นักวิชาการชี้นายกฯไม่ควรชง 6 คำถาม เสี่ยงทำเลือกตั้งไม่เป็นธรรม


โดย PPTV Online

เผยแพร่




คำถาม 6 ข้อ ของ “พล.อ.ประยุทธ์” ที่ถามว่า คสช. ควรมีสิทธิสนับสนุนพรรคการเมืองใด ในการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่  นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล เห็นว่าไม่ควรมีคำถามในลักษณะนี้เกิดขึ้น เพราะอาจทำให้เกิดการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม ระบุว่าหาก คสช. ทำตามกฎหมายก็สามารถทำได้

วันนี้ (9 พ.ย.60) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำถามข้อที่ 2 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ถามว่า “การที่ คสช. จะสนับสนุนพรรคการเมืองใด ถือเป็นสิทธิ คสช. ใช่หรือไม่?” กลายเป็นข้อถกเถียง ว่า การที่ คสช. ซึ่งมีอำนาจรัฐเข้าไปสนับสนุนพรรคการเมือง มีความเหมาะสมหรือไม่ คำถามนี้ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ระบุว่า ไม่คิดว่าจะมีคำถามลักษณะนี้เกิดขึ้น และมองว่า คสช. ไม่ควรมีสิทธิ เพราะจะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการเลือกตั้ง หากพรรคที่ คสช. สนับสนุนได้จัดตั้งรัฐบาล  คสช. ก็จะถูกมองว่าเขียนกฎหมายมาเพื่อตัวเอง

สำหรับกฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 28 และ 29 ระบุไว้ว่า ห้ามพรรคการเมืองยินยอม ให้ "บุคคลอื่น" ที่ "ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค" เข้า "ควบคุม-ครอบงำ-ชี้นำ" จนขาดความเป็นอิสระ ทั้ง "ในทางตรงและทางอ้อม" ซึ่งเรื่องนี้มีโทษหนักถึง“ยุบพรรค” และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค เป็นเวลา 5 ปี ซึ่งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ อธิบายว่า เป็นการห้ามเฉพาะกลุ่มอิทธิพลเข้าครอบงำพรรค ไม่ได้ห้ามเรื่องการสนับสนุน สอดคล้องกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่บอกว่าทำได้ แต่จะต้องคำนึงไม่ให้ผิดกฎหมาย

ส่วนพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยืนยันว่า คำถาม 6 ข้อ นายกรัฐมนตรี คิดคนเดียว ไม่เกี่ยวกับ คสช. เชื่อว่าประชาชนจะตอบรับสนใจ และอ้างว่าคำถามไม่ได้ชี้นำหรือหาเสียงล่วงหน้า

ด้านนายจักริน เชิดฉาย อดีตประธาน กปปส.นครราชสีมา เห็นว่า การตั้งคำถามของนายกรัฐมนตรีจะทำให้ประชาชนตัดสินใจในการเลือกตั้งได้ง่ายขึ้น ขณะที่นายสมโภช ประสาทไทย อดีตแกนนำ นปช. นครราชสีมา มีความเห็นแย้งเรื่องนี้ โดยยังเชื่อว่าคำถามนี้มีการชี้นำความคิดของประชาชน  ส่วนนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ตอบคำถามนายกรัฐมนตรี ผ่านแถลงการณ์ เรียกร้องให้ คสช. วางตัวเป็นกลาง ไม่มีสิทธิสนับสนุนพรรคการเมืองใด หากต้องการสนับสนุนควรลาออกจากตำแหน่ง

ส่วนความเคลื่อนไหวสำคัญสำหรับการเมืองท้องถิ่นทั่วประเทศวันนี้มีข่าวดีสำหรับการเมืองท้องถิ่น ทั้งเทศบาล อบต. อบจ. กรุงเทพฯ และเมืองพัทยา ที่บางพื้นที่อาจจะได้หาเสียงและเลือกตั้งก่อน โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เตรียมนัดหมายกระทรวงมหาดไทย และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นหารือ เพื่อแก้กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นให้สอดคล้องรัฐธรรมนูญ ก่อนจะผ่อนคลายบรรยากาศให้เกิดการเลือกตั้งเป็นรายพื้นที่ พร้อมยืนยันว่าการดำเนินการดังกล่าวจะไม่กระทบกับโรดแมปการเลือกตั้งทั่วไป

 

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ