เรื่องเล่าประทับใจ “คนเบื้องหลัง” ผลักดัน  “ตูน บอดี้สแลม” สู่ก้าวที่เป็นจริง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ภารกิจการวิ่ง 55 วันของชายที่ชื่อว่า “อาทิวราห์ คงมาลัย” หรือ “ตูน บอดี้สแลม” สำเร็จตามเป้าหมายทั้งการวิ่งจากใต้สุดของประเทศ อ.เบตง จ.ยะลา มาพิชิจเหนือสุดแดนสยาม ที่อ.แม่สาย จ.เชียงราย พร้อมโกยยอดบริจาคทะลุเป้าหมาย เพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ วันนี้ทีมข่าวพีพีทีวี พาไปย้อนความทรงตลอด 55 วันที่ผ่านมา กับคนเบื้องหลังของ “พี่ตูน” ที่เขาได้เอ่ยบนเส้นทางแห่งชัยชนะว่า “พวกเขาเป็นคนที่ทำให้โครงการนี้สำเร็จตัวจริง”  

“ในวันที่เข้าเส้นชัยพี่ตูนยังบอกเราอยู่เลยว่า ถ้าไม่ใช่ว่ามีเป้าหมายของ 11 โรงพยาบาล เขาอาจจะเลิกวิ่งไปตั้งแต่ 200 กิโลเมตรแล้วก็ได้ เป้าหมายนั้นมันยิ่งใหญ่ แล้วคนระหว่างทางนั้นสำคัญ อย่างที่พี่ตูนชอบพูดคือ เขาอาจจะมารอเจอผมแล้วก็อาจจะได้เจอผมครั้งเดียวในชีวิต พี่ตูนทำให้เรื่องราวระหว่างทางสำคัญกับทุกคน” หมอเมย์ หนึ่งในคนเบื้องหลังของ ตูน ย้อนเล่าให้เราฟังหลังจากภารกิจสำเร็จอย่างเดียวแต่เขาให้ความสำคัญกับเรื่องราวระหว่างทางด้วย

“พญ.สมิตดา สังขละโพธิ์” แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ผู้ดูแล “ตูน บอดี้สแลม” หรือ “หมอเมย์” เล่าถึงภารกิจ 55 วันที่ผ่านมาว่า เมื่อเราย้อนกลับมามองเมื่อผ่านไป 800 กิโลเมตรแรก เป็น 800 กิโลเมตรที่ยากลำบากของ “พี่ตูน” และทีมงาน เพราะว่า มีอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นทั้ง “พี่ตูน” “พี่ป็อก” และ”พี่เอส” ทั้งหมดมีอาการบาดเจ็บเกิดขึ้นในช่วงนั้น และการที่เราเริ่มต้นได้ช้าตั้งแต่ยะลา ทำให้ทีมงานเริ่มเครียดว่าจะไปถึงกรุงเทพฯ ได้ทันครึ่งทางหรือไม่ จนตอนนั้นมีกระแสเข้ามาว่า ไปช้าหน่อยก็ได้ แต่ตัวของ “พี่ตูน” เองนั้นมีความตั้งมั่นในโจทย์ของเขา เขาอยากไปถึงตรงนั้นตามโจทย์ของเขา ต้องยอมรับว่าเขาเก่งมากจริงๆ หลายๆระยะทางในหลายวันที่ทีมแพทย์กังวลว่าเขาจะสามารถวิ่งได้ไหมในระยะทางแบบนี้ จะพาทีมอีก 2 คนที่มีอาการบาดเจ็บอยู่บ้าง จะไปถึงตามเป้าหมายหรือไม่ ..ช่วงที่ยากที่สุดคือ ราชบุรี เข้ามาสู่กรุงเทพฯ ที่ต้องวิ่งระยะทาง 70 กิโลเมตร กับ 74 กิโลเมตร 2 วันติดต่อกัน เนื่องจากต้องการเข้ากรุงเทพฯ ภายในวันที่ 3 ธ.ค. ที่มีการเตรียมคิวการมอบไว้หมดแล้ว

“การออกวิ่งแต่ละครั้งเขาคิดถึงคนอื่นเสมอ พี่ตูนไม่ต้องการไปรบกวนการจราจร เพราะวันที่ 4 ธ.ค. คือวันจันทร์ ให้รถติด การจราจรติดขัด แล้วในกรุงเทพฯ มีประชาชนอยากมาวิ่งด้วยจำนวนมาก จากที่วิ่งแค่สองแถวเป็นคู่ ไม่กินพื้นผิวการจราจร มีเพียงรถซัพพอร์ต แต่ที่กรุงเทพควบคุมยากมากทุกคนอยากมาวิ่ง อยากมาบริจาค และไม่ใช่แค่ริมถนน บนตึกก็มีส่องไฟว่ามาคอยให้กำลังใจอยู่ และได้ยินเสียงตะโกนมาให้กำลังใจตลอดการวิ่ง ช่วงนี้นับเป็นช่วงเวลาการวิ่งที่นานที่สุด ”

ระยะทางไม่ได้ส่งผลต่ออาการบาดเจ็บ..แต่การเจอผู้คนสองข้างทางทำเป็นความสุขให้เขาไปต่อ !?!?!  

สาเหตุที่ในช่วงเริ่มต้นการวิ่งมีอาการบาดเจ็บเกิดขึ้นนั้น “หมอเมย์” อธิบายว่า ระยะการวิ่งอาจจะเป็นปัญหาสำหรับพวกเขา แต่ “การวิ่งแล้วหยุดเพื่อทักทายประชาชน” ที่ทีมงานไม่ได้เตรียมตัวมาสำหรับตรงนี้ที่เป็นปัญหามากกว่า เราซ้อมแบบวิ่งไปเรื่อยๆ แต่ไม่ได้ซ้อมแบบวิ่งหยุดๆ ทุก 50 เมตร ปีก่อนที่ไปบางสะพานมีแต่ไม่ได้เยอะขนาดนี้ อาการบาดเจ็บอาจจะเกิดจากเหตุนี้ วิ่งหยุดๆ เหมือนใช้ผ้าเบรกเยอะ ทำให้กล้ามเนื้อหน้าแข้งอักเสบ ก็เลยเป็นอาการหน้าแข้งอักเสบ กันทุกคนในระยะทางก่อนถึง 800 กิโลเมตรแรก หากเราจะห้ามไม่ให้เข้ามาเซลฟี่ มาถ่ายรูปก็ได้ แต่ “พี่ตูน” ไม่ได้อยากให้ทำแบบนั้น เพราะเรามาเพื่อต้องการพบเจอคนที่อยากมาหาเขา
 

“จริงๆ พี่ตูนจะมีระดับความเร็วของการวิ่ง ถ้าเซตไหนที่เขาจะให้เวลาผู้คนเขาก็จะให้เวลามากหน่อย อย่างเซตไหนที่เขาจะทำเวลา เวลาไม่มี อย่างเช่นจะเข้ากรุงเทพฯ พี่ตูนก็จะใช้วิธีการวิ่งแบบแตะมือ เงินไม่เก็บ ให้ข้างหลังช่วยเก็บแทน เพราะไม่งั้นแถวมันจะไปไม่ได้ พี่ตูนจะเป็นคนเลือกเองว่าเขาจะวิ่งในความเร็วระดับไหน เขาจะเลือกตัดสินใจเองในแต่ละสถานการณ์ พี่ตูนเตรียมใจมาเจอกับตรงนี้อยู่แล้วแม้ว่าเขาต้องเจ็บ ทั้งทีมเชื่อว่ามันคือความสุขของเขา มันคือแรงผลักดันให้เขาไปต่อ”

เมื่อพี่ตูนถามว่า อยากไปวิ่งด้วยกันไหม ?

สำหรับการวิ่งในปีนี้พี่ตูนถาม “อิทธิพล สมุทรทอง” หรือ ““พี่ป็อก”  นักวิ่งข้างกาย “ตูน บอดี้สแลม” ว่า อยากไปด้วยไหม เราก็บอกอยากไป เพราะเป็นเราสายวิ่ง มีวัตถุประสงค์คือ 1.ระดมทุน 2.ให้กำลังใจแพทย์พยาบาล 3.กระตุ้นเตือนให้คนมาออกกำลังกาย และ 4. จะไปถึงแม่สายโดยเป็นคนไทยคนแรก เขาก็ถามเราว่าอยากวิ่งตลอดเส้นทางไหม เราก็บอกว่า อยาก เขาก็เลยบอกว่า “งั้นเราไปด้วยกัน” แต่หลักๆปีก่อนผมทำทุกอย่าง ให้น้ำ ให้เจล อะไรก็ตามที่แพทย์สั่ง ในขณะที่เราซ้อมเราก็วางแผนเนื่องจากเส้นทางไกลขึ้น คนเยอะขึ้นจำเป็นต้องมีการแบ่งหน้าที่ที่ชัดเจน จึงมีรถตู้ให้น้ำ เปิดทุก 2 กิโลเมตร จึงกลายเป็นระบบมากขึ้น แตกต่างจากการวิ่งที่บางสะพาน


อะไรคือ “ระบบบริการพี่ตูน” ???????

“พี่ป็อก”
ย้อนเล่าว่า ตลอดการวิ่งจะมีช่วงที่ประชาชนแน่นมากตลอดทาง หากเราใช้ความเร็วเท่าเดิมจะถึงที่หมายตอน 5 ทุ่มนะ เราก็ให้ข้อมูลเขาไป ส่วนการ “ตัดสินใจ” เป็นหน้าที่ของพี่ตูน ก็กลายเป็นพี่ตูนวิ่งยาวโดยที่ไม่ได้รับเงินบริจาค แล้วให้ทีมเป็นคนเก็บเงินบริจาคแทน เราก็จะมีทีมที่มาจากส่วนต่างๆ รวมถึงดารานักแสดง มาช่วยเก็บเงิน  และในขณะการวิ่งเรามี “ระบบบริการพี่ตูน” คือ หากเป็นเงินผมจะรับ หากเป็นจดหมายต่างๆ หรือ พระ พี่ตูนจะส่งต่อไปให้พี่เอส ถ้าอะไรให้พี่ก้อย จะส่งต่อไปให้พี่ซัน ถ้าช่วงเช้าพี่ก้อยยังไม่มาจะเป็นผมช่วยดูแลพี่ตูน แต่เมื่อพี่ก้อยมาวิ่งข้างพี่ตูน ผมจะหลบลงมา ของแต่ละอย่างก็จะขึ้นรถบ้านไป

ส่วนจดหมายบางฉบับพี่ตูนไม่เห็นผมก็นำไปอ่านแล้วไปให้กล้องที่ไลฟ์สดดู ล่าสุดมีจดหมายฉบับหนึ่งเขียนว่า “หนูเป็นพยาบาลอยู่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง  หนูเป็นคนชอบบ่น ที่ผ่านมาหนูก็อยากจะบ่นเรื่องราวมากมายในโรงพยาบาล แต่เมื่อเห็นโครงการนี้ต่อแต่นี้ไปหนูจะไม่บ่นแล้ว หนูจะตั้งใจทำงาน” รวมทั้งจดหมายจากเด็กๆ คนสูงอายุ ที่เขียนถึงพี่ตูน ทั้งหมดที่ได้จากตรงนี้ทั้งหมดเราจะนำไปทำ “นิทรรศการ”  ต่อไป

 

“ตูน อาทิวราห์ ชายผู้เซอร์วิส เด็กและคนชรา”


มีคำๆหนึ่งที่ “พี่ป็อก” บอกเล่าว่า ได้ฟังเป็นร้อยๆครั้ง เมื่อเจอเด็กๆ พี่ตูนจะแตะหัว ทุกคนที่แตะได้ไม่ใช่แตะอย่างผ่านเลย พร้อมบอกว่า “ตั้งใจเรียน เป็นเด็กดีของพ่อแม่นะ ตั้งใจเรียนนะ” เมื่อรับเงินก็จะบอกว่า “เอาเงินนี่ไปช่วยคนนะ” มันจะมีกระปุกออมสินใหม่ๆ กับกระปุกออมสินเก่าๆที่ถูกเก็บมานาน ผมวิ่งมาก่อนก็ถามเด็กว่า ไม่เสียดายเหรอ เก็บมาตั้งปีครึ่ง แต่ถามเด็กรู้ไหมเอาเงินไปทำอะไร น้องตอบว่า ให้พี่ตูนไปช่วยโรงพยาบาล ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการเพาะเมล็ดพันธุ์ที่ดีงาม

“บางคนก็นำมาจากเบี้ยยังชีพคนชรามาให้ บางทีเราวิ่งอยู่แล้วพี่ตูนหันออกไปแสดงว่าเขาเห็นคนสูงอายุมารอ บางทีเรายังสายตาไม่ไวเท่าเขาเลย แป๊บเดียววิ่งไปหาคนสูงอายุแล้ว บางคนมารอ 3 ชั่วโมง เพื่อมารอพี่ตูน 10-20 วินาที”


 บุคคลนิรนามในเส้นทาง เบตง-เชียงราย ?

ที่ผ่านมามีหลายคนที่นำเงินมาใส่ถุงแล้วไปเลย ไม่แม้แต่จะจับมือ ถ่ายรูป เพียงแค่นำเงินมาให้.. เหตุการณ์นี้ “พี่ป็อก” ย้อนเล่าว่า เหตุเกิดที่สุพรรณบุรี มีรถคันนึงมาจอดข้างหน้า แล้วลงจากรถมามีคนถือแบงค์พันปึกใหญ่ คาดว่าจะนับได้เป็นล้าน พอลงบอกพี่ตูนว่า พี่ตูนฝากด้วยครับ” แล้วก็จะไป ไม่มีการขวางขบวน ไม่มีการรั้ง จนพี่ตูนบอกว่า มาๆมาถ่ายรูปกัน ใช้เวลาไม่เกิน 30วินาที โดยที่ไม่บอกชื่อ ไม่เอาหนังสือลดหย่อนภาษี ไม่เอาอะไรทั้งสิ้น เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ผมศรัทธาพวกเขามาก ตลอดทางจะมีหลายเหตุการณ์เกิดขึ้น ที่มายื่นให้ เช่นคุณป้าที่ศิริราชมารอยื่นเงินแสนให้พี่ตูน นี่คือความศรัทธาของผู้คน แล้วอย่างจังหวัดไหนที่ไม่ผ่านก็มีคนนำมาช่วยอย่าง “จตุรงค์ มกจ๊ก” ก็ระดมทุนจากสายตะวันตกมา แล้วนำมารอมอบให้แถว อ.งาว หรือ “เชษฐ์” สไมล์บัฟฟาโล่ ที่รวบรวมเงินมาบริจาคให้ แบบไม่มีพิธีรีตองอะไร ก็เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ประทับใจ จนเราเรียกโครงการนี้อีกชื่อหนึ่งว่า “โครงการสายบุญของประเทศ” มาส่งบุญต่อกันเพื่อเป็นกองบุญใหญ่ของประเทศ หรือแม้แต่ “เตียงผ่าตัด” อยู่ข้างถนน มูลค่ากว่า 3  ล้านบาทก็มีคนนำมาบริจาค แล้วบอกว่าจะให้ไปบริจาคที่ไหนจะไปติดตั้งให้ทั้งหมด เพียงแต่มาแจ้งให้เราทราบว่า ให้แบบนี้นะ แล้วก็ไป

 

รู้จัก “ถุงวิเศษ” เคียงข้างพี่ตูน !!!

หมอเมย์ บอกว่า ถ้าได้ถือถุงสีเขียว ถ้าได้ถือจะได้อยู่หน้าๆของขบวน หรือได้อยู่เคียงข้างพี่ตูน เมื่อได้ถือถุงนี้จะได้เห็นอิริยบทของเด็ก ผู้สูงอายุที่เข้ามาหาพี่ตูนแล้วพี่ตูนเป็นคนที่พูดเบา หากอยู่ห่างช่วงสองคนก็จะไม่ได้ยินแล้ว จะได้ยินก็ต่อเมื่อคือคนที่อยู่ใกล้ๆเขา  ในบางครั้งที่ได้สับเปลี่ยนไปช่วยถือบ้างก็จะได้ยิน บางครั้งก็จะได้ยินเสียงเบาๆระหว่างพี่ตูนกับคุณยาย คำอวยพรต่างๆ เป็นความประทับใจ รอยยิ้มความประทับใจ บรรยากาศตรงนั้นมันต้องเป็นคนถือถุง รอยยิ้ม เสียงขอบคุณ ความรู้สึกดีๆ บรรยากาศเหล่านี้จะมาเมื่อคนเหล่านั้นเห็นถุง และพี่ตูนก็เรียกถุงนี้เองว่า “ถุงวิเศษ”  เพราะตอนแรกๆดาราที่มาช่วยถือถุงก็ไม่อยากจะถือเพราะถือแล้วจะยิ่งวิ่งลำบาก แต่พี่ตูนบอกมันคือถุงวิเศษนะ เพราะใครถือจะได้อยู่ข้างเขา ได้ยินเสียงขอบคุณที่ชัดเจน

มีรอยยิ้ม และพร้อมที่จะเสียน้ำตาตลอดทาง ?

“พี่ป็อก” นักวิ่งเคียงข้าง “พี่ตูน” เล่าว่า พลังของประชาชนมีตลอดเส้นทาง บางคนมารอหลายชั่วโมงเพื่อมารอมอบเงินให้พี่ตูนแป๊บเดียว บางรายบอกว่า “ยายมารอสามวันแล้ว” เพราะว่าเราดีเลย์เนื่องจากอาการบาดเจ็บ คุณยายบางคนไม่ได้ดูหรอกไลฟ์เฟซบุ๊ก แต่ตื่นมาเผาข้าวหลามแล้วได้ยินเสียงว่ามาแล้วๆ หลังจากรอมาหลายวัน ก็ตื่นมาดักรออย่างเดียว บางทีวิ่งมาตีสี่ เจอพยาบาลจุตะเกียงไนจิงเกลเข้าแถวรอ ก็ทำให้เรามีรอยยิ้มและน้ำตาตลอดเส้นทาง



ขณะที่หมอเมย์ อธิบายย้อนไปถึงเหตุการณ์เหล่านั้นว่า บางทีเราเห็นสีหน้าเขาเราก็รู้ว่าเขาเหนื่อยนะ แต่เมื่อเราหันไปถามเขาว่า “โอเคไหม” เขาจะตอบว่า “โอเค”  นอกจากวันที่เขาไม่ไหวจริงๆ เขาก็จะบอกว่าไม่ไหวแล้ว เช่นวันที่เขาหยุดวิ่งกลางทาง เขาบอกว่าเขาหยุดตรงนี้เลยดีกว่า ถ้าเขาฝืนวิ่งไปอาจจะต้องหยุดวิ่งอีกหลายวัน ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจที่ถูก เพราะก่อนหน้านั้นเคยมีอาการบาดเจ็บอยู่แล้ว พี่ตูนเป็นคนอดทนมาก ในการวิ่งเขาจะวิ่งให้จบเซตเพราะเขารู้ว่าจะมีคนรอเขาอยู่ตรงปลายทาง ระหว่างเซตเยอะมาก เขาไม่อยากให้ใครพลาดการเจอเขา เขาจึงต้องไปถึงจุดเชคพอยท์ ฉะนั้นเมื่อเขาฝืนก็ยิ่งทำให้อาการบาดเจ็บนั้นเยอะขึ้น เราก็ต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูนานมากขึ้น วันที่หยุดไปกลางคันพี่ตูนก็ถามว่า วันนั้นมีใครรอแกอยู่บ้าง เขาเป็นห่วงความรู้สึกของคนที่มารอ

คิดไม่ตรงกับ “หมอเมย์” และ “พี่ตูน” !?!?!

..หมอเมย์ หัวเราะ แล้วเอ่ยว่า มันก็มีบ้างที่คิดไม่ตรงกัน มันก็ต้องเคลียร์ หมอเชื่อว่าเขาเป็นคนที่มีเหตุและผล เขาเป็นคนฉลาดมาก เขาจะมีเหตุผลบางอย่างที่บางทีเราอาจจะไม่ได้เข้าใจเขา พอเขาให้เหตุผลเราฟังแล้วเราต้องอ๋อเลย หลายๆครั้งที่เราได้เตือนเขาว่าบางอย่างมันเกินไปนะ อาจทำให้บาดเจ็บเยอะมากขึ้น  เขาก็ตอบว่าเขาจำเป็นต้องวิ่ง 74 กิโลเมตร เพื่อไม่ให้เกินเลยไปถึงวันจันทร์ เราฟังแล้วเราก็โอเค เข้าใจเลย เกือบทั้งหมดเป็นเหตุผลเพื่อคนอื่น หมอเองก็จะมีหน้าที่ทำการรักษาในส่วนที่เขาต้องการความช่วยเหลือจากเราให้เขาไปต่อได้  หมอก็อะ งั้นลองทำดูก็ได้ (หัวเราะ) และสุดท้ายมันก็ไปได้


 

ทีมทั้งหมดของก้าวคนละก้าวมีกี่คน.. !?!?!
ถ้ารวมทั้งหมดรวมทีมถ่ายทอดมีทั้งหมด 98 คน  แต่ทีมที่เซตมาเพื่อประกบการวิ่งมี 27 คน ไม่ใช่วิ่งทีเดียวต่อครั้งแต่ใช้วิธีหมุนเวียน ทุกๆ 4 วันจะมีแพทย์มาสลับเปลี่ยน วิ่งเช้าบ้าง เย็นบ้าง เพื่อที่จะอยู่ใกล้พี่ตูน และมีนักวิ่งฝีมือดีสลับสับเปลี่ยนมาตลอด การวิ่งครั้งนี้เป็นการวิ่งประครองกันไปเรื่อยๆ ตลอดทาง ผมถูกกำหนดให้วิ่งกับพี่ตูนตั้งแต่เบตง ไปจนถึงเชียงราย ในหน้างานผมจะเป็นคนประสาน รับเงิน ที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องถูกเหยียบเท้ากันบ่อยบ้าง ถูกชาร์ต จะมีพี่เอส มาช่วยในการดูหลังให้พี่ตูน แม้จะห้ามไม่ได้แต่คอยช่วยดู และช่วยดัน  อย่างคนเข้ามาแค่จับในขณะวิ่งก็เหมือนดึงแล้ว แม้ว่าเขาไม่ได้ตั้งใจกระชากก็ตาม จนทำให้พี่ตูนเจ็บแต่เขาไม่เคยหงุดหงิดเพราะเขาอยากมาทำเพื่อสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว



นอนกันวันละกี่ชั่วโมง ?
ส่วนใหญ่จะได้ตื่นกันประมาณตีสองครึ่ง  ที่ผ่านมาการได้นอน 3 ชั่วโมงเป็นเรื่องปกติมาก 4 ชั่วโมงถือเป็นกำไร แต่ 5 ชั่วโมงถือเป็นเรื่องที่ดีมาก ซึ่งมาทำได้ในระยะหลังๆ น้อยที่สุดคือได้พัก เพียงแค่ชั่วโมงครึ่ง และ “หมอเมย์” เคยบอกพี่ตูนว่า ในช่วงแรกๆพี่ตูนจะวิ่งจนค่อนข้างค่ำจนจบเซต กว่าจะได้นอน แล้วไปวิ่งตีห้า ซึ่งมันวิ่งได้ช้าเกินไป เลยกลายเป็นเริ่มต้นที่ตีสอง มันเหมือนมีพลังงานบางอย่างที่ทำให้ตื่นตัวตลอดเวลา หากจะอธิบายทางวิทยาศาสตร์ ปกติร่างกายคนเราจะต้องนอนเพื่อชาร์ทแบต แล้วโกรทฮอร์โมนต่างๆ จะหลั่งตอน 4 ทุ่ม – ตีสอง เท่านั้นถ้าเกิดนอนหลังจากตีสอง ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ทำอย่างไรก็ได้ให้นอนในช่วงนั้น แล้วหลังตีสองก็ตื่นได้แล้ว

นี่เพียงเป็นเรื่องเล่าบางส่วนจากบางเหตุการณ์ในความทรงจำตลอด 55 วันของ “หมอเมย์” และ “พี่ป็อก” นี่เป็นอีกสองฟันเฟืองเล็กๆ ของพี่ตูน ที่พร้อมขับเคลื่อนโครงการนี้ไปพร้อมกับอีกหลายๆคนในทีมงาน ที่ทำให้โครงการนี้สำเร็จได้ตามความฝันของ “ตูน บอดี้สแลม”

 

ชมคลิปเต็มๆ .. หมอประจำทีม “ก้าวคนละก้าว” เผย “พี่ตูน” นอนแค่ 1 ชม.ครึ่ง ก่อนวิ่งยาว 70 กม. เข้า กทม. หวั่นขบวนวิ่งทำรถติด

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ