ถอดบทเรียน “โจ บอยสเก๊าท์” CPR กู้ชีวิต


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมถอดบทเรียน การเสียชีวิตของ “โจ บอยสเก๊าท์” โดยหวังว่าเหตุการณ์นี้จะสะท้อนให้เห็นว่า  คนไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการปั๊มหัวใจ หรือ CPR กู้ชีวิต และร่วมกันช่วยผลักดันเป็นหลักสูตรการเรียน และอบรมให้ประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้

วันนี้ (13 พ.ย.60) เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เปิดเผยในรายการเป็นเรื่องเป็นข่าวว่า เหตุการณ์ของคุณโจ บอยสเก๊าท์หากสามารถทำ CPR หรือปั๊มหัวใจที่ถูกต้องก็ย่อมมีโอกาสรอด แต่ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยสภาพร่างกายของคุณโจในขณะนั้นด้วย ซึ่งช่วงแรกที่คุณโจล้มลงไปประเมินไม่ออกว่า จริงไม่จริง และคงเป็นเรื่องยากที่ชาวบ้านจะเข้าใจ ไม่ได้ตำหนิคนที่อยู่ในเหตุการณ์ หากล้มลงไปแล้วมีคนที่มีความรู้ แล้วประเมินได้เร็ว ก็จะสามารถช่วยได้เร็ว จากในคลิปก็ถือว่าเริ่มช้า แต่ไม่ช้าเกินไปนัก เท่าที่ดูคลิป หากดูสงสัยว่าหัวใจหยุดเต้น จะต้องปั๊มให้เร็ว แรง ลึก และต่อเนื่องโดยที่ไม่หยุด ที่ต้องต่อเนื่องเมื่อหัวใจเราเต้นตลอดเวลา เมื่อหัวใจหยุดเต้นก็ต้องการกดหน้าอกซึ่งจะมีผลต่อการส่งเลือดไปเลี้ยงสมองหรืออวัยวะต่างๆ การปั๊มหากต้องปั๊มแรงนั้นอาจจะทำให้ซี่โครงหักได้ แต่ก็ยังดีกว่า “หัวใจเขาหยุดเต้น”  ส่วนการผายปอด หรือเป่าปาก ปัจจุบันในประเทศไทยและต่างประเทศก็ไม่ค่อยนิยมทำกัน ในกรณีหัวใจหยุดเต้นถ้าเป็นชาวบ้านให้แนะนำการปั๊มหัวใจมากกว่า เนื่องจากหลายคนกังวลว่าจะต้องเป่าปากจนไม่อยากจะช่วย ถ้าแพทย์มาถึงเขามีอุปกรณ์ป้องกันค่อยให้เขาทำ เนื่องจากการเป่าปากนั้นหลายครั้งเป็นอุปสรรคในการช่วยชีวิตมากกว่า

“หัวใจจะมีหน้าที่สูบฉีดเลือดอยู่ตลอดเวลา เพื่อไปเลี้ยงสมองและอวัยวะต่างๆ เมื่อหัวใจหยุดเต้นหรือเต้นพริ้วที่เต้นเร็วถี่ ปริมาณเลือดที่ออกไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ไม่พอ เช่น จะทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ ทำให้หน้ามืด และเป็นลมล้มลงไป การปั๊มจากข้างนอกจะทำหน้าที่แทนหัวใจ เพื่อให้เลือดสูบฉีดไปเลี้ยงส่วนอื่นๆ เหตุที่ทำให้หัวใจหยุดเต้นมีมากมาย เช่น อุบัติเหตุ โรคประจำตัว ไม่ว่าจะเป็นเหตุอะไรหัวใจก็จะเต้นอย่างรวดเร็วจนเกิด ภาวะหัวใจวาย ซึ่งเป็นปัจจัยสุดท้ายที่มนุษย์จะต้องเจอ โดยหลักการต้องเข้าช่วยเหลือให้เร็วที่สุด โดยสมองส่วนที่ฉลาดที่สุด ช่วยให้คนเรามีความจำจะขาดออกซิเจนได้นาน 4-5 นาที หากช่วยช้าประมาณ 10-15 นาทีสมองส่วนที่ฉลาดตรงนั้นก็จะตายแล้ว ส่วนสมองส่วนที่ลึกที่สุดจะทนต่อการขาดออกซิเจนประมาณ 15-30 นาที แต่ก็จะกลายเป็นเจ้าชายนิทรา หรือเจ้าหญิงนิทรา ”


พญ.นิชาภา วัฒนกำจรกุล แพทย์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่ บอกว่า เบื้องต้นเวลาที่เราเจอคนหมดสติล้มต่อหน้า คนที่เข้าไปช่วยต้องประเมินว่า สถานที่ตรงนั้นว่าปลอดภัยหรือไม่ ต้องดูความปลอดภัยของสถานที่ด้วย อันดับแรกต้องดูว่าเขายังยังรู้สึกตัวไหม ด้วยการปลุกเรียก เมื่อไม่มีการตอบสนอง ให้ดูว่าเขายังหายใจไหม วิธีง่ายๆคือการนำมือวางที่หน้าอกหรือหน้าท้องเพื่อดูว่าคนป่วยยังหายใจหรือไม่ จากนั้นเมื่อทราบว่าไม่รู้สึกตัว และไม่หายใจ ให้ตะโกนขอความช่วยเหลือว่า “ช่วยด้วยค่ะ ตรงนี้มีคนหมดสติไม่หายใจ โทรเรียก 1669 ให้หน่อยค่ะ แล้วขอเครื่อง AED มาด้วยนะคะ”
 

“ระหว่างนี้เราต้องเริ่มปั๊มหัวใจแล้ว อย่างแรกต้องดูตำแหน่งในการปั๊มหัวใจตรงจุดไหน ถ้าดูง่ายๆคือให้ลากเส้นกึ่งกลางตั้งแต่คางมาเจอสะดือ แล้วก็ระหว่างหัวนมทั้งสองข้าง ตำแหน่งนี้คือตำแหน่งที่เราจะวางส้นมือลงไป แล้วนำมืออีกมือวางประสานกันแล้วกดลงไป เวลากดให้ความเร็วอยู่ที่ 100-120 ครั้งต่อนาที และให้กดลึกถ้าตามตำราก็ประมาณ 5-6 เซนติเมตร จากนั้นกดให้ต่อเนื่อง คนเราจะกดได้อยู่ที่ครั้งละ 200 ครั้งต่อ 2นาที และต้องกดต่อไปเรื่อยๆ จนกว่ารถพยาบาลจะเดินทางมาถึง ที่จะนำเครื่อง AED มาเพื่อช่วยเหลือต่อไป และนำส่งโรงพยาบาลต่อไป ”

ทั้งนี้ เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เปิดเผยว่า  สพฉ.ได้มีการทำความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขในการที่จะร่วมมือในการที่จะมีหลักสูตรการสอนสำหรับเด็กในชั้นประถมถึงปริญญา ให้มีความรู้ความเข้าใจ แต่ต้องเข้าใจว่าการที่จะเปลี่ยนหลักสูตรต้องมีวงรอบของการเปลี่ยน และมาเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นพอดี ปัจจุบันพยายามที่จะมีการผลักดันให้มีเครื่อง AED ไว้ตามจุดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้อ หรือจุดต่างๆ และพยายามให้มีหน่วยแพทย์ฉุกเฉินให้มีเพิ่มมากขึ้น เพื่อที่จะเข้าถึงที่เกิดเหตุได้อย่างรวดเร็ว และบางทีในเมืองใหญ่ๆ มีหน่วยฉุกเฉินเพียงพอแต่ก็ต้องเจอรถติด ก็เป็นสิ่งที่เราพยายามจะผลักดันให้มีมากขึ้น เพื่อจะสามารถช่วยเหลือได้เร็วมากขึ้น ในเดือนหน้าก็มีการคุยกันในกลุ่มลูกเสือ ยุวกาชาด ในมหาวิทยาลัยต่างๆ หรือหน่วยงานก็มีการฝึกแบบนี้อยู่เป็นประจำ ส่วนจะให้มันกระจายทั่วประเทศนั้นเรื่องนี้คงต้องใช้เวลา

“อยากให้ทำความเข้าใจว่า ถ้าเขาจะตายอยู่แล้วแล้วเราไม่ช่วยจะน่าเสียใจเสียกว่า แล้วทางกฎหมายในบ้านเรามีกำหนดไว้ว่า หากเรามีความสามารถที่จะช่วยได้แล้วไม่ช่วยนั้น มีความผิดด้วยซ้ำ แต่หากการช่วยนั้นเป็นการปฐมพยาบาลไม่มีการหวังสินจ้างรางวัล และไม่ได้มีการเสียบสอดใส่เข้าไปในร่างกาย ตรงนี้มีกฎหมายคุ้มครองด้วย หากช่วยเป็นก็สามารถช่วยชีวิตเขาได้ หรือแค่เพียงช่วยโทรแจ้ง 1669  เพื่อขอความช่วยเหลือและขอคำแนะนำการทำ CPR หรือ ปั๊มหัวใจ ช่วยชีวิตที่ถูกต้อง” เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แนะนำ

ชมคลิปได้ที่ : เป็นเรื่อง! สพฉ. เปิดวิธี “ปั๊มหัวใจ?” ต้องทำอย่างไรให้ “รอดตาย”

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ