กรมประมงเผย ไร้ “ดีเอ็นเอ” เทียบ หาที่มาปลาหมอสีคางดำ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กรมประมงชี้แจงครั้งแรก กับทีมข่าวพีพีทีวี ถึงกรณีการขยายพันธุ์ของปลาหมอสีคางดำ เอเลี่ยนสปีชีส์ ที่ไปกัดกินลูกกุ้งในบ่อเลี้ยงของเกษตรกรจังหวัดสมุทรสงคราม และ เพชรบุรี หนึ่งในประเด็นที่ได้รับการยืนยัน คือ ผู้นำเข้าที่ปรากฏข้อมูลว่ามีเพียงรายเดียวที่เคยได้รับอนุญาตจากรมประมง แต่การตรวจสอบว่า ปลาชนิดนี้ที่แพร่กระจายอยู่มาจากผู้นำเข้ารายนี้หรือไม่ อาจไม่ใช่เรื่องง่าย 

หลังจากมีชาวบ้านในหลายจังหวัดได้รับความเดือดร้อน จากการแพร่ขยายพันธุ์ของ "ปลาหมอสีคางดำ" จนทำให้หลายคนเรียกร้องให้กรมปะมงเข้ามาตรวจสอบ หาที่มาและช่วยกำจัดปลาชนิดนี้ ที่เป็นปลาต่างถิ่น หรือเอเลียนสปีชีส์ วันนี้ทีมข่าวพีพีทีวีได้สอบถามกับกรมประมง ก็ได้รับคำตอบว่า ที่ผ่านมา กรมประมงพยายามตรวจสอบที่มาของ “ปลาหมอสีคางดำ” ตามข้อเรียกร้อง แต่ก็ยอมรับว่า มีโอกาสที่จะไม่ได้ข้อสรุปประเด็นนี้ชัดเจน เพราะปัญหาของกรมประมง คือ ไม่สามารถหา DNA ของปลาหมอสีคางดำที่บริษัทเอกชนนำเข้ามาเปรียบเทียบได้ แต่ตามข้อมูลเคยอนุญาตให้บริษัทเอกชนผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่นำเข้าเพียงรายเดียว จำนวน 2 พันตัว เมื่อปี 2553


แม้จะหาต้นตอการแพร่ขยายของปลาหมอสีคางดำยังไม่ได้ แต่มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรระยะเร่งด่วน กรมประมงขออนุมัติงบประมาณ 30 ล้านบาท รับซื้อปลาชนิดนี้กิโลกรัมละ 20 บาท คาดว่าจะเริ่มรับซื้อได้ต้นเดือนมกราคมปีหน้า และวางแผนจับปลาต่างถิ่นเป็นภารกิจหลัก เพราะยังมีอีกหลายชนิดที่สร้างปัญหาลักษณะเดียวกันกับปลาหมอสีคางดำ

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งวิธี คือการ ปล่อย "ปลาอีกง" โดยกรมประมงได้มีการนำคลิปวิดีโอให้ทีมข่าวพีพีทีวีดู เมื่อปล่อยปลาอีกงลงตู้ พวกมันจะไล่กินลูกปลาหมอสีคางดำอย่างรวดเร็ว โดย "ปลาอีกง" เป็นปลาท้องถิ่นเพชรบุรี ที่สวมวิญญาณนักล่า มีพฤติกรรมกินเนื้อ โดยกรมประมงเตรียมปล่อยปลาอีกงลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นมาตรการเฉพาะหน้า ตัดวงจรปลาหมอสีคางดำ ที่กำลังแพร่ระบาดสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวจังหวัดสมุทรสงครามและเพชรบุรี

 

พิพัฒน์ ปิ่นหิรัญ ถ่ายภาพ

อัฟนันอับดุลเลาะ รายงาน

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ