น้ำและบ่อกุ้งของชาวบ้าน จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อปี 2557

ปลาหมอสีคางดำ สามารถตั้งท้องได้ตั้งแต่อายุ 20 วัน และขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว ฟันคม และครีบแหลม ทำให้พวกมันล่าสัตว์น้ำชนิดอื่นที่มีขนาดเล็กกว่าได้เกือบทั้งหมด ขณะที่ปลาชนิดนี้คนไม่นิยมกิน เพราะรสชาติไม่ดี การแพร่กระจายของพวกมันในแม่น้ำลามไปถึงบ่อกุ้งบ่อปลาของชาวบ้าน จึงสร้างความเดือดร้อน

ความเดือนร้อนที่เกิดขึ้น ชาวบ้านสมุทรสงครามตัดสินใจร้องคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นำมาสู่การลงพื้นที่ พบกับเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่ และเป็นเอกชนรายเดียวที่ขออนุญาตนำเข้าปลาชนิดนี้ โดยบริษัทแห่งนี้มีที่ตั้งสำนักงานวิจัยอยู่ในพื้นที่ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน

อย่างไรก็ตามการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ กินพื้นที่ทุกอำเภอของจังหวัดสมุทรสงคราม และบางอำเภอของจังหวัดเพชรบุรี ทำให้เกษตรกรเสนอให้กรมประมงมีมาตรการรับซื้อปลาชนิดนี้ และอนุญาตให้ใช้เครื่องมือจับปลาบางชนิดที่ผิดกฏหมาย เพื่อตัดวงจรปลาหมอสีคางดำ ขณะที่กรรมการสิทธิมนุษยชนฯ เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่วิจัยของบริษัทเอกชนที่ถูกกล่าวหา ปฏิเสธว่า ปลาที่แพร่กระจาย ไม่ได้มีที่มาจากตัวเอง เพราะปลาที่นำเข้ามา ถูกทำลาย ฝังดิน ทั้งหมดแล้ว 



นฤดล ยุกิจภูติ ถ่ายภาพ
อัฟนัน อับดุลเลาะ รายงาน

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ