เฝ้าระวัง "หัวใจ" โรคร้ายคร่าชีวิต


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ภายหลังเกิดเหตุการณ์ นายธนัท ฉิมท้วม หรือ โจ บอยสเก๊าท์ นอนหมดสติ หลังวูบล้มลงกลางเวที ขณะเล่นคอนเสิร์ตที่ผับแห่งหนึ่ง เบื้องต้นคาดว่าเกิดจากหัวใจวายเฉียบพลัน

สำหรับหัวใจวายเฉียบพลัน หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันและอาการใจสั่น เกิดจากหลอดเลือดแดงไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจแข็งตัว หรือมีไขมันเกาะที่ผนังของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแดงตีบแคบลง ปริมาณเลือดแดงผ่านได้น้อย ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และหากหลอดเลือดตีบแคบลงจนอุดตันจะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายได้

โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

มีปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุจาก โรคความดันโลหิตและไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ โรคเบาหวาน ความอ้วน ความเครียด การไม่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หากผู้ชายอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือหญิงอายุ 50 ปีขึ้นไปหรือวัยหลังหมดประจำเดือน และผู้มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ และอาการใจสั่น

อาการทั่วไป

ใจสั่น เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก มีอาการคลื่นไส้ และอาจมีอาเจียน มีอาการเหงื่อออก เวียนศีรษะ โดยสัญญาณอันตราย คืออาการเจ็บหน้าอกที่มีลักษณะเฉพาะ ได้แก่ เจ็บตรงกลางหน้าอก เยื้องลงมาทางลิ้นปี่เล็กน้อย, จุกแน่น อึดอัด บางทีร้าวไปถึงคอหอย ไหล่ซ้าย ข้อศอก หรือท้องแขนซ้าย กรามหรือคอด้านซ้าย และบางรายมีอาการใจหวิว ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็วหรือช้ากว่าปกติ เหงื่อซึม หน้ามืดหมดสติ

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน

ขณะที่อีกหนึ่งโรคที่เกี่ยวกับหัวใจ “โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน”  ที่ปัจจุบันเป็นสาเหตุของการตายอันดับต้นๆ ของเมืองไทย โดยพบว่าอาหารเป็นปัจจัยสำคัญ เนื่องจากการบริโภคของเราเปลี่ยนไป ด้วยอาหารที่มีไขมันและคาร์โบไฮเดตสูง ออกกำลังกายน้อยลงและมีความเครียดมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นโรคกรรมพันธุ์อีกด้วย โดยในช่วงระยะ 10 กว่าปี ที่ผ่านมา คนไทยมีแนวโน้มการเสียชีวิตด้วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

สำหรับอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ  แต่ในผู้ป่วยที่โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรืออุดตันค่อนข้างมากจะมีอาการเจ็บหน้าอกอย่างมาก จนทนไม่ได้ เหมือนมีอะไรหนัก ๆ กดทับตรงกลางหน้าอก หรือการเจ็บจากหน้าอกขึ้นไปถึงคาง หรือเจ็บลงไปถึงแขนซ้าย หายใจหอบ เหนื่อย เหงื่อแตกใจสั่น แลเหมดสติ หรือหัวใจหยุดเต้น

ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้ ได้แก่ อายุ โดยปกติแล้ว ความเสี่ยงของโรคหัวใจจะเพิ่มขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น, พันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ และเพศ โดยผู้ชายจะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจมากกว่าผู้หญิงก่อนวัยหมดประจำเดือน

ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถควบคุมโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือตันได้  ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง หากปล่อยให้ความดันโลหิตสูงอยู่เป็นเวลานาน ๆ จะทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดมาเลี้ยงร่างกาย กล้ามเนื้อหัวใจจะหนาขึ้น หัวใจจะโตขึ้น หลอดเลือดตีบแข็งและอุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจตาย และนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวในที่สุด

การสูบบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ 2 – 4 เท่า เนื่องจากสารที่อยู่ภายในบุหรี่จะทำให้เซลล์ที่เยื่อบุผนังหลอดเลือดเสื่อม ทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบตัน ซึ่งนำไปสู่สภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย รวมถึงระดับไขมันในเลือด ผู้ที่มีระดับไขมันแอลดีแอลโคเลสเตอรอลสูง จะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจสูงขึ้น ไขมันดังกล่าวจะทำให้ผนังหลอดเลือดหนาตัวขึ้น และหลอดเลือดตีบแคบลง เลือดไหลเวียนน้อยลง ในที่สุดหลอดเลือดหัวใจก็อุดตันและเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย

โรคเบาหวาน ทำให้ความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดและหัวใจสูงขึ้น  เบาหวานจะทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ เสื่อมลงและการขาดการออกกำลังกาย ผู้ที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกายจะมีความเสี่ยงจากโรคหลอดเลือดและหัวใจสูงขึ้น การออกกำลังกายเป็นประจำ จะช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดและหัวใจได้ และยังสามารถช่วยควบคุมปัจจัยความเสี่ยงอื่น ๆ เช่นความดันโลหิต ระดับไขมันโคเลสเตอรอลในเลือด เบาหวานและน้ำหนักที่มากเกิน หรืออ้วน

ขั้นตอนการฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR)

สำหรับขั้นตอนการฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) มีหลักการง่ายๆ 10 ขั้นตอน ดังนี้

1. เมื่อพบคนหมดสติ ให้ตรวจดูความปลอดภัย ก่อนเข้าไปช่วยเหลือ เช่น ระวังอุบัติเหตุ ไฟช็อต หรือความเสี่ยงที่อาจเกิดซ้ำ 

2. ปลุกเรียกผู้ป่วยด้วยเสียงที่ดัง และตบไหล่ทั้งสองข้าง หากผู้ป่วยรู้สึกตัว หายใจได้เอง ให้จัดท่านอนตะแคง แต่หากยังไม่หายใจ ให้ทำตามขั้นตอนต่อไป

3. โทรขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 1669 พร้อมกับน้ำเครื่องเออีดีมาด้วย

4. ประเมินผู้ป่วย หากไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ ให้ทำการช่วยเหลือฟื้นคืนชีพทันที

5. ช่วยเหลือฟื้นคืนชีพ ด้วยการกดหน้าอก จัดท่าให้ผู้ป่วยนอนหงาย วางสันมือข้างหนึ่งตรงครึ่งล่างกระดูกหน้าอก และวางมืออีกข้างทับประสานกันไว้ เริ่มการกดหน้าอก ด้วยความลึกอย่างน้อย 5 เซนติเมตร ในอัตราเร็ว 100-120 ครั้งต่อน่าที  

6. หากมีเครื่องเออีดี ให้เปิดเครื่องและถอดเสื้อผ้าผู้ป่วยออก

7. ติดแผ่นนำไฟฟ้า บริเวณใต้กระดูกไหปลาร้าด้านขวา และชายโครงด้านซ้าย และห้ามสัมผัสตัวผู้ป่วย

8. ปฏิบัติตามที่เครื่องเออีดีแนะนำ คือ หากเครื่องสั่งให้ช็อกไฟฟ้า ให้กดปุ่มช็อก และทำการกดหน้าอกหลังทำการช็อกทันที แต่หากเครื่องไม่สั่งช็อกให้ทำการกดหน้าอกต่อไป

9. กดหน้าอกต่อเนื่อง และปฏิบัติตามคำแนะนำของเครื่องเออีดี จนกว่าทีมกู้ชีพจะมาถึง

10. ส่งต่อผู้ป่วยให้กับทีมกู้ชีพเพื่อนำส่งโรงพยาบาล เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยฉุกเฉินมีโอกาสรอดและปลอดภัย

 

ขอบคุณข้อมูลจาก BDMS

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ