แฉ!! กลยุทธ์แก๊งแฮกเฟซบุ๊ก วิธีการหลอกลวง 3 ตลบ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ผู้สื่อข่าวนิวมีเดียพีพีทีวีได้รับแจ้งจากผู้เสียหายที่ถูกแก๊งมิจฉาชีพแฮกบัญชีเฟซบุ๊กหลอกลวงให้คนรู้จักโอนเงินเข้าบัญชีบุคคลที่สาม โดยหนึ่งในผู้เสียหาย เล่าว่า แก๊งนี้ทำงานเป็นขบวนการหลังพบว่าเจ้าของบัญชีที่ผู้เสียหายโอนเงินเข้าไป ก็ถูกหลอกเช่นเดียวกัน จากการสมัครงานหาได้รายเสริมผ่านเว็บไซต์

วันนี้ (5 พ.ย. 60) ผู้สื่อข่าวนิวมีเดียพีพีทีวี รายงานว่า ได้รับข้อมูลจากประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อแก๊งมิจฉาชีพที่แฮกบัญชีเฟซบุ๊กของญาติและส่งข้อความผ่านกล่องข้อความเพื่อขอยืมเงินโดยการหลอกให้โอนเงินเข้าบัญชีบุคคลที่สาม การก่อเหตุลักษณะนี้ทำให้ทั้งเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊ก และญาติที่โอนเงินต่างได้รับความเสียหาย โดยนายเอนก เทียนสุวรรณ ผู้เสียหายชาวชลบุรี เล่าย้อนถึงพฤติการณ์ของมิจฉาชีพแก๊งนี้ให้กับทีมนิวมีเดียพีพีทีวีฟังว่า บัญชีเฟซบุ๊กของน้าส่งข้อความผ่านกล่องข้อความมาหาตนประมาณบ่าย 3โมง เพื่อขอยืมเงินพร้อมบอกว่าจะโอนคืนประมาณ 5 โมงเย็น ด้วยความสนิทสนมและเป็นญาติพี่น้องตนจึงโอนเงินเข้าบัญชีบุคคลที่สามตามที่มิจฉาชีพบอก


นายเอนก เล่าว่า เมื่อรู้ตัวว่าโดนหลอกจึงให้น้าโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเพื่อแจ้งเตือนเพื่อนพี่น้องว่าหากมีการส่งข้อความไปขอยืมเงินห้ามโอนให้เพราะมีมิจฉาชีพกำลังแฮกเฟซบุ๊ก ก่อนจะนำชื่อและนามสกุลที่ปรากฎอยู่ตามเลขบัญชีธนาคารที่ตนโอนเงินเข้าไป ใช้ในการติดตามหาตัวเจ้าของบัญชี โดยได้รับความร่วมมือจากกลุ่มเพื่อนและเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนพบเจ้าของบัญชีซึ่งเป็นหญิงสาว จึงมีการพูดคุยกันถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยหญิงสาวเจ้าของบัญชี อ้างว่าตนเองไม่ทราบว่าเงินดังกล่าวที่โอนเข้ามาในบัญชีเป็นเงินที่หลอกลวงมา เพราะก่อนหน้านี้เธอเข้าไปสมัครงานออนไลน์ และคิดว่าเป็นเงินบริสุทธิ์ที่ได้มาจากการทำงาน โดยผู้รับสมัครงานบอกว่าจะมีเงินจากลูกค้าโอนเข้าบัญชี โดยเจ้าของบัญชีมีหน้าที่แค่กดเงินออกมา จากนั้นนำเงินไปซื้อวอลเลทในร้านสะดวกซื้อและโอนเข้าเบอร์มือถือ โดยแบ่งค่าคอมมิชชั่นให้เจ้าของบัญชีประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์

หลังจากการพูดคุย นายเอนก ยังไม่ปักใจเชื่อจึงทดลองสมัครงานตามข้อมูลที่หญิงสาวเจ้าของบัญชีได้กล่าวอ้าง ปรากฎว่ามีการรับสมัครงานจริง และใช้ขั้นตอนการสมัครงานเหมือนกับที่หญิงสาวบอก ซึ่งนายเอนก ยอมรับว่าการติดตามตัวผู้กระทำความผิดด้วยตนเองค่อนข้างยาก เนื่องจากสิ่งที่ได้มีเพียงเบอร์โทรศัพท์เท่านั้น อีกทั้งแก๊งนี้ยังมีการทำงานเป็นขบวนการ เพราะนอกจากตนแล้วยังมีหลายคนถูกหลอกให้โอนเงิน ขณะเดียวกันกลุ่มบุคคลที่ถูกหลอกให้เปิดบัญชีก็มีหลายคนเช่นกัน หลังจากนี้ต้องพึ่งพาเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบหาข้อเท็จจริงต่อไป พร้อมยอมรับว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของตนเองด้วยที่ไม่ตรวจสอบให้ละเอียดเสียก่อน และอยากฝากเตือนไปถึงประชาชนทุกคนหากมีข้อความขอยืมเงิน ควรโทรศัพท์ไปตรวจสอบกับเจ้าของเฟซบุ๊กก่อนโอนเงิน

จากนั้นทีมข่าวนิวมีเดียพีพีทีวี ติดต่อไปที่ นางสาวสุธัตศรี น้อมระวี เจ้าของบัญชีที่นายเอนกโอนเงินให้ ซึ่งมีสถานะเป็นผู้ต้องหาในคดีฉ้อโกง เธอยืนยันกับทีมข่าวว่า ไม่รู้ว่าเงินดังกล่าวที่โอนเข้ามาเป็นเงินผิดกฎหมายที่หลอกลวงมาจากชาวบ้านโดยคิดว่าเป็นเงินถูกกฎหมายที่มาจากการขายสินค้าซึ่งตนเองทำหน้าที่เป็นตัวแทนรับเงิน โดยสาวเจ้าของบัญชีรายนี้ อ้างว่า ปกติตนมีอาชีพขายของออนไลน์จึงอยู่ในกลุ่มเฟซบุ๊กของกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า จากนั้นมีผู้ชายคนหนึ่งทักตนมาผ่านช่องแชทโดยบอกว่ามีงานมาให้ทำ ตนอยากมีรายได้เสริมจึงตอบตกลงไป และได้ถ่ายเลขบัญชีธนาคารพร้อมบัตรประชาชนส่งให้ไป ซึ่งผู้รับสมัครบอกว่าจะมีรายได้ประมาณ 500-1,000 บาทต่อวัน พร้อมบอกว่า จะมีลูกค้าโอนเงินเข้ามาและให้ตนไปกดเงินออกมา นำไปซื้อวอลเลทจากร้านสะดวกซื้อชื่อดัง และโอนเงินเข้าเบอร์มือถือของมิจฉาชีพ ส่วนตนจะได้เงินค่าคอมมิชชั่นประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่ทราบเลยว่าเงินดังกล่าวมาจากการแฮกเฟซบุ๊กและหลอกลวงประชาชน

โดยนางสาวสุธัตศรี มั่นใจว่า สาเหตุที่ทำให้เธอตกเป็นผู้ต้องหามาจากชายเจ้าของเฟซบุ๊กที่ทักเธอมาในวันนั้นอย่างแน่นอน เพราะก่อนหน้านี้ที่ขายของออนไลน์ตามปกติก็ไม่เคยมีปัญหา แต่หลังจากทำงานร่วมกับชายปริศนาคนดังกล่าวไม่นานก็มีหมายเรียกมาที่บ้านมากกว่า 1 หมายเรียกและนอกจากเธอแล้วยังมีคนอื่นที่เข้าร่วมงานและโดนหมายเรียกเช่นเดียวกัน เธอจึงอยากฝากเตือนคนที่สนใจสมัครงานออนไลน์ให้ตรวจสอบให้มั่นใจว่าไม่ใช่งานผิดกฎหมาย และไม่ควรส่งสำเนาบัญชีธนาคารและสำเนาบัตรประชาชนให้บุคคลอื่น


ด้าน ว่าที่ พ.ต.ท. พันธุ์ล้าน ปฐมพรวิวัฒน์ สารวัตรกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. ระบุว่าการโจรกรรมข้อมูลบนเฟซบุ๊กที่ได้รับการแจ้งความในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา จากสถิติที่ประชาชนเข้ามาแจ้งความกับตำรวจ ปอท. พบว่า มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากปอท. ได้จัดให้มีการอบรมให้ความรู้กับตำรวจท้องถิ่น ก่อนจัดอบรมประชาชนต่อไป โดยหากวัดจากสถิติในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาของปี 2560 มีจำนวนลดลงกว่าปีที่ผ่านมามาก แต่ข้อมูลนี้ยังไม่รวมกับข้อมูลที่ประชาชนเข้าแจ้งความกับสถานีตำรวจในท้องที่ แต่เชื่อว่าคดีดังกล่าวมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะประชาชนมีความเข้าใจและมีความระมัดระวังตัวไม่ให้ตกเป็นเหยื่อเพิ่มมากขึ้น

โดยการโจรกรรมข้อมูลและหลอกยืมเงินบนเฟซบุ๊กที่ผ่านมาแต่ละคดีจะมีค่าเสียหายโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 10,000 ถึงกว่า 100,000 บาท แล้วแต่กรณี ซึ่งการที่มิจฉาชีพจะโจรกรรมหรือสวมรอยบนเฟซบุ๊กนั้นจะเข้ามาลงชื่อเข้าใช้เป็นชื่อของเจ้าของเฟซบุ๊กคนนั้น ๆ และดูประวัติการสนทนาระหว่างเจ้าของเฟซบุ๊กกับบุคคลอื่นๆ ที่เป็นเพื่อน พี่น้อง หรือญาติ จากนั้นจะสังเกตว่าบุคคลที่จะทักไปขอยืมเงินนั้นมีฐานะมากน้อยเพียงใด และมูลค่าการหลอกยืมเงินจะขึ้นอยู่กับฐานะของผู้ถูกยืมด้วย


สำหรับการแฮกเฟซบุ๊กของกลุ่มมิจฉาชีพ ส่วนใหญ่เกิดจากเจ้าของบัญชีตั้งรหัสผ่านที่ง่ายต่อการคาดเดา เช่น เบอร์โทรศัพท์มือถือ หรือข้อมูลส่วนตัวที่ปรากฎบนเฟซบุ๊ก หากคนร้ายทราบข้อมูลเหล่านั้นก็จะสามารถเข้าแฮกเฟซบุ๊กได้โดยง่าย อีกวิธีหนึ่งคือการสร้างเว็บไซต์ปลอมหน้าตาคล้ายเว็บไซต์เฟซบุ๊ก ซึ่งก็มีการให้กรอกรหัสและชื่อบัญชี เมื่อกรอกข้อมูลคนร้ายก็จะเก็บข้อมูลและเข้าแฮกได้

ทั้งนี้บทลงโทษของผู้กระทำความผิดแบ่งเป็นสองกรณีซึ่งเชื่อมโยงกันคือความผิดเรื่องการแฮกเฟซบุ๊ก ปละความผิดเรื่องฉ้อโกง สำหรับการแฮกเฟซบุ๊ก มีความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มาตรา5 การเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา7 การเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากมีการแก้ไขรหัสผ่าน จะมีความผิดตาม  ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนการฉ้อโกง หลอกลวงยืมเงิน จะมีความผิด มาตรา14 อนุ1 โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่ การกระทำผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดฐานฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

โดย สารวัตรกองกำกับการ 1 กองบังคับการ ปอท. กล่าวว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดำเนินการอย่างเต็มที่ในการสืบสวนหาตัวกลุ่มมิจฉาชีพและสามารถจับกุมดำเนินคดีได้แล้วบางส่วน และอยากแนะนำประชาชนถึงวิธีการป้องกันไม่ให้โดนแฮกเฟซบุ๊กโดยง่ายนั้น ซึ่งการตั้งรหัสผ่านมีส่วนสำคัญอย่างมาก ไม่ควรตั้งรหัสผ่านที่ง่ายต่อการคาดเดา ไม่ควรเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวเป็นสาธารณะ เช่น เบอร์โทรศัพท์ อีเมล์ เป็นต้น ไม่ควรรับคนแปลกหน้าเป็นเพื่อนเพราะเขาอาจจะเข้ามาเพื่อเก็บข้อมูล รวมไปถึงหากได้รับข้อความขอยืมเงิน ควรตรวจสอบให้ดีก่อนโอนเงิน เช่น ตรวจสอบชื่อบัญชี หรือโทรไปถามเจ้าของเฟซบุ๊กโดยตรง

ส่วนกรณีของเจ้าของบัญชีที่อ้างว่าถูกหลอกเป็นเหยื่อเช่นเดียวกันจากการเข้าสมัครงาน เรื่องนี้ ว่าที่ พ.ต.ท.พันธุ์ล้าน ระบุว่า จะเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะสอบสวนตามขั้นตอนกระบวนการ หากพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย พร้อมฝากเตือนกลุ่มวัยรุ่นหรือกลุ่มคนที่สนใจสมัครงานออนไลน์ ให้ระมัดระวังมากขึ้น โดยไม่ควรส่งสำเนาบัญชีธนาคาร และสำเนาบัตรประชาชน ให้ใครโดยง่าย หากจำเป็นต้องให้เพื่อการสมัครงาน ควรแน่ใจว่าบริษัทนั้นๆ มีความน่าเชื่อถือ และบุคคลที่รับสมัครงานมีตัวตนอยู่จริงและสามารถตามหาตัวได้ และที่สำคัญไม่ควรมอบบัตรเอทีเอ็มให้อยู่ในการดูแลของบุคคลอื่น

ทวีชัย จันทะวงค์ : ภาพ
อวิรุทธ์ อินแสง : ข่าว
บุญญานันท์ คำโพธิ์ทอง : วิดีโอ คอนเทนต์

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ