ปิดตัว!! “สื่อสิ่งพิมพ์” นักวิชาการแนะใช้ “สื่อออนไลน์” ต่อลมหายใจ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




“นิตยสารขวัญเรือน” ประกาศปิดตัวบอกลาแผงสื่อสิ่งพิมพ์ จากผลกระทบเรื่องรายได้ ทิ้งทวนเล่มสุดท้ายเดือนธันวาคมนี้ นักวิชาการชี้ สื่อสิ่งพิมพ์ต้องปรับตัวเข้าสู่สื่อออนไลน์เพิ่มช่องทางเผยแพร่คอนเทนท์ เพื่อความอยู่รอด

วานนี้ (17 พ.ย. 60) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นิตยสารขวัญเรือน เผยแพร่จดหมายแจ้งสมาชิกนิตยสารขวัญเรือน ระบุว่า นิตยสารขวัญเรือนมีความประสงค์จะแจ้งให้ท่านสมาชิกทราบถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เนื่องด้วยสภาวะเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคที่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย โดยเฉพาะในยุคที่สื่อโซเชียลเข้ามามีบทบาท ส่งผลต่อสื่อสิ่งพิมพ์มากขึ้น ทั้งในแง่ของการขายโฆษณาและยอดจำหน่าย ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งพิมพ์เป็นอย่างยิ่ง โดยทางนิตยสารขวัญเรือนได้มีความพยายามที่จะต่อสู้อย่างถึงที่สุดกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและยุคสมัย ซึ่งส่งผลต่อการพิมพ์จำหน่ายที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด

ด้วยเหตุนี้ ทางนิตยสารขวัญเรือน จึงขอแจ้งอนุญาตให้ท่านสมาชิกทราบ เรื่องการยุติการจัดทำนิตยสารขวัญเรือน โดยจะจัดทำฉบับที่ 1102 (ฉบับเดือนธันวาคม) เป็นเล่มสุดท้าย พร้อมกันนี้ฝ่ายสมาชิกจะมีจดหมายแจ้งถึงรูปแบบการคืนเงินให้ทราบอีกครั้ง

จากการสอบถามไปยังหมายเลขโทรศัพท์ที่อยู่ในจดหมายแจ้งสมาชิก ได้ข้อมูลว่า ข้อมูลที่เผยแพร่เป็นไปตามจดหมายจริง ซึ่งจะแจ้งอย่างเป็นทางการอีกครั้งผ่านช่องทางเฟซบุ๊กของนิตยสารขวัญเรือนในสัปดาห์หน้า ส่วนก่อนหน้านี้ที่ระบุว่าจะปรับเปลี่ยนจากรายปักษ์เป็นรายเดือนก็ได้พยายามอย่างเต็มที่แล้ว

สำหรับการปิดตัวของนิตยสารขวัญเรือนเป็นการปิดตำนานของนิตยสารที่มีการตีพิมพ์มานานถึง 49 ปี

จากข้อมูลของเว็บไซต์ brandbuffet.in.th พบว่า อุตสาหกรรมสื่อในประเทศไทยปี 2559 กลายเป็นสื่อออนไลน์ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT เผยตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาสื่อดิจิทัล 9,150 ล้านบาท เติบโตจากปี 2558 ถึง 13.2 เปอร์เซ็น หรือประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งสวนทางกับสื่อสิ่งพิมพ์ทั้ง นิตยสารและหนังสือพิมพ์ ที่นับว่าเป็นขาลงอย่างแท้จริง หลังจากข้อมูลของ DAAT เผยให้เห็นตัวเลขเม็ดเงินโฆษณา ที่น่าตกใจ เพราะนิตยสาร เคยทำรายได้ในปี 2558 มากถึง 4,264 ล้านบาท แต่ปี 2559 กลับเหลือเพียง 2,927 ล้านบาท ตกลงไปถึง 31.4 เปอร์เซ็นต์ ส่วนหนังสือพิมไม่ต่างกัน หลังยอดเงินโฆษณาตกลงไปกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ (อ่านเพิ่มเติม >> จัดเต็ม! อุตสาหกรรมสื่อปี ‘60 ปีทอง ทีวีดิจิทัลออนไลน์พร้อมเจาะลึก 5 เทรนด์แรงแห่งปี)

นอกจากนี้ บริษัทเอซีเนลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด ระบุรายได้โฆษณาของหนังสือพิมพ์ สองเดือนแรกของปี 2560 พบว่า อยู่ที่ 1,273 ล้านบาท ลดลง 16.52 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่นิตยสาร ยิ่งทรุดหนักลงไปอีกลดลงมากกว่า 36 เปอร์เซ็นต์ เหลือรายได้เพียง 300 ล้านบาทเท่านั้น

เมื่อรายได้หดลงอย่างน่าใจหาย สื่อสิ่งพิมพ์หัวใหญ่หลายหัวทยอยปิดตัวลง นอกเหนือจาก นิตยสารขวัญเรือน แล้ว จากข้อมูลของเว็บไซต์ mangozero โดยคุณ Sam The Rider ระบุว่า ระหว่างปี 2558 – 2559 มีสื่อสิ่งพิมพ์หัวใหญ่ถอนตัวจากตลาดไปแล้วมากกว่า 17 หัว ซึ่งได้แก่ นิตยสารพลอยแกมเพชร นิตยสารสกุลไทย ,นิตยสาร Image ,นิตยสารการ์ตูน C-Kids ,นิตยสาร Oops! ,นิตยสาร VIVA Friday ,นิตยสาร KC Weekly ,นิตยสาร Candy ,นิตยสาร Volume ,นิตยสาร Cosmopolitan ,นิตยสาร Seventeen ,นิตยสาร Who ,นิตยสารเปรียว นิตยสาร Writer ,นิตยสารบางกอกรายสัปดาห์ ,นิตยสาร ILike ,นิตยสารสกุลไทย และหนังสือพิมพ์บ้านเมือง (อ่านเพิ่มเติม >> สรุปสถานการณ์สื่อสิ่งพิมพ์ไทยในรอบปี 2016)

ส่วนสาเหตุหลักมากจาก งบโฆษณาที่ลดลงดังที่กล่าวไปข้างต้น และคนอ่านลดน้อยลง เนื่องจากหลายคนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปใช้สมาร์ทโฟนที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างไม่จำกัด รวมถึงสื่อสิ่งพิมพ์เผยแพร่ช้ากว่าสื่ออนไลน์ ทำให้ประชาชนได้รับสารจากสื่อออนไลน์ก่อน บทบาทของสื่อสิ่งพิมพ์จึงลดลงตามพฤติกรรมของผู้บริโภค

นักวิชาการแนะใช้ สื่อออนไลน์ต่อลมหายใจ สื่อสิ่งพิมพ์

ผศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มองว่า การปิดตัวลงของนิตยสารเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากหากยังผลิตสิ่งพิมพ์ และผลิตเนื้อหาในรูปแบบเดิมขณะที่กลุ่มผู้อ่านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับสาร ย่อมทำให้ส่งผลกระทบต่อสื่อสิ่งพิมพ์แน่นอน เมื่อผู้อ่านลดลงรายได้ก็ลดลงตามไปด้วย ดังนั้นหากสื่อสิ่งพิมพ์เลือกที่จะยังคงอยู่ในตลาดต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนำเสนอของตัวเองด้วย ด้วยการใช้สื่อดิจิทัลมาเป็นตัวเสริม อาจเป็นการนำเสนอในรูปแบบเว็บไซต์ , E-Book หรือ E-Magazine รวมถึงสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก ที่มีความรวดเร็วในการส่งต่อข้อมูล

สำหรับพฤติกรรมการรับสารของคนไทย ผศ.สุรสิทธิ์ ระบุว่ายังคงก้ำกึ่งระหว่างสื่อดั้งเดิมกับสื่อใหม่อย่างโซเชียลมีเดียและดิจิทัล เพราะหลายคนก็ยังคงอ่านสื่อสิ่งพิมพ์และใช้สื่อดิจิทัลเป็นตัวเสริม ดังนั้นหากผู้ประกอบการยึดหลักนี้ด้วยการนำสื่อดิจิทัลมาเป็นตัวเสริมในการเผยแพร่คอนเทนท์ นอกจากจะเพิ่มช่องทางให้ผู้อ่านแล้ว ยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับตัวเองอีกด้วย อย่างไรก็ตามหากสื่อสิ่งพิมพ์ยังคงยืนหยัดอยู่ในตลาด นอกจากเพิ่มช่องทางการนำเสนอแล้วยังต้องปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้ทันสมัย สอดคล้องกับยุคปัจจุบันให้มากยิ่งขึ้น

โดยอาจารย์วารสารศาสตร์รายนี้ แนะนำว่า การผลิตเนื้อหาของนิตยสารออนไลน์ในยุคนี้ควรผลิตให้เป็นรูปแบบของวาไรตี้แมกกาซีน และมีเนื้อหาที่กระชับน่าสนใจ ส่วนใหญ่จะผลิตออกมาในรูปแบบของ Know How และ How to คือเรื่องที่ผู้อ่านยังไม่ทราบ และบทความแนะนำวิธีการในการทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ